Monday, June 25, 2012

Maxïmo Park เสียงอีสาน

Technorati Tags: ,

เวลาพูดถึงเพลงฝั่งอังกฤษ หลายคนก็มักจะมองว่า ถ้าไม่มาจากเมืองแมนเชสเตอร์ อย่างสาย แมดเชสเตอร์หรือรุ่นหลังอย่างOasis ก็ต้องพวกลอนดอนอย่างหนุ่มๆ Blur (เป็นน้าแล้ว) หรือ Suede และศิลปินฮิปฮอปทั้งหลาย ไม่ก็ไปรากเหง้าอย่างลิเวอร์พูลที่มี The Beatles หรือรุ่นหลังอย่าง The Coral แต่พอมองไปทางอีสานของอังกฤษ กลับไม่ค่อยมีวงสร้างชื่อ ขนาดเมืองใหญ่ของอีสานอย่างนิวคาสเซิลก็ถือว่าเงียบ (อาจเป็นเพราะเป็นเมืองอุตสหากรรมซะมากกว่า เลยไม่โดดเด่น) แต่ในที่สุด ก็มีวงลูกหม้อนิวคาสเซิลที่สามารถสร้างชื่อในวงการอินดี้ได้เสียที พวกเขาคือ Maxïmo Park

Maximo-Park-Photo-March-2012

Maxïmo Park เริ่มต้นโดยสมาชิกตั้งต้นฟอร์มวงกันคือ Duncan Lloyd (ดันแคน กีตาร์) Archie Tiku (อาร์ชี่ เบส) Lucas Wooller (ลูคัส คีย์บอร์ด) Tom English (ทอม กลอง) ฟอร์มวงกัน แล้วแฟนของทอมก็แนะนำให้ดึงตัว Paul Smith (พอล ร้องนำ) เข้ามาทำหน้าที่ร้องนำ และพวกเขาก็ดึงเอาพอลเข้าวงทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าเขาร้องเพลงได้รึเปล่า แต่เลือกเพราะเห็นความบ้าพลังในตัวเขา จึงกลายมาเป็นวง Maxïmo Park ที่ตั้งชื่อตามสวนสาธารณะในไมอามี่ ที่เป็นจุดรวมตัวของชาวคิวบาหัวคอมมิวนิสต์

พวกเขาเริ่มแต่งเพลงโดยได้รับแรงบันดาลใจจากวงโพสต์พังค์รุ่นเก๋าอย่าง Wire, XTC และ The Jam รวมไปถึงวงต้นตำหรับอินดี้รุ่นต่อมาอย่าง The Smiths อีกด้วย ซึ่งช่วงเดียวกับที่พวกเขาเริ่มตั้งวงก็มีวงที่ได้รับอิทธิพลจากยุคโพสต์พังค์เกิดขึ้นมาไม่น้อยเช่นกัน เช่น Bloc Party หรือ The Futureheads ที่เน้นการสับกีตาร์ที่รวดเร็วแบบพังค์ผสมเข้ากับจังหวะแบบโจ๊ะๆ และเป็นแนวเพลงที่กำลังเป็นที่นิยมหลังจากเทรนด์เพลงการาจแบบ The Libertines ได้รับความนิยมมาก่อนหน้า

ในปี 2004 พวกเขาออกผลงานเพลงด้วยตัวเอง นั่นคือ เพลง Graffiti และ Going Missing ก่อนที่จะตามด้วย The Coast Is Always Changing ที่ทำให้พวกเขาไปเข้าตาแมวมองของค่ายเพลงอย่าง Warp Records และจัดการเซ็นสัญญากับพวกเขาเพื่อเป็นศิลปินในค่ายทันที แม้ว่าปกติแล้วค่ายนี้จะโด่งดังจากการเป็นตราแผ่นเสียงเพลงเต้นรำที่พวกเขาบุกเบิกมานานกับศิลปินอย่าง Aphex Twins หรือ Sabres of Paradise

maximopark-clublife-london1

ในปี 2005 พวกเขาก็ได้ออกผลงานอัลบั้มเต็มชุดแรก A Certain Trigger ที่ได้พ่อมดวงการอินดี้อย่าง Paul Epworth มาโปรดิวซ์ให้ ซึ่งมันก็กลายเป็นงานที่ประสบความสำเร็จ สมกับที่ได้ชายที่มีสัมผัสทองคำมาโปรดิวซ์ให้ ซิงเกิ้ลก่อนหน้านี้ทั้งหมดถูกรวบรวมอยู่ในอัลบั้มชุดนี้ ซึ่พวกมันก็ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับตัวอัลบั้มเป็นอย่างดี ตั้งแต่ Grafitti ที่โดดเด่นด้วยเสียงกีตาร์ที่แตกพร่าไปตลอดทั้งเพลง ส่วน Going Missing ก็เป็นเพลงที่ฟังสบายกว่า ขณะที่ The Coast Is Always Changing ส่งกลิ่นของโพสต์พังค์รุ่นเก๋าอย่างชัดเจนด้วยจังหวะที่กระชั้นกับเสียงกีตาร์ที่ตอดมาเป็นจังหวะ ส่วนเพลงที่ผมคิดว่าเจ๋งที่สุดคืออีกหนึ่งซิงเกิ้ล Apply Some Pressure ที่จัดมาเต็มทั้งกลองทั้งกีตาร์อย่างเมามัน บวกเข้ากับท่อนคอรัสที่ทุกคนช่วยกันแหกปาก จนกระทั่งฟังทุกวันนี้ก็ยังมันอยู่เลย และด้วยการโปรดิวซ์ของ Paul Epworth ทำให้ทั้งอัลบั้มมีเสียงในแบบของเขาซึ่งดิบสดจนมันกลายเป็นงานที่โดดเด่นและทำยอดขายได้ดีในอังกฤษและรวมไปถึงประเทศอื่นจนสร้างชื่อให้กับวงจากแดนอีสานนิวคาสเซิลวงนี้เป็นอย่างดี

นอกจากตัวเพลงที่โดดเด่นแล้ว สิ่งที่ทำให้พวกเขาได้รับคำชมเป็นอย่างมากคือการแสดงสดที่เต็มไปด้วยพลัง โดยเฉพาะแกนนำของวงอย่าง Paul ที่ทั้งโดดทั้งเต้น แถมบ้างทีก็มีลูกเล่นเอาหนังสือมากางอ่านไปร้องเพลงไปกลางเวทีอีกด้วย

หลังจากงานชุดแรกและไปร่วมทำงานเพลงการกุศล ให้กับมูลนะ Warchild พวกเขาก็เริ่มเข้าห้องอัดทำงานเพลงชุดที่2 ซึ่งออกจำหน่ายในปี 2007 ซึ่งมีชื่อว่า Our Earthly Pleasures โดยพวกเขาได้ร่วมงานกับโปรดิวเซอร์คนใหม่คือ Gil Norton ที่เคยร่วมงานกับ James และ Pixies มาก่อน และงานชุดนี้ก็กลายเป็นงานที่คลีนกว่างานชุดที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด สองเพลงเปิดอัลบั้มอย่าง Girls Who Play Guitars และ Our Velocity ก็มาในแนวถนัดของพวกเขาโดยเฉพาะเพลงแรกที่เบสลื่นไหลตัดกับเสียงริฟฟ์กีตาร์ที่ดุดัน ส่วนเพลงที่สองซึ่งเป็นซิงเกิ้ลแรกก็ยังเร่งเร้าในแบบของพวกเขาและยังได้เสียงซินธ์มาช่วยให้มันโดเด่นเข้าไปอีก แต่น่าเสียดายที่การโปรดิวซ์ทำให้เพลงที่เหลือออกจะขาดเสน่ห์แบบของพวกเขาไปเพราะมันสะอาดเกินไป และเพลงก็ยังไม่ลงตัวเหมือนเคย (ลองฟังจาก The Unshockable ที่ออกมาอย่างสับสนก็ได้)

SONY DSC

เมื่อพลาดจากงานชุดเก่า อั้ลบั้มที่สามในปี 2009 ชื่อ Quicken The Heart พวกเขาก็ดึงเอา Nick Launay โปรดิวเซอร์แนวโพสต์พังค์ชื่อดังที่หลังๆมีผลงานกับ Yeah Yeah Yeahs มาร่วมงาน ทำให้งานชุดนี้กลับไปสู่เสียงที่ดิบกร้านแบบที่พวกเขาถนัด เพียงแต่มันยังขาดลูกทีเด็ดที่ให้ติดหูแบบงานชุดแรกอยู่ แต่โดรยรวมแล้วก็เป็นอัลบั้มที่ดีเอามากๆ หลายเพลงเด่นๆอย่าง Roller Disco Dreams ที่ร๊อคอย่างเมามัน Questing, Not Coasting ที่มากับท่อนเบสที่ลื่นไหล ขณะที่อีกซิงเกิ้ลอย่าง Kids Are Sick Again ก็ทำเพลงออกมาได้อลังการขึ้นแต่ก็ไม่ลืมความดิบในแบบที่พวกเขาถนัด แม้จะขาดไม้เด็ดไป แต่ก็เป็นงานที่ฟังได้เพลินไม่เบาครับ

หายไปสองปีกว่า ปีนี้พวกเขาก็กลับมากับงานใหม่ ชื่อ The National Health โดยกลับไปร่วมงานกลับ Gil Norton อีกครั้ง ซึ่งกับงานครั้งนี้พวกเขาเลือกที่จะถอยห่างจากความเป็นโพสต์พังค์ในยุคแรกของพวกเขา มาเข้าสู่ The Smiths มากขึ้น และเพิ่มความโดดเด่นของเสียงซินธ์ แม้จะเปิดอัลบั้มด้วยเพลงสั้นคลอเปียโน แต่พอ The National Health ดังขึ้น ความมันก็เริ่มต้นทันที ทั้งจังหวะที่รวดเร็วและเสียงคีย์บอร์ดที่โดดเด่นขึ้นมาอย่างชัดเจน ขณะที่ Write This Down ก็โดดเด่นและทำให้เรานึกถึง Pulp ขึ้นมาเลยทีเดียว ส่วน This Is What Becomes Of The Broken Hearted ก็เป็นเพลงร๊อคคลอเปียโนที่เหมาะกับการเล่นในสเตเดี้ยมมากๆ และยังมีเพลงนุ่มๆอย่าง Unfamiliar Places แต่ถ้าอยากได้บรรยากาศเก่าๆบ้าง ต้องไปฟัง Until The Earth Would Open และ Wave of Fear

The National Health คือการกลับมาอย่างงดงามของ Maxïmo Park ที่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมหลงรักพวกเขาเมื่อตอนเปิดตัว และทำให้วงจากแดนอีสานของอังกฤษวงนี้ยังมีที่ยืนอย่างสง่างามในวงการเพลงอังกฤษได้

No comments: