กล่าวย้อนไปถึง Led Zeppelin เผื่อคนรุ่นใหม่หน่อย พวกเขาคือวงร๊อคที่ได้รับอิทธิพลจากแนวเพลงบลูส์ และกลายเป็นหนึ่งในวงที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลไปแล้ว พวกเขาประกอบด้วย Robert Plant (โรเบิร์ต ร้องนำ) Jimmy Page (จิมมี่ กีตาร์) John Paul Jones (จอห์น เบส คีย์บอร์ด) และ John Bonham (จอห์น กลอง) ที่ทั้งสี่คนถือเป็นเทพของสิ่งที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่จริงๆ แม้ผมจะไม่ใช่สาวกฮาร์ดคอร์ แต่ก็มีแผ่นของวงเก็บไว้หลายแผ่นเหมือนกัน แต่ละเพลงทำออกมาได้อย่างลงตัวคลาสสิกมากๆ แม้จะผ่านไปหลายสิบปี บทเพลงดังๆของพวกเขาก็ไม่เคยอ่อนแรงลงเลย ไม่ว่าจะเป็น Whole Lotta Love, Misty Mountain Hop, Kashmir, Rock and Roll, Immigrant Song และเพลงระดับคลาสสิกในใจหลายๆคนอย่าง Stairway to Heaven และเพลงโปรดที่ผมชอบเปิดดังๆในรถอย่าง Trampled Under Foot และ Achilles Last Stand กับเพลงช้าหวานๆอย่าง All My Love
เวลาพูดถึงเพลงฝั่งอังกฤษ หลายคนก็มักจะมองว่า ถ้าไม่มาจากเมืองแมนเชสเตอร์ อย่างสาย แมดเชสเตอร์หรือรุ่นหลังอย่างOasis ก็ต้องพวกลอนดอนอย่างหนุ่มๆ Blur (เป็นน้าแล้ว) หรือ Suede และศิลปินฮิปฮอปทั้งหลาย ไม่ก็ไปรากเหง้าอย่างลิเวอร์พูลที่มี The Beatles หรือรุ่นหลังอย่าง The Coral แต่พอมองไปทางอีสานของอังกฤษ กลับไม่ค่อยมีวงสร้างชื่อ ขนาดเมืองใหญ่ของอีสานอย่างนิวคาสเซิลก็ถือว่าเงียบ (อาจเป็นเพราะเป็นเมืองอุตสหากรรมซะมากกว่า เลยไม่โดดเด่น) แต่ในที่สุด ก็มีวงลูกหม้อนิวคาสเซิลที่สามารถสร้างชื่อในวงการอินดี้ได้เสียที พวกเขาคือ Maxïmo Park
Maxïmo Park เริ่มต้นโดยสมาชิกตั้งต้นฟอร์มวงกันคือ Duncan Lloyd (ดันแคน กีตาร์) Archie Tiku (อาร์ชี่ เบส) Lucas Wooller (ลูคัส คีย์บอร์ด) Tom English (ทอม กลอง) ฟอร์มวงกัน แล้วแฟนของทอมก็แนะนำให้ดึงตัว Paul Smith (พอล ร้องนำ) เข้ามาทำหน้าที่ร้องนำ และพวกเขาก็ดึงเอาพอลเข้าวงทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าเขาร้องเพลงได้รึเปล่า แต่เลือกเพราะเห็นความบ้าพลังในตัวเขา จึงกลายมาเป็นวง Maxïmo Park ที่ตั้งชื่อตามสวนสาธารณะในไมอามี่ ที่เป็นจุดรวมตัวของชาวคิวบาหัวคอมมิวนิสต์
ในอเมริกา การที่เพลงจากวงร๊อคจะติดอันดับหนึ่งชาร์ต Billboard Hot 100 นั้นเป็นเรื่องที่ยากเอาเรื่อง ยิ่งวงแนวนอกกระแสหลักยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก แต่วงดนตรีหน้าใหม่อย่าง fun. กลับพาผลงานของพวกเขาขึ้นไปยืนบนบนบัลลังก์อันดับหนึ่งได้อย่างสง่างาม สร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งให้กับวงการดนตรี และให้ความหวังว่า อย่างน้อยชาร์ตก็ไม่ได้ถูกปกครองด้วยศิลปินไร้สมองที่ทำเพลงด้วย Auto-tuneเป็นหลัก
fun. (ของแท้ต้องตัวเล็กหมดและมีจุด) เกิดขึ้นเมื่อ วงอินดี้ร๊อค The Format แยกตัวลงในปี 2008 Nate Reuss หัวหน้าวง (เนท ร้องนำ) จึงหันไปจับมือกับ Andrew Dost (แอนดริว สารพัดเครื่องดนตรี) จากวง Anathallo ซึ่งเคยออกทัวร์ร่วมกับ The Format ในฐานะนักดนตรีเสริม และ Jack Antonoff จากวง Steel Train ซึ่งทั้งสามคนต่างชื่นชอบในเพลงป๊อปแบบคลาสสิกเหมือนกัน จนร่วมกันตั้งเป็นวง fun. โดยมีฐานอยู่ที่ New Jerseyและพวกเขาออกเดโมแรก Benson Hedges ซึ่งได้เปิดให้โหลดฟรีใน Spin นิตยสารเพลงหัวก้าวหน้าของอเมริกา ก่อนที่จะไปดัง Steven McDonald อดีตโปรดิวเซอร์ของ the Format มาร่วมงานด้วย ซึ่งตัว Steven เองก็ตื่นเต้นที่จะได้ร่วมงานโปรเจ็คท์เพลงคลาสสิกป๊อปที่แหวกไปจากวงรุ่นราวคราวเดียวกันนี้
ในอเมริกา เทศกาลดนตรีที่คนทั้งหลายรอคอยคงเป็น Coachella Valley Music and Arts Festival แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ในสายตาผม อาจจะเรียกได้ว่าเป็น Glastonbury ของฝั่งลุงแซมก็ว่าได้ เพราะเท่าที่ติดตามข่าวมาหลายปี ศิลปินที่ขึ้นแสดงออกจะอยู่ในกลุ่มที่เรียกได้ว่า ไม่ตลาดจ๋า สามารถเรียกได้ว่า มักจะหาศิลปินที่น่าสนใจขึ้นเวทีเสมอ อย่างของปีนี้ ศิลปินที่ขึ้นเป็นศิลปินหลักในวันที่ 2 ก็เป็นศิลปินที่มาแรงอย่าง The Black Keys ที่ผมเสนอไปไม่นานมานี้ นอกจากนี้ การถ่ายทอดสดผ่านสตรีมทาง Youtube ทำให้แฟนเพลงที่อยู่อีกซีกโลกอย่างพวกเราสามารถชมการแสดงสดๆได้อย่างเพลิดเพลิน เทคโนโลยีกับโลกาภิวัตน์มันก็ดีแบบนี้ล่ะครับ
และตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มต้นเทศกาลในปี 1999 (เว้นปี 2000 ไปปีนึง) สิ่งหนึ่งที่เป็นที่สนใจในวงการเพลงเสมอคือ การปรากฎตัวของวงที่เคยแยกวงไปแล้ว หรือการรียูเนี่ยน แบบรวมกันเฉพาะกิจนั่นเอง ซึ่งแต่ละปี ก็จะมีเซอไพรซ์ให้เราได้ตื่นเต้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวการกันของตำนานร๊อคอย่าง Faith No More ในปี 2010 โคตรเหง้าพังค์อย่าง Iggy Pop and the Stooges ในปี 2003 หรือเจ้าพ่อแห่งกำแพงเสียงอย่าง My Bloody Valentine ในปี 2009 ซึ่งแต่ละครั้งคนดูก็ได้ฮือฮาเสมอ (ผมเสียดายที่ไม่สามารถรวมการกลับมาของ Death From Above 1979 เมื่อปีที่แล้วเข้าไปด้วยได้ เพราะแม้จะเล่นได้อย่างแซ่บเวอร์แค่ไหน พวกเขากลับมารวมตัวกันอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่แค่แสดงครั้งเดียวจบ)
และในปีนี้ การรียูเนี่ยนที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการเพลงมากที่สุดคือ การปรากฎตัวบนเวที ของแรปเปอร์ในตำนานผู้ล่วงลับอย่าง Tupac ระหว่างการแสดงของ Snoop Dogg และ Dr. Dre ที่จัดว่าเป็นไฮไลต์ของงาน และเซอไพรซ์ครั้งนี้ก็เล่นเบียดเอาข่าวอื่นที่เกี่ยวกับ Coachella ตกขอบไปเลยทีเดียว
แต่ก่อนอื่น สำหรับแฟนเพลงรุ่นใหม่ คงต้องขออธิบายก่อนว่า Tupac คือใคร Tupac หรือชื่อเต็มคือ Tupac Amaru Shakur คือแรปเปอร์ที่เกิดในนิวยอร์ก แต่ไปสร้างชื่อที่ฝั่งอีสต์โคสต์ทางแคลิฟอร์เนียแทน ซึ่งตลอดช่วงเวลาสั้นๆ6ปีในวงการเพลงของเขา เขาได้สร้างเพลงฮิตและผลงานมากมายที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินฮิพฮอพรุ่นหลัง และกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ของวงการเพลงฮิพฮอพไป โดยร่วมงานกับโปรดิวเซอร์มือทองอย่าง Dr. Dre และเพื่อนอย่าง Snoop Dogg และนอกจากวงการเพลงแล้ว เขายังแสดงภาพยนต์อีกด้วย
แต่ถึงแม้เขาจะมีเพลงที่โดดเด่นประดับวงการเพลงไว้มากแค่ไหน (ทุกวันนี้ผมก็ยังมันกับเพลง California Love ของเขาได้เสมอ) แต่เขาก็ร่วมสร้างวัฒนธรรมแกงสเตอร์ในวงการเพลงไว้อย่างที่เรียกว่าเปลี่ยนแปลงโลกของฮิพฮอพได้เลย ยุค 90 กลายเป็นยุคทองของเหล่าศิลปินฮิพฮอพที่เราแทบจะแยกไม่ออกว่าพวกเขาคือศิลปินหรืออันธพาลกันแน่
และ Tupac ก็เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างแรปเปอร์ฝั่งอีสต์โคสต์และเวสต์โคสต์ พวกเขาสร้างเอกลักษณ์การใช้ความรุนแรงอย่างชัดเจนและมีการปะทะกันอยู่เรื่อยๆ ไม่นับการโต้เถียงกันผ่านสื่ออีกนับไม่ถ้วน เรียกง่ายๆว่า ความดุเดือดในยุคนั้น เมื่อเอาศิลปินฮิพฮอพยุคนี้ไปเทียบ ศิลปินยุคนี้คงเป็นเหมือนแค่เด็กเกรียนเท่านั้นเอง
และในระหว่างการแสดงของ Dr. Dre และ Snoop Dogg ใน Coachella ปีนี้ เมื่อไฟมืดลง ร่างของ Tupac ก็ค่อยๆเลื่อนขึ้นมาบนเวทีท่ามกลางเสียงฮือฮาของแฟนเพลง เขาก็ทักทายทั้งเพื่อนและแฟนเพลง เล่นเอาเฮกันทั้งหมด ก่อนที่จะเริ่มแร๊พในเพลง Hail Mary และ Gansta Party ร่วมกับ Snoop Dogg อย่างเมามันราวกับมีชีวิตอยู่ ก่อนที่จะมีแสงวาบและหายตัวไปพร้อมกับแสงนั้น
แต่เพียงเท่านั้น ก็เป็นการแสดงที่เล่นเอาพาดหัวข่าวไปทั้งหมด ถึงขนาดที่ศิลปินคนอื่นอย่าง Patrick Carney จาก The Black Keys ยังแอบแซวว่า จอห์น ฟอกเกอร์ตี้ ที่มาร่วมแสดงน่ะ เป็นตัวจริงนะ ไม่ใช่โฮโลแกรม
จริงๆแล้ว งาน Coachella ปีนี้ มีการแสดงดีๆไม่น้อย และการรียูเนี่ยนของวงในตำนานอย่าง At The Drive-In ที่ออกงานเทพชุดเดียวแล้วแยกวง หรือ ตำนานของ Brit Pop อย่าง Pulp ก็น่าสนใจไม่น้อย แต่ทั้งหมด ก็โดนเทคโนโลยี ที่นำเอา Tupac กลับมาจากความตาย กลบข่าวซะเงียบหมดเลยครับ
The Maccabees เริ่มต้นด้วยการร่วมแจมกันของเพื่อนร่วมโรงเรียนในลอนดอนใต้ Orlando Weeks (ออแลนโด ร้องนำ) และ Robert Dylan Thomas (โรเบิร์ต กลอง) แม้พวกเขาจะแต่งเพลงกันบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นจริงเป็นจังนัก จนเมื่อได้ Hugo White (ฮิวโก กีตาร์) มาร่วมวง จึงค่อยเริ่มทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกัน และได้ตัว Felix White (เฟลิกซ์ กีตาร์) น้องของฮิวโกมาร่วมวงพร้อมกับ Rupert Jarvis (รูเพิร์ต เบส) จึงเป็นการเริ่มค้นงานอย่างจริงจัง
หลังจากการระเบิดของเทรนด์ Garage Revival และการดังเป็นพลุแตกของ the White Stripes ก็ได้มีวงหลายวงที่กลับไปหาความดิบกร้านของดนตรี และตั้งวงโดยไม่ได้สนใจว่าจะต้องเป็นกลองกีตาร์เบสแบบเดิม แต่กลับใช้เครื่องดนตรีเพียงสองชิ้น เช่นกีตาร์และกลอง หรือ เบสและกลอง โดยวงประเภทดังกล่าวที่คลานตาม The White Stripes มาก็เช่น Whirlwind Heat, Two Gallant, Death From Above 1979 และอีกวงที่พลาดไม่ได้คือ The Black Keys วงสองชิ้นที่กร้านด้วยกลิ่นบลูส์
The Black Keys คือการรวมตัวของสองเพื่อนจากวัยเด็ก Dan Auerbach (แดน กีตาร์ ร้องนำ) และ Patrick Carney (แพทริค กลอง) ทั้งสองโตมาจากละแวกบ้านเดียวในโอไฮโอ สหรัฐ ตั้งแต่เล็ก และเรียนที่โรงเรียนเดียวกัน แม้จะเป็นเพื่อนกัน แต่ทั้งสองคนกลับเป็นเหมือนคนล่ะขั้ว แดนเป็นกัปตันทีมบอลโรงเรียน ขณะที่แพทริคกลับเป็นเด็กเงียบๆสันโดษ ทั้งสองเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่ก็ลาออกทั้งคู่
Skirllex หรือชื่อจริงคือ Sonny John Moore (ซอนนี่) เติบโตขึ้นมาโดยย้ายไปย้ายมาระหว่างเมืองต่างๆในแคลิฟอร์เนีย งานเพลงแรกๆที่เขาได้เป็นเจ้าของคือ The Fat of The Land ของ The Prodigy และ Come to Daddy ของ Aphex Twins ซึ่งทั้งสองก็เป็นศิลปินเพลงเต้นรำที่โดดเด่นทั้งคู่ และเขาก็สนุกกับการฟังเพลงในคลับตั้งแต่ยังอายุน้อย
แต่ว่าเส้นทางดนตรีของเขากลับมีจุดเริ่มต้นที่แปลกมาก เพราะแทนที่จะเริ่มต้นกับเพลงเต้นรำตามความสนใจของเขา เขากลับไปขอร่วมวงเล่นกีตาร์ให้กับวง From First to Last วงร๊อคจากแคลิฟอร์เนียเช่นกัน ก่อนที่เขาจะถูกสลับให้ไป เป็นนักร้องนำแทน เขาอยู่กับวงตั้งแต่ปี 2004 ทั้งที่อายุแค่ 16 แต่ต่อมา เขาก็มีปัญหาทางด้านเส้นเสียง จนต้องถอนตัวจากทัวร์บ่อยๆ แม้เขาจะได้รับการผ่าตัดรักษาจนหาย แต่เขาก็ตัดสินใจลาออกจากวงอย่างเป็นทางการในปี 2007 เพื่อทำงานเดี่ยว
ในช่วงต่อยุค 90 สู่ยุค 00 เป็นช่วงเบ่งบานของดนตรีเต้นรำอย่างแท้จริง หลังจากการผุดขึ้นมาของวงอีเล็กโทรนิก้าผงาดไปทั่ววงการ ในขณะเดียวกัน Daft Punk ก็ได้จุดกระแสดนตรี French House ให้โด่งดังไปทั่ว จนทำให้ปารีสกลายเป็นเมืองสัญลักษณ์แห่งดนตรีที่เซ็กซี่ชวนบดขยี้กันอย่างเร่าร้อนด้วยเพลงที่นำเอาดิสโก้และฟังค์มาหยอดความชิคแบบฝรั่งเศส แต่ก็มีอยู่วงหนึ่งที่แหวกแนว สร้างสรรเพลงที่เรียบง่าย ฟังสบาย แต่ยังมีความเก๋แบบย้อนยุค พวกเขาคือ AIR
AIR คือวงของสองหนุ่มปารีเซียง Nicolas Goudin (นิโคลาส) และ Jean-Benoit Dunckel (ฌอน) ซึ่งทั้งสองคนก็เคยร่วมงานกันในวงชื่อ Orange ด้วยกันมาก่อน โดยสมาชิกคนอื่นในวงต่อมาก็กลายเป็นศิลปินมีชื่อเสียงกันอีกหลายราย ไม่ว่าจะเป็น Alex Gopher หรือ Etienne de Crecy แต่จากนั้น นิโคลาส ก็เริ่มทำงานเพลงคนเดียว อย่างเช่นงาน Modular Mix ได้ Etienne de Crecy มาโปรดิวซ์ให้ แต่ท้ายที่สุด เขาก็ร่วมงานกับ ฌอน และตั้งวง Air ในปี 1995
แม้ว่า ชื่อของวง Air จะฟังดีแล้ว เบาโหวง และ ละมุนละมัย แต่จริงๆแล้ว Air มาจากคำย่อของ Amour, Imagination, Reve หรือ Love, Imagination, Dream ในภาษาอังกฤษนั่นเอง
ตราแผ่นเสียง 4AD คือ ตราแผ่นเสียงที่ทำให้ผมต้องทึ่งตลอดมา ด้วยความที่พวกเขาเลือกออกผลงานเพลงที่เปี่ยมคุณภาพอยู่เสมอ จนกลายเป็นเหมือนเครื่องรับประกันคุณภาพมาตลอดเกือบ 20 ปีที่ผมรู้จักตราแผ่นเสียงนี้ และวงที่จะแนะนำในวันนี้ ก็เป็นอีกวงหนึ่งที่เป็นผลผลิตจากตราแผ่นเสียงสุดเท่แห่งนี้ พวกเขาคือ The Big Pink
The Big Pink ถือกำเนิดจากการร่วมงานกันของสองนักดนตรีหนุ่มจากลอนดอน คือ Robbie Furze (ร็อบบี้ ร้องนำ กีตาร์) อดีตมือกีตาร์ของ Panic DHH และ Alec Empire อดีตวง Atari Teenage Riot ส่วน Mike Cordell (ไมค์ โปรแกรมมิ่ง คีย์บอร์ด) ลูกชายของโปรดิวเซอร์อย่าง Denny Cordell เขาเป็นเจ้าของค่ายเพลง Merok Records ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกวิชาวงอย่าง Klaxons และ Crystal Castles และถนนสายดนตรีของทั้งสองคนก็ได้มาบรรจบกัน ในปี 2007 และตั้งชื่อวงว่า The Big Pink ซึ่งนำมาจากชื่ออัลบั้มของวง The Band
พวกเขาเริ่มทำเพลงด้วยกันและทดลองกับเสียงสารพัด และได้เพื่อนักดนตรีมาร่วมงานด้วย จนสามารถออกซิงเกิ้ลแรกที่ชื่อว่า Too Young To Love ผ่านตราแผ่นเสียง House Anxiety ในปีถัดมาแบบจำนวนจำกัดแค่ 500 แผ่นเท่านั้น แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะไปกระตุ้นความสนใจของบรรดาสื่อและค่ายเพลง เพราะความเท่ของมัน Too Young To Love เป็นเพลงที่เรียกได้ว่า โครมครามเอามากๆ นอกจากเสียงกีตาร์แบบนอยส์ที่อบอวลคละคุ้งไปทั่วทั้งเพลงจนทำให้เรานึกถึง My Bloody Valentine แล้ว จังหวะของเพลงยังเป็นเหมือนกับการย่อยสลายดนตรีอินดัสเทรียลมาก กลายเป็นงานเพลงที่โครมครามแต่กลับมีบรรยากาศหลอนอยู่ในที และจากความโดดเด่นนี้ ทำให้พวกเขาถูก 4AD ดึงเข้าไปร่วมงานทันที และต่อจากนั้นก็เป็นรางวัล Philip Hall Radar Award ปี 2009 ซึ่งทางนิตยสาร NME จะมอบให้กับวงหน้าใหม่ที่น่าสนใจที่สุดในแต่ละปี
วงการเพลงอินดี้อังกฤษในช่วงปีที่ผ่าน กระแสแนวเพลง Folk Revival กำลังเป็นที่นิยม โดยที่ศิลปินอย่าง Mumford and Sons หรือ Laura Marling ก็หยิบเอาเพลงโฟลค์แบบอังกฤษมาผสมผสานกับแนวดนตรีอื่นและสร้างเสียงใหม่ๆขึ้นมา และอีกคนหนึ่งที่ผสมผสานเพลงโฟลค์เข้ากับเพลงแนวอื่นได้อนย่างน่าสนใจคือหนุ่มน้อยศิลปินหน้าใหม่ไฟแรงแห่งเกาะอังกฤษ Ed Sheeran
และด้วยความสนใจในดนตรี ทำให้เขาเริ่มแต่งเพลงเอง และออก EP แรกตั้งแต่อายุแค่ 14 ชื่อ The Orange EP และตามด้วยอัลบั้มเต็มอีกสองอัลบั้มตั้งแต่อายุยังไม่ครบ 18 แต่ก็ด้วยความมุ่งมั่นในดนตรีของเขา ทำให้เขาตัดสินใจย้ายมาอยู่ลอนดอนและเล่นดนตรีตามที่ตัวเองต้องการแม้จะมีคนดูเพียงแค่ไม่กี่คนก็ตามที หลังจากนั้นเขาก็พยายามออก EP ซึ่งแนวเพลงของเขาก็เป็นการผสมเพลงโฟลค์กับเพลงฮิปฮอปและ Grime ที่เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นอังกฤษ (จะว่าคล้ายกับ Plan B ยุคแรกหน่อยๆก็ว่าได้) ทำให้เขาได้ไปออกทัวร์ร่วมกับศิลปินฮิปฮอปผิวขาวอย่าง Just Jack และด้วยความขยันโพสวิดีโอของเขา ทำให้ได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงของเอลตัน จอห์น และ ไปร่วมทัวร์กับศิลปินฮิปฮอปที่ดังกว่าเดิมอย่าง Example หลังจากไปผจญภัยในอเมริกา งานเพลงของเขาบน Youtube ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นบวกกับแรงเชียร์แบบปากต่อปากจากเซเล็บมั้งหลายเช่น ริโอ เฟอร์ดินานด์ ทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าเดิม และในช่วงนั้นเขาก็ได้ออก EP เพิ่มอีก ซึ่งถ้าได้ลองฟัง ก็จะได้สังผัสถึงแนวเพลงที่ผสมผสานเสียกีตาร์โปร่งเข้ากับจังหวะโจ๊ะๆสนุกๆเป็นอย่างดี บวกเขากับเสียงร้องที่บางครั้งก็นุ่มนวล บางครั้งก็เร่งเร้า จนกลายเป็นสเน่ห์ของตัวเขาไป