Monday, April 9, 2012

The Maccabees ก้าวผ่านงานชุดที่สาม

Technorati Tags: ,

ในวงการเพลง การทำอัลบั้มที่ 3 ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นอัลบั้มที่ทำยากที่สุด เพราะโดยมากแล้ว อัลบั้มแรก มักจะแสดงถึงความสดใหม่ งานชุดที่สอง คือการแสดงการเติบโตขึ้นมา แต่งานชุดที่สาม เป็นคำถามหนักมากว่าจะเอาอะไรมาขายคนฟัง ซึ่งหลายวงก็ล้มหายตายจากไปก่อนที่จะได้ออกงานชุดที่สามเสียด้วยซ้ำ หลายวงก็ประคองตัวมาได้ บางวงก็กลายเป็นเทพด้วยงานชุดที่สาม (ตัวอย่างเช่น Radiohead กับ OK Computer) โดยเฉพาะสำหรับวงอินดี้ที่มาง่ายไปง่าย การผ่านงานชุดที่สามได้ถือเป็นหลักชัยที่ดี และอีกวงหนึ่งที่ผ่านมันมาได้อย่างงดงามคือ The Maccabees

themaccabees

The Maccabees เริ่มต้นด้วยการร่วมแจมกันของเพื่อนร่วมโรงเรียนในลอนดอนใต้ Orlando Weeks (ออแลนโด ร้องนำ) และ Robert Dylan Thomas (โรเบิร์ต กลอง) แม้พวกเขาจะแต่งเพลงกันบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นจริงเป็นจังนัก จนเมื่อได้ Hugo White (ฮิวโก กีตาร์) มาร่วมวง จึงค่อยเริ่มทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกัน และได้ตัว Felix White (เฟลิกซ์ กีตาร์) น้องของฮิวโกมาร่วมวงพร้อมกับ Rupert Jarvis (รูเพิร์ต เบส) จึงเป็นการเริ่มค้นงานอย่างจริงจัง

พวกเขาตั้งชื่อวงว่า The Maccabees จากการเปิดหาคำแบบเดาสุ่มในไบเบิ้ล แม้สมาชิกวงจะไม่ได้เป็นพวกจริงจังกับศาสนานัก ต่อมา เมื่อออแลนโดย้ายไปไบรท์ตันเพื่อเรียนมหาวิทยาลัย ทางวงก็ย้ายตามไป แต่สุดท้ายเขาก็ลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อเอาจริงกับงานเพลงจนได้ พวกเขาเริ่มต้นด้วยการออกซิงเกิ้ลแรก X-Ray ในปี 2005 และด้วยการเชียร์จากสถานีวิทยุอย่าง XFM ที่ชอบเปิดเพลงแนวๆ ทำให้พวกเขาได้โอกาสไปร่วมเล่นเปิดให้ดับวงที่มาแรงสุดๆในตอนนั้นอย่าง Arctic Monkeys

เมื่อลองฟังดู ก็คงไม่แปลกใจอะไรที่สถานีแนวๆแบบนั้นจะอยากเชียร์พวกเขา เพราะ X-Ray คือเพลงที่มีส่วนผสมที่ลงตัวของดนตรีที่เป็นที่นิยมในตอนนั้น ทั้งจังหวะที่เร่งเร้า เสียงร้องประสาน และเสียงกีตาร์ที่ตอดมาเป็นระยะ แบบเดียวกับที่สร้างความสำเร็จให้กับ Bloc Party และ The Futureheads ที่โด่งดังในตอนนั้น (ซึ่งทั้งสองวงก็ได้รับอิทธิพลมาจากตำนานอย่าง Joy Division อีกที)

พอเริ่มดัง ค่ายอินดี้โคตรเด็ดอย่าง Fierce Panda ก็จับพวกเขามาออกซิงเกิ้ลที่สอง Latchmere ในปี 2006 ซึ่งก็ยังมาในแนวทางเดียวกันกับเสียงกีตาร์และจังหวะโจ๊ะๆ ก่อนที่พวกเขาจะได้สัญญาออกอัลบั้มกับค่าย Fiction Records ที่ใหญ่กว่าเดิม

macsns

พวกเขาออกอัลบั้มแรก Colour It In ในปี 2007 ซึ่งก็ดึงเอาสองซิงเกิ้ลแรกมาสร้างความโดดเด่นให้กับอัลบั้มด้วย และอย่างที่บอกไป งานเพลงของพวกเขาคือส่วนผสมของวงที่มาก่อนพวกเขา แม้จะไม่มีอะไรใหม่มากนัก แต่พวกเขาก็ทำเพลงออกมาได้ดี เหมาะสำหรับแฟนๆของวงที่กล่าวถึงมาแล้ว รวมไปถึงวงที่มักจะถูกนำไปเทียบกันเช่น Dog Dies in Hot Car การโปรดิวซ์ของ Stephen Street โปรดิวเซอร์มือดีทำให้ได้งานที่สามารถจับแนวที่ตลาดนิยมได้เป็นอย่างดี แต่ละเพลงดำเนินตามแนวทางที่พวกเขาถนัด กีตาร์ตอด เสียงประสาน จังหวะโจ๊ะ และสำเนียงแบบลอนดอน เพลงที่โดดเด่นไม่แพ้ซิงเกิ้ลคือ Precious Time แต่ว่าคุณก็สามารถฟังทั้งอัลบั้มได้เพลินๆเช่นกัน

น่าเสียดายที่ปีต่อมา พวกเขาต้องเสียโรเบิร์ตไปเพราะต้องรับการบำบัดการติดยา วงจึงดึงเอา Sam Doyle (แซม) มาแทน ก่อนที่จะเริ่มต้นทำผลงานเพลงชิ้นใหม่

และในปี 2009 พวกเขาก็กลับมากับ Wall of Arms งานเพลงชุดใหม่ที่เผยโฉมให้เห็นอีกด้านของพวกเขา จากงานเพลงที่เร่งเร้าสนุกสนาน พวกเขากลับทำงานที่ผ่อนคลายลงมา แต่ฟังแล้วอลังการกว่าเก่า และด้วยการที่โปรดิวเซอร์คือ Markus Dravs ที่โปรดิวซ์ให้กับ The Arcade Fire มาก่อน ทำให้พวกเขาถูกนำเอางานเพลงชุดนี้ไปเปรียบเทียบกับ The Arcade Fire ซึ่ง ถ้าหากลองฟังดู ก็คงไม่แปลกใจที่หลายคนจะคิดเช่นนั้น ตัวอย่างเช่นแทรค Can You Give In มีกลิ่นของ The Arcade Fire โชยมาให้เราได้สัมผัสเป็นระยะเลย ยิ่งเสียงร้องของออแลนโดทำให้เราอดนึกไปถึงวิน บัตเลอร์ไม่ได้จริงๆ แต่เมื่อฟังทั้งอัลบั้มแล้ว แม้ว่างานชุดนี้จะไม่ได้เป็นงานออริจินอล พวกเขาไม่ได้สร้างความแปลกใหม่ แต่เป็นการนำเอาแนวทางของผู้อื่นมาพัฒนาขึ้น แต่มันก็เป็นงานที่ยอดเยี่ยมมา และแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของพวกเขาได้เป็นอย่างดี Wall of Arms เป็นงานเพลงที่ทำให้พวกเขาได้รับคำชมและการยอมรับในวงการเพลงเป็นอย่างมาก และมันยังมีเพลงเด่นๆอย่าง Dinosaurs, Kiss And Resolve และ Young Lions และจากอัลบั้มนี้ ยังทำให้พวกเขาได้ร่วมทัวร์ NME Awards ในปี 2010 กับวงหน้าใหม่รุ่นเดียวกันอย่าง Bombay Bicycle Club, The Drums และ The Big Pink

tumblr_lwi90k8SXb1qch259

และเมื่อผ่านผลงานมาสองชิ้น ปัญหาหนักต่อไปคือ การทำงานเพลงชิ้นที่สามให้ได้ทั้งเงินทั้งกล่อง และต้องก้าวผ่านความคาดหวังจากงานชุดก่อน พวกเขาจึงเลือกใช้บริการของ Tim Goldsworthy แห่ง ผู้ก่อตั้ง DFA Records และ Mo’Wax มาโปรดิวซ์ให้

และกลายเป็นว่า งานชุดที่สามของพวกเขา Given to the Wild ที่ออกวางขายเมื่อต้นปีนี้ เป็นงานที่ประสบความสำเร็จแวดวงเพลงร๊อคเป็นอย่างมาก มันเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดขึ้นไปอีกขั้นของพวกเขาเลยจริงๆ ตั้งแต่เพลงอินโทรเพลงแรก Given to the Wild ก็ได้สร้างบรรยากาศที่ล่องลอยซ้อนทับกันของเลเยอร์ของเสียงได้เป็นอย่างดี ก่อนจะส่งต่อเข้าเพลงแรก Child ได้อย่างไร้ที่ติ และ Child เองก็โดดเด่นด้วยการเริ่มต้นอย่างเนิบๆคลอไปด้วยเสียงเครื่องเป่า ก่อนที่จังหวะจะเร่งเร้าขึ้นราวกับเพลงของชนเผ่าในแอฟริกา บวกกับเสียงกีตาร์ที่เล่นล้อไปกับเครื่องเป่า แค่สองเพลงแรกก็เล่นเอาเคลิ้มแล้วครับ ก่อนที่พื้นที่จะไม่พอ คงต้องขอบอกว่า อัลบั้มนี้คือการเติบโตของพวกเขาจริงๆ ซิงเกิ้ลแรกอย่าง Pelican อาจจะอินโทรขึ้นมาให้เราคิดว่าพวกเขาคงทำเพลงโจ๊ะๆเหมือนเดิม แต่กลายเป็นว่าแม้จังหวะจะเร่งเร็วขึ้น แต่พวกเขากลับลงรายละเอียด จนห่างจากเงาของพวกเขาเองไปไกลจริงๆ และจากยอดขายและคำชมของนักวิจารณ์ทั้งหลาย ทำให้เป็นที่ชัดเจนว่า พวกเขาสามารถผ่านโจทย์ที่แสนยากเข็ญนี้มาได้อย่างงดงาม

ดูจากพัฒนาการของ The Maccabees ที่ผ่านโจทย์ยากๆมาได้ แม้จะไม่ได้สร้างแนวเพลงที่เป็นออริจินอลของตัวเอง ทำให้ได้แต่สนใจว่า พวกเขาจะพัฒนาขึ้นอีกแค่ไหนกับงานชิ้นต่อไป

No comments: