Sunday, July 25, 2010

The Gaslight Anthem: กรีดหัวใจมาใส่บทเพลง

Technorati Tags: ,

โดยส่วนตัวแล้ว เท่าที่ฟังดนตรีมาหลายแนว และมีวงที่ชื่นชอบหลายวง สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ผมชอบวงดนตรีใหม่ๆขึ้นมาได้ในแรกฟังคือ ความสดใหม่ ความทะเยอทะยาน ความกล้า และความทุ่มเท ของวงดนตรีนั้นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถ้าเป็นคนรักเสียงเพลง มันสัมผัสได้ง่ายไม่ต่างกับการอ่านหนังสือสักเล่มแล้ว ว่าคนแต่งนั้น ตั้งใจและทุ่มเทแค่ไหน เพลงของบางวงนั้นก็เหมือนกับเอาจิตวิญญาณของทั้งชีวิต อัดเข้าไปในเพลงๆเดียว แล้วหนึ่งในวงที่ผมคิดว่าพวกเขาทุ่มเทได้อย่างยอดเยี่ยมก็คือ The Gaslight AnthemTheGaslightAnthem_BY_Sabine_Ahrens_12

The Gaslight Anthem คือวงดนตรีสี่ชิ้นจาก New Jersey อเมริกา นำโดยหัวหอกของวงอย่าง Brian Fallon (ร้องนำ กีตาร์) Alex Rosamilia (อเล็กซ์ กีตาร์) Alex Levine (อเล็กซ์ เบส) และ Benny Horrowitz (เบ็นนี่ กลอง) ซึ่งพวกเขารวมตัวกันในปี 2005 และเริ่มทำเพลงโดยได้รับอิทธิพลจากดนตรีแนว Jersey Shore Sound จากศิลปินรุ่นพี่ (พ่อ) จากเมืองเดียวกันอย่าง Bruce Springsteen ในลักษณะของการทำเพลงชวนตะโกนแหกปากร้องตาม และผสมเข้ากับดนตรี Hardcore Punk ที่ได้รับอิทธิพลมาจาก Jawbreaker ไปจนถึง The Ramones, The Cure และ The Clash จนกลายมาเป็นซาวนด์เฉพาะตัวของพวกเขา

ปี 2007 พวกเขาออกอัลบั้มแรกที่ชื่อ Sink or Swim ที่สร้างชื่อเสียงในแวดวงเพลงร๊อคได้เป็นอย่างดี ด้วยเพลงเด่นๆสารพัดอย่าง Drive ซิงเกิ้ลแรกที่แสดงความเป็นตัวตนและเอกลักษณ์ของที่เต็มไปด้วยเสียงกีตาร์สวยๆ และเสียงร้องที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น อีกเพลงที่เด่นไม่แพ้กันคือ We Came To Dance ที่มีจังหวะที่เร้าใจ บวกกับเสียงกีตาร์ที่แสนเพราะไล่เรียงไปพร้อมกับมัน ส่วนเพลง I Coul'da Been A Contender ก็แสดงให้เห็นถึงการผสม Bruce Springsteen เข้ากับ Jawbreaker ที่ลงตัวแบบสุดๆ นอกจากนี้ยังมีเพลงช้าๆเพราะๆอย่าง The Navesink Banks ที่แสนงดงามอย่างเรียบง่ายอีกด้วย และอัลบั้มเปิดตัวนี้ แม้จะไม่ได้ทำยอดขายที่โดดเด่นอะไร แต่มันก็ทำให้พวกเขากลายเป็นดาวดวงใหม่ที่น่าจับตามองของวงการเพลงอเมริกาในทันที จนได้ไปร่วมทัวร์กับวงดังๆอย่าง Against Me! และ Rise Against และเมื่อพวกเขาออก EP คั่นเวลา ชื่อ Señor And The Queen ในปี 2008 พวกเขาก็ดังข้ามฟากไปฝั่งอังกฤษ โดยนิตยสารอย่าง Kerrang ถึงกับเอาพวกเขาขึ้นปกทันทีโดยไม่เคยเขียนถึงมาก่อนด้วยซ้ำ gaslight-anthem-1

ในปีเดียวกัน อัลบั้มที่ 2 ที่ชื่อ The ’59 Sound ก็ได้โอกาสออกมาเผยโฉมให้โลกได้รู้จัก ซึ่งเพลงเปิดตัวมันก็คือเพลง The ’59 Sound ตามชื่ออัลบั้ม และมันคือเพลงที่ยอดเยี่ยมอีกเพลงหนึ่งของปีนั้น มันคือเพลงที่ Brian แต่งขึ้นมาเพื่อเพื่อนของเขาที่เสียชีวิตในอุบัติเหตุ และในทุกๆคำที่เขาร้องออกมา คุณจะสัมผัสถึงความจริงใจ และความเศร้าของเขาที่มันแน่นจนต้องระบายออกมาเป็นเพลง มันคือบทเพลงที่ทำให้เรารู้สึกว่า Brian เอามีดกรีดไปที่กลางหัวใจของเขาเพื่อเอาเลือดมาเป็นหมึกเขียนเพลง หากใครไม่เคยผ่านประสบการณ์เช่นนั้น คงไม่อาจเข้าใจและแต่งเพลงแบบนี้ออกมาได้ The ’59 Sound คือความงดงามอย่างมหัศจรรย์ที่จุติบนความเศร้าสร้อยมิต่างไปจากมหาวิหารทัชมาฮาลเลยทีเดียว แค่จิตวิญญาณและความทุ่มเทที่พวกเขาใส่ลงไปในเพลงๆนี้เพลงเดียวก็มากกว่าที่หลายวงเคยทำมาตลอดชีวิตแล้ว

นอกจาก The ’59 Sound แล้ว ตัวอัลบั้มเองก็ยังเต็มไปด้วยเพลงพังค์ร๊อคเด่นๆหลายเพลงอย่าง High Lonesome ที่สุดแสนจะเท่ห์ชวนให้เราสวมเกือกบู๊ทท่องไปทั่วอเมริกา The Patient Ferris Wheel ที่ขวนแหกปากตาม หรือ Miles Davis & The Cool ที่เท่ห์สมกับชื่อเพลง และ The ’59 Sound ก็เป็นอัลบั้มที่ส่งให้พวกเขาดังไปทั่วสองฝั่งแอตแลนติคในทันทีgla_img01_hires

และหลังจากที่รอคอยมานาน พวกเขาก็กลับมากับผลงานชุดที่สามในปีนี้กับชื่อ American Slang ที่มีซิงเกิ้ลเบิกโรงชื่อเดียวกับวงคือ American Slang ที่ ออกจะช้าแต่อลังการกว่าเพลงเดิมๆหน่อย โดยเนื้อเพลงน่าจะกล่าวถึงศิลปินที่เขาชื่นชมอย่าง Joe Strummer และมันก็ยังเป็นเพลงที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้งานชุดที่แล้วเลย และเช่นกัน ตัวอัลบั้มเองก็เต็มไปด้วยเพลงเจ๋งๆอีกหลายเพลงอย่าง The Queen of Lower Chelsea ที่ส่งกลิ่นของ U2 ยุค Joshua Tree โขยออกมา Stay Lucky และ Boxer ที่มาในแบบ Jersey Shore Sound จ๋าๆ รวมไปถึง Orphans ที่เกี่ยวกับประสบการณ์เป็นลูกที่ถูกพ่อทอดทิ้งของ Brian เอง แม้ว่า American Slang จะไม่ได้ยอดเยี่ยมเท่ากับ The ’59 Sound แต่มันก็โดดเด่นไม่แพ้กัน และยังเป็นอัลบั้มที่โดดเด่นอีกอัลบั้มในปีนี้

จากเมืองที่เป็นรอง New York ตลอดกาล พวกเขาสามารถสร้างความโดดเด่นขึ้นมาครองหัวใจชาวอเมริกันได้ด้วยบทเพลงที่กลั่นออกมาจากหัวใจ บอกได้แค่เพียงว่า เส้นทางของ The Gaslight Anthem ยังอีกยาวครับ

Saturday, July 17, 2010

Jay Sean: ภารตะบุกตะวันตก

Technorati Tags: ,

หลังจากที่ชาติจากเอเชียทำผลงานได้ดีในฟุตบอลโลก แล้วชาวเอเชีย ทำได้ดีขนาดไหนในวงการเพลงระดับโลกล่ะครับ แม้เราจะมีศิลปินเกาหลีหลายคนที่พยายามไปเปิดตลาดในอเมริกาหรือยุโรป แต่ก็ยังมีชายเชื้อสายเอเชียอีกคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในตะวันตกครับ เขาคือ Jay Sean นั่นเอง

ถ้าบอกชื่อ Jay Sean เฉยๆ หลายคนคงจะบอกว่า มันเอเชียตรงไหนหว่า แต่จริงๆแล้ว ชื่อของเขาคือ Kamaljeet Singh Jhooti ชื่อแบบนี้ คงเดาได้นะครับว่าเป็นชาวอะไร เขาคือหนุ่มเชื้อสายอินเดียที่เกิดในครอบครัวผู้อพยพชาวปัญจาบในอังกฤษครับ และแม้จะเป็นชนกลุ่มน้อย เขาก็สนใจในดนตรีของตะวันตกมาตั้งแต่เด็กโดยได้ตั้งวงฮิปฮอปตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่เสียการเรียนอะไร เขาจบจากโรงเรียนมัธยมชื่อดังโดยได้เกรดดี ถึงขนาดได้เข้าเรียนในคณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยลอนดอน แต่สุดท้าย เขาก็เลือกทำในสิ่งที่เขารักจริงๆ ด้วยการลาออกจากมหาวิทยาลัยมาเผชิญความเสี่ยงกับชีวิตศิลปินที่เขายังไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย (ใจกล้ามากครับ ถ้าเป็นบ้านเรา แบ๊คกราวนด์ดีแบบนี้ เดี๋ยวก็ไปสมัครไม่เอฟเอ ก็ ดาร์ สะเตอะ แล้วไปเต้นด๊อกแด๊กๆ อาววว มันกลับมาหลอนอีกแล้ว ครั้งนี้ขนาดพณท่านยังมาช่วยเชียร์ด้วย)Jay Sean  Lil Wayne jay_sean7

หลังจากออกจากมหาวิทยาลัย เขาได้ไปเข้าสังกัดค่ายเพลง 2Point9 ในปี 2003 ซึ่งในช่วงนั้น ได้เป็นแหล่งรวมศิลปินเชื้อสายเอเชียไว้เยอะมาก โดยที่เขาก็หันมาเรียกตัวเองว่า Jay Sean จากชื่อเล่นตั้งแต่เด็กของเขา เปลี่ยนแนวเพลงจากฮิปฮอปมาเป็น R&B เนื่องจากเขารู้ดีว่าการเป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายอินเดียนั้นยากที่ประสบความสำเร็จกับแนวเพลงนี้ได้ และเขาก็ได้ออกผลงานชิ้นแรกในปลายปีนั้นเอง ด้วยการโปรดิวซ์ของไอ้หนุ่มภารตะอีกราย นั่นคือ Rishi Rich เช่นเดียวกับเพื่อที่มาร้องเสริมอย่าง Juggy Dในเพลง Dance With You ที่เต็มไปด้วยความเป็นภารตะตั้งแต่อินโทรขึ้นมาก แม้ว่าจังหวะของเพลงจะเป็นเพลง R&B แต่ว่าเสียงประกอบที่โชยกลิ่นโรตีมาแต่ไกล ทำให้มันเหมือนกับเพลงประกอบหนังบอลลีวู้ดที่ทันสมัยมากกว่าครับ แต่ก็แน่นอนว่า การผสมผสานกลิ่นตะวันออกเข้ากับดนตรีตะวันตกได้อย่างลงตัวแบบที่น่าจะเรียกได้ว่า Bhangra R&B ทำให้เขาเป็นที่สนใจของวงการเพลงในทันที

และนั่นทำให้ค่ายใหญ่อย่าง Virgin เซ็นสัญญาเขาเข้าค่ายเพลงทันที และเขาก็ได้ออกซิงเกิ้ลต่อมาในฐานะศิลปินเดี่ยวเต็มตัว นั่นคือ Eyes On You ที่ยังดำเนินตามแนวทางเดิม และมันก็เป็นเพลง Top 10 เพลงแรกของเขา และซิงเกิ้ลต่อมา เพลงช้าอย่าง Stolen ก็กลายเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ทำให้เขาเข้าระดับดาราทันที และอัลบั้มแรกของเขาก็ตามมาในปี 2004 นั่นคือ Me Against Myself ที่เป็นการผสมผสานที่ลงตัวของสองวัฒนธรรมจริงๆ นอกจากสามเพลงที่ว่ามาแล้ว ยังมีเพลงระดับเทพอย่าง On and On ที่โชว์น้ำเสียงชั้นเลิศ และเพลง One Night ที่เด่นด้วยเสียงเครื่องดนตรีอินเดีย แม้ตัวอัลบั้มจะขึ้นอันดับไม่ถึง Top 20 แต่มันก็เป็นความสำเร็จชั้นเลิศ และมันยังดังไปถึงอินเดีย และตลาดยุโรปตะวันออก และส่งให้เขาได้ไปโผล่ในหนังบอลลีวู้ด้วย ดาราเอเชียคนใหม่ได้จุติขึ้นแล้วjaysean-02-big

แต่เนื่องจากนโยบายของค่ายเพลง ทำให้เขาเลือกหันหลังให้ค่ายเพลง แล้วหันมาตั้งค่ายเพลงของตัวเองแทน และนั่นหมายถึงอิสระที่มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เขาเลือกตั้งชื่ออัลบั้มที่สองในปี 2008 ว่า My Own Way ซึ่งมันเป็นไปตามที่เขาต้องการทุกอย่าง เพลงเปิดตัวคือ Ride It ที่เป็นเพลงช้าแต่งามด้วยเสียงร้องไร้ที่ติดของเขา แต่เป็นซิงเกิ้ลที่สอง Maybe ที่ผมคิดว่ามันเป็นเพลง Urban R&B ที่สมบูรณ์แบบจริงๆถึงขนาดไปทาบงานของ Maxwell ได้เลยทีเดียว แม้สองเพลงที่ผ่านมา อิทธิพลอินเดียจะหายไป แต่ในอัลบั้ม ก็ยังคงมีกลิ่นเพลงอินเดียกระจัดกระจายไปเรื่อยแบบเสือไม่ทิ้งลายครับ และต้องไม่ลืมความยอดเยี่ยมของ Stay ซิงเกิ้ลสุดท้ายด้วย ใครต้องการเพลง R&B ที่เต็มไปด้วยความละเมียดละไมก็พลาดไม่ได้ โดยเฉพาะแฟนของ Ne-Yo ครับ

และเขายังไม่เลิกทะเยอทะยาน โดยเขาได้ไปเซ็นสัญญากับค่าย Cash Money ในอเมริกา ซึ่งกลายเป็นตลาดใหม่ที่เขาเข้าเจาะด้วยซิงเกิ้ล Down ที่เป็นเพลง R&B ที่แสนติดหูและได้ดาราใหญ่อย่าง Lil Wayne มาร่วมงาน ทำให้มันกลายเป็นเพลงที่ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายรวมไปถึงในประเทศไทยเราด้วยครับ และเขาก็ได้ทำการอัดเพลงใหม่ และเลือกเพลงเก่าจากอัลบั้มก่อน กลายมาเป็น My Own Way ในฉบับอเมริกาที่ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น All or Nothing โดยที่เพลงเด่นก็ถูกนำมารวมในอัลบั้มนี้ และเพิ่มเพลงใหม่ที่เด่นไม่แพ้กันอย่าง Do You Remember หรือ Love Like This (Eternity) เข้าไป กลายเป็นการเปิดตัวศิลปินหนุ่มเลือดภารตะคนนี้ในวงการเพลงอเมริกาได้อย่างงดงาม38811_2

เมื่อไปได้ไกลขนาดนั้นแล้ว สิ่งต่อไปที่รอเขาอยู่คือ การสร้างผลงานอัพเกรดขึ้นมาเป็น Superstar เต็มตัว และสร้างผลงานที่จะกลายเป็นงานคลาสสิคเท่านั้นล่ะครับ

Monday, July 12, 2010

The Automatic อีกหนึ่งสินค้าส่งออกจากเวลส์

Technorati Tags: ,

หลังจากที่เขียนถึงวงรุ่นใหมจากเวลส์ที่เด่นๆไปแล้วถึงสามวง (FFAF, Lostprophets และ BFMV) ผมคงจะเว้นวงอีกหนึ่งวงไม่ได้ แม้แนวเพลงจะต่างกันออกไปไม่น้อย แต่ว่า พวกเขาก็เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดไม่แพ้กันเลย วงที่ว่าคือ วง The Automatic จากคาร์ดิฟฟ์ ประเทศเวลส์นั่นเองครับ

The Automatic เกิดจากการรวมตัวกันของเพื่อนตั้งแต่ประถมสามคน ตั้งวงกันเมื่ออายุ 13 ปี โดยมีสมาชิกคือ Rob Hawkins (ร๊อบ ร้องนำ เบส) James Frost (เจมส์ เบส) และ Iwan Griffith (อีวาน กลอง) โดยห้าปีต่อมา พวกเขาได้สมาชิกอีกคนเพิ่มมาคือ Alex Pennie (อเล็กซ์ คีย์บอร์ด ซินธิไซเซอร์) ทีแรก พวกเชาเรียกตัวเองว่า White Rabbit ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น The Automatic และอัดเดโมที่มีเพลง Raoul และ Rats จนได้สัญญากับค่ายเพลงในปี 2005

พวกเขาเริ่มออกซิงเกิ้ลแรก Recover ในปีนั้นทันที มันคือเพลงร๊อคที่อาศัยจังหวะโจ๊ะๆ ไลน์เบสที่ใกล้เคียงกับเพลงเต้นรำ เสียงกีตาร์ที่คอยตอดเล็ดตอดน้อยตลอด เสียงสังเคราะห์ประกอบ การแหกปากตะโกนเต็มสูบของนักร้องนำ รวมไปถึงการตะโกนโหวกเหวกของคนร้องเสริมด้วย แม้มันจะไม่ได้ติดชาร์ต แต่ความเด่นของมันก็ทำให้พวกเขาได้รับเลือกเป็นวงที่น่าจับตามองในปี 2006 โดยนิตยสาร NME ทันที TheAutomaticNME4 พวกเขาไม่ทำให้คนที่เฝ้าจับตามองผิดหวังด้วยการออกซิงเกิ้ลที่สอง Raoul ตามออกมา โดยอาศัยรูปแบบการทำเพลงแบบเดิม เพียงแต่ว่าครั้งนี้อารมณ์เพลงจะหนักออกไปทางเพลงเต้นรำมากกว่าที่จะเน้นความเป็นร๊อคอย่างเดียว จนเรียกได้ว่า เป็นเพลงร๊อคที่สามารถเต้นตามได้อย่างสบายๆมากกว่า และในครั้งนี้ พวกเขาก็เริ่มเป็นที่รู้จักและเพลง Raoul ก็ได้ขึ้นชาร์ตหลายชาร์ตตามรายการเพลงต่างๆ

พวกเขาติดตามความสำเร็จด้วยการออกอัลบั้มเต็มชุดแรก Not Accepted Anywhere ในปี 2006 ซึ่งมันได้แรงหนุนอีกแรงจากซิงเกิ้ลที่สาม Monster ที่เป็นเพลงมันสะใจ ช่วยให้แหกปากตาม มันกลายเป็นเพลงฮิตที่สุดของพวกเขาโดยขึ้นชาร์ตถึงอันดับสี่ และยังถูกเอาไปแปลงเป็นเพลงเชียร์บอลยู่เสมอ โดยเปลี่ยนท่อนคอรัส Monster เป็นชื่อนักบอลจอมลุยทั้งหลาย ควมสำเร็จของเพลงนี้ทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นวงที่ดังแค่เพลงเดียว ทั้งๆที่ Raoul ก็เคยเข้าชาร์ต Top 40 มาก่อนแล้ว

ส่วนตัวอัลบั้มนั้น เป็นอัลบั้มที่เรียกได้ว่าเป็นกระป๋องอัดความสดใหม่สุดๆจริงๆ พวกเขาใส่ความสด ความห้าว ของวัยหนุ่มเข้าไปในอัลบั้มแบบเต็มๆ ทำให้ได้อัลบั้มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอดรีนาลีน แบบคนหนุ่มจริงๆ นอกจากทั้งสามซิงเกิ้ลแล้ว เพลงอย่าง Seriously Guys I Hate You หรือ You Shout You Shout You Shout ก็มันสะใจไม่แพ้กัน โดยมีทีเด็ดอยู่ที่ความมันชวนให้แหกปากร้องตามเหลือเกิน แต่เสียงแหกปากร้องตามของ Alex กลายเป็นที่ถกเถียงกัน เมื่อนักวิจารณ์ส่วนหนึ่งบอกว่าน่ารำคาญโดยไร้สาระ แต่นักวิจารณ์อีกส่วน (รวมทั้งผมด้วย) เห็นว่ามันทำให้พวกเขาแตกต่างจากวงอื่นๆ และเป็นการใช้เสียงร้องเสริมได้อย่างน่าสนใจมากๆTheAutomaticLEEDS3

Not Accepted Anywhere กลายเป็นความสำเร็จอย่างงดงาม แต่พวกเขาก็ถึงทางแยก เมื่อ Alex บอกว่าการอยู่ในวงไม่สนุกแล้ว และแนวเพลงของเขาก็ไม่ตรงกับสมาชิกคนอื่น เขาจึงลาออกจากวงโดยยอมทัวร์จนเสร็จกับวงก่อน แม้จะได้เริ่มงานอัดเพลงชุดใหม่ไปบ้างแล้ว ทางวงก็ได้สมาชิกใหม่เข้ามาเสริม นั่นคือ Paul Mullen (พอล กีตาร์ ซินธิไซเซอร์) จากวง Yourcodenameis:Milo ที่พักวงอยู่

และผลงานที่ร่วมกับ Paul ก็ออกมาเป็นอัลบั้มที่สองที่ชื่อ This Is A Fix ในปี 2008 โดยมีซิงเกิ้ลเปิดตัวคือเพลง Steve McQueen ที่ยังมันสะใจเหมือนเดิม แต่ว่าโทนของเพลงจะหนักไปทางเพลงร๊อคมากขึ้นกว่าเดิม และแทนที่เสียงของ Alex ด้วยเสียงประสานของทั้งวงแทน ทำให้เราได้รู้ว่า พวกเขาเปลี่ยนไปแล้ว นอกจานี้เพลงอย่าง This Is A Fix หรือ Secret Police ก็ทำให้มั่นใจได้ว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ พวกเขาหันไปหาอารมณ์ของเพลงร๊อคมากขึ้นกว่าเดิม แม้จะมีเพลงอย่าง In The Mountains หรือ Magazines ที่มีกลิ่นเดิมๆบ้าง ถึง This Is A Fix จะเป็นงานเพลงร๊อคที่ดี แต่น่าเสียดายที่มันก็ยังขาดเสน่ห์ที่เคยมีมาThe Automatic video shoot DIGITAL

และในปีนี้ พวกเขาก็กลับมากับงานชุดที่สาม Tear The Signs Down ในปีนี้ ที่เป็นเหมือนการผสมงานสองชุดแรกเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว โดยเปิดตัวด้วยซิงเกิ้ลแรก Interstate ที่เหมือนงานชุดที่สองแต่ใส่ลูกเล่นอย่างเสียงประสาน ลา ลา ล้า เข้าไปได้อย่างชวนติดหู รวมไปถึงซิงเกิ้ล Run And Hide ติดหูและโจ๊ะไม่แพ้กัน ส่วนเพลง List ก็เป็นเพลงร๊อคบนจังหวะดิสโก้ที่ชวนเต้นตามจริงๆ ส่วน Cannot Be Saved ก็เป็นเพลงร๊อคที่มันสะใจไม่แพ้วงหนักๆวงอื่นเลยทีเดียว เรียกได้ว่าพวกเขาประณีประนอมทิศทางทั้งสองของพวกเขาลงมาเป็นอัลบั้มนี้ได้อย่างดีจริงๆครับ

น่าทึ่งที่ประเทศเล็กๆอย่างเวลส์กลับมีวงดนตรีดีๆโผล่มาไม่น้อยจริงๆครับ นี่ยังไม่ได้เขียนถึงวงสุดฮาอย่าง Goldie Lookin’ Chains เลยนะครับ ฮ่าๆ

Monday, July 5, 2010

From Bloc Party to Kele ทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง

Technorati Tags: ,,

งานครั้งนี้ถ้าคนที่ติดตามผมมานานอาจจะเรียกว่าเป็นงานรีไซเคิ่ลก็ได้ครับ เพราะผมคงต้องอขไปหยิบงานเก่าที่เคยเขียนเกี่ยวกับ Bloc Party มาก่อนที่จะเขียนถึงงานเดี่ยวของ Kele นักร้องนำของวงครับ

Bloc Party ประกอบด้วย Kele Okereke (เคเล่ ร้องนำและกีตาร์) Russell Lissack (รัซเซล กีตาร์) Gordon Moakes (กอร์ดอน เบส) และ Matt Tong (แมท กลอง) พวกเขาเริ่มจากส่งงานเพลงเดโมไปเรื่อย จนไปเข้าตาดีเจชื่อดัง จนได้แรงหนุนจนกลายเป็นสัญญากับค่าย Wichita โดยเพลงที่ทำให้พวกเขาได้สัญญาคือเพลง She’s Hearing Voices ที่เป็นเพลงร๊อคที่สมารถเต้นไปตามได้ได้รับอิทธิพลจาก She’s Lost Control ของ Joy Division33442_3

พวกเขาก็ได้ออกอัลบั้มแรกที่ชื่อ Silent Alarm ออกมาในปี 2005 และกลายเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่คำชมและยอดขาย มันเป็นผลงานจากความพยายามของทางวง บวกกับการโปรดิวซ์ของPaul Epworth นอกจากสองซิงเกิ้ลก่อนหน้านี้แล้ว Silent Alarm ยังอัดแน่นไปด้วยเพลงเจ๋งๆอย่างเช่น Like Eating Glass ที่เนื้อเพลงชวนหดหู่กลับผสานกับเพลงเร็วได้อย่างน่าประหลาด Helicopter ที่เป็นเหมือนเพลงเต้นบอลรูมสำหรับเด็กแนว และ This Modern Love ที่แสนหวาน Silent Alarm ได้ส่งให้พวกเขากลายเป็นวงแถวหน้าของวงการอินดี้ และมันยังได้รางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปีของ NME หลังจากนั้นพวกเขายังออกซิงเกิ้ลที่ไม่ได้รวมอยู่ในอัลบั้มเวอร์ชั่นแรก นั่นคือ Two More Years ที่เพราะไม่แพ้กัน โดยเฉพาะท่อนคอรัสที่เหมือนทั้งวงช่วยกันกระซิบลงในไมค์อย่างละเมียดละไม

หลังจากซุ่มทำงานพวกเขาก็กลับมากับอัลบั้มที่2 ชื่อ A Weekend in the City ที่แม้มันจะยังเป็นอัลบั้มที่อัดแน่นไปด้วยเพลงเร็วๆมันเหมือนเดิม แต่โทนของเพลงกลับมืดหม่นกว่าเดิม ให้ความรู้สึกไม่ต่างจากปกอัลบั้มที่ทำให้คุณรู้สึกว่าแม้จะอยู่ในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยแสงสี แต่คุณก็โดดเดี่ยวอยู่ ซิงเกิ้ลแรกอย่าง The Prayer ก็มีการแทรกเสียงคนสวดมนต์อยู่ตลอด Where Is Home ก็เป็นเพลงที่ถามคำถามที่น่าเศร้าที่สุด แต่ I Still Remember ก็ทำให้เราเห็นความหวังอันสวยงามอยู่ แต่เพลงเด่นสุดในอัลบั้มคงเป็น Hunting for Witches ซิงเกิ้ลที่2 ที่ยอดเยี่ยมในแบบของพวกเขาจริงๆkele

หลังจากความสำเร็จในระดับน่าพอใจของอัลบั้มที่ 2 พวกเขาก็ได้ออกซิงเกิ้ลชิมลาง Flux ที่เรียกอย่างนั้นเพราะว่าKeleอยากลองขยายขอบข่ายแนวเพลงบ้าง แม้สมาชิกคนอื่นไม่เห็นด้วย แต่ Flux ก็ได้กลายเป็นเพลงอีเล็กโทรนิกส์ แดนซ์อย่างเต็มตัว และมันก็ได้รับการตอบรับจากแฟนเพลงเป็นอย่างดี แต่มันก็เป็นเหมือนรอยร้าวแรกของวง

และ Flux ก็ส่งอิทธิพลมาถึง อัลบั้มชุดที่สาม Intimacy ในปี 2008 ที่แม้พวกเขาจะบอกว่ามีความมืดหม่นของชุดที่สอง และความดิบของชุดแรก แต่สิ่งที่โดดเด่นมากคือ ซาวนด์อิเล็กโทรนิกส์ที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม ตั้งแต่ซิงเกิ้ลแรกอย่าง Mercury ที่โครมครามไปด้วยเสียงสังเคราะห์สารพัด เช่นเดียวกับเพลงอื่นในอัลบั้มที่แม้จะเป็นเพลงร๊อคก็มีการวางเรียบเรียงคล้ายเพลงเต้นรำมากกว่า เช่น One Month Off หรือ Zepherus แต่ก็ยังมีเพลงร๊อคในแบบที่พวกเขาถนัดอย่าง Trojan Horses หรือ Halo อยู่ ส่วนเพลงอย่าง Ion Square ก็ชวนให้เรานึกไปถึง เพลง Two More Years ได้ แต่สิ่งที่เกิดหลังจากนั้นคือ ควมเงียบที่น่ากลัว

Kele เริ่มหมดความสนใจที่มีต่อวงการเพลงอินดี้ เพาะเขารู้ทุกอย่างเกี่ยวกับมัน มันจึงไม่น่าตื่นเต้นอีกต่อไป แต่เขาหันไปให้ความสนใจกับดนตรีเต้นรำ เพราะมันมีความหลากหลายกว่ามาก และนั่นก็เป็นเหตุที่ทำให้เขาเริ่มอัดเพลงของตัวเองตั้งแต่ยังอยู่กับวง และเมื่อทัวร์จบลง Bloc Party ก็หยุดกิจกรรมทั้งหมด แต่ต่างคนก็ต่างไปทางใครทางมัน Kele จึงตัดสินใจออกงานเดี่ยวของเขา The Boxer ออกมาMy-Photos-Kele-1

และมันก็เป็นงานที่ทำให้แฟนต้องอ้าปากค้าง เนื่องจากเขาทิ้งกีตาร์ไปเพื่อทำเพลงเฮาส์ แม้จะมี Flux เป็นเสียงเตือน แต่พวกเขาก็คงคาดไม่ถึงว่าจะเป็นขนาดนี้ Tenderoni ซิงเกิ้ลแรกคือเพลงเฮาส์เต็มรูปแบบชั้นดี ที่แฟนคงต้องยอมให้อภัย เพลงเปิดอัลบั้ม Walk Tall ก็โครมครามด้วยบีตและเสียงสังเคราะห์ทั้งหลาย และมันก็กลายเป็นอัลบั้มเพลงเต้นรำไปแบบเต็มตัว หากจะมีเพลงที่มีกลิ่นของ Bloc Party อยู่บ้าง ก็คงจะเป็น Unholy Thoughts ที่ยังมีกลิ่นของเพลงร๊อคอยู่บ้าง

มันคงต้องอาศัยความกล้าอย่างมากที่จะทิ้งสิ่งที่สร้างความสำเร็จให้กับคุณ และหันไปหาสิ่งใหม่อย่างเต็มตัว และพร้อมจะรับคำวิจารณ์ทั้งหมด และ Kele เลือกเส้นทางเดินนั้น แม้เขาจะยอมรับว่าเขาคิดถึงเพื่อนร่วมวง แต่เขาก็ต้องการทำผลงานเพลงของตัวเอง ต้องคอยดูกันต่อไปว่า เส้นทางของเขาและ Bloc Party จะเป็นอย่างไรต่อไป