Saturday, October 11, 2008

Asian Dub Foundation: รากแห่งวัฒนธรรมเอเชีย

Technorati Tags: ,

ในยุคที่โลกกำลังแปรเปลี่ยนไปสู่แนวระนาบตามความรวดเร็วของการติดต่อสื่อสาร ขอบเขตของดินแดนทางกายภาพของแต่ละประเทศกำลังลดความสำคัญลงเรื่อยๆ และวัฒนธรรมต่างๆก็ได้เริ่มผสมผสานกันหรือถูกกลืนกิน ทำให้ชนชายขอบต้องแสดงความเป็นตัวตน และ “ราก” ของตนเองออกให้ชัดเจนผ่านหลากหลายหนทาง ซึ่งดนตรีก็เป็นหนึ่งในนั้น และวงที่ใช้รากวัฒนธรรมของตนเองเข้ามาผสมกับดนตรีสมัยใหม่ได้อย่างเหนือชั้นคือ Asian Dub FoundationADF

ADF เกิดขึ้นจากรายการสารคดีที่ถ่ายทำเกี่ยวกับการสอนดนตรีสมัยให ม่ให้กับเด็กเชื้อสายอินเดียในประเทศอังกฤษในปี 1993 ซึ่งต่อมา อาจารย์ประจำโครงการ มือเบส และตับลา (Tabla) อนิรุธ ดาซ จับมือกับ แรปเปอร์หนุ่มวัยทีนจากเบงกอล Deeder Zaman และนักเคลื่อนไหวทางสังคม จอห์น บัณฑิต ตั้งวงดนตรีขึ้นมาและเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น Dr. Das, Master D และ Pandit G (บัณฑิต G) ตามลำดับ โดยเรียกพวกตนเองว่า Asian Dub Foundation

เพื่อเพิ่มความหลากหลายของดนตรี พวกเขาได้ดึงเอา Chandrasonic (จันทราโซนิค) มือกีตาร์ที่ใช้เทคนิคการเล่นให้เสียงออกมาเหมือนซิตาร์ของอินเดีย พวกเขาเริ่มสร้างงานดนตรีโดยได้แรงบันดาลใจจากแผ่นเสียงอินเดียเก่าๆของพ่อแม่ การเล่นเบสแบบตับลา ดนตรีแรกก้า (Ragga) จังเกิ้ล (Jungle) บวกเข้ากับเนื้อหาที่เป็นพังค์ที่วิจารณ์สังคมอย่างเฉียบคมที่พรั่งพรูออกมาในสไตล์ฮิปฮอปอันรวดเร็วปานสายฟ้า และเมื่อบวก Sun-J เข้ามาเป็นดีเจ พวกเขาก็พร้อมออกรบแล้ว

ช่วงเวลาที่พวกเขาเริ่มผลิตผลงานเพลงออกมา คือช่วงที่เริ่มมีกระแสต่อต้านชาวเอเชียในอังกฤษที่รุนแรงขึ้นจากการสร้างกระแสของกลุ่มคลั่งชาติ ทำให้แรงปฏิกิริยาจากฝ่ายชาวเอเชียกลายเป็นแรงผลักดันให้กระแสดนตรีเอเชียพุ่งแรงขึ้นมาในตอนนั้น AsianDubFoundation

พวกเขาเริ่มออกผลงานในระดับอินดี้ในช่วงแรก แต่ไม่ได้รับการเหลียวมองมากนัก แต่เมื่ออัลบั้มที่สาม Rafi’s Revenge วางขายในปี 1998 นอกจากความยอดเยี่ยมของดนตรีที่แหวกแนวออกมาตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ความมันสะใจในการเล่นสดที่ไม่มียั้ง กับแรงหนุนจากศิลปินรุ่นพี่อย่าง Primal Scream ทำให้พวกเขาได้รับความนิยมขึ้นมา บทเพลงต่างในอัลบั้มคือการระเบิดของพลังความกราดเกรี้ยวของวัยรุ่นที่พวกเขาแสดงมันผ่านดนตรีร่วมสมัยที่ผสมกับดนตรีรากวัฒนธรรมของพวกเขา โดยมีเนื้อหาที่เข้มข้นเกี่ยวกับการเรียกร้องความเป็นธรรมและปัญหาสังคม รวมไปถึงนโยบายการเมืองระหว่างประเทศอีกด้วย เพลง Free Satpal Ram คือการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวเอเชียที่ได้รับการพิพากษาที่ไม่เป็นธรรมบนจังหวะที่เร้าใจจนน่าเอามาเป็นเพลงประกอบ James Bond ฉบับ Ballywood ส่วน Charge ก็ให้ความรู้สึกของการตกลงไปกลางสนามรบ Black White ก็เฉียบคมไม่แพ้กัน พวกเขาได้สร้างดนตรีในแบบของเขาซึ่งได้ตอบแทนพวกเขาด้วย ที่ยืน ในวงการดนตรีอย่างงดงามในฐานะตัวแทนชาวเอเชียในเมืองผู้ดี แฟนเพลงของพวกเขาไม่ได้มีแค่นักฟังเพลง แต่ยังรวมไปถึงผู้ติดตามกิจกรรมเพื่อสังคมของพวกเขาอีกด้วย

อัลบั้มถัดมา Community Music (2000) ด้วยภาคดนตรีที่แน่นขึ้นไปอีก บวกกับเนื้อหาเพลงที่ยังคงสะใจเหมือนเดิมอย่าง Real Great Britain หรือRebel Warrior ที่แสนเข้มข้น หรือเพลงติดหูอย่าง New Way New Life ทำให้พวกเขากลายเป็นวงดังคับเกาะอังกฤษจนข้ามไปดังถึงฝั่งอเมริกาและญี่ปุ่นได้อีก นอกจากนี้แล้ว พวกเขายังจัดตั้ง ADF Education เป็นองกรเอกชนเพื่อสอนดนตรีให้กับวัยรุ่นในลอนดอนอีกด้วย ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนสมาชิกวงอยู่บ่อยๆ แต่ผลงานที่ออกมาก็ไม่ได้เสียคุณภาพเลย โดยยังมี Pandit-G ทำหน้าที่หัวหอกสร้างสรรค์ดนตรี และทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ asian_dub_sat_1_470x350

พวกเขาออกผลงาน Enemy of the Enemy ในปี 2003 และกลายเป็นงานที่ขายดีที่สุดของพวกเขา Fortress Europe คือเพลงประท้วงที่ดุเดือดเหมือนปืนกลที่ยิงใส่นโยบายคนอพยพของยุโรป และ 1000 Mirrors คือเพลงDub หนักที่ได้ Sinead O’Connor มาร้องเกี่ยวกับสตรีที่ถูกจำคุกตลอดชีวิตเพราะฆ่าผัวที่ทุบตีเธอ นอกไปจากนี้ งานในช่วงหลังอย่าง Son of a Bush หรือ Oil ก็วิจารณ์ ประเทศอเมริกาและนโยบายสงครามเพื่อการค้าได้อย่างเจ็บแสบ ทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางดนตรีที่ไม่เคยเหนื่อยกับการพัฒนาสังคมเลย จน Pandit –G ได้รับเครื่องราชฯชั้น MBE แต่เขาไม่รับเพราะว่าไม่คิดว่าการให้รางวัลเขาคนเดียวจะช่วยสังคมได้

ถ้าเทียบกับบ้านเราที่เห็นศิลปินหลายๆรายอยากจะเป็นต่างชาติกันเหลือเกินด้วยการแสดงออกทางการแต่งตัว และดนตรีที่ไปเอาของเขามาใส่เนื้อหาไทยที่เบาหวิว วนเวียนไม่พ้นจากการกินเหล้าเอาหญิงทำตัวกร่าง ไร้แก่นสารไปวันๆ จนลืมรากของตัวเองไปสนิทใจ คิดว่าตัวเองเป็นพี่มืดไปซะแล้ว พอหันไปมอง Asian Dub Foundation ที่ภูมิใจกับ “ราก” ของพวกเขาแล้วก็ได้แต่อิจฉา และชื่นชมพวกเขาเท่านั้นแหละครับ

No comments: