Saturday, October 1, 2011

Korea Invasion กิมจิราวีปลาดิบ

Technorati Tags: ,,,,,

เมื่อปีก่อน ผมก็เขียนเรื่องวงการเพลงเกาหลีบุกไทยมาแล้ว และแย๊บไปที่ญี่ปุ่นนิดนึง แต่ตอนนี้ ผมคงจะต้องขอเขียนถึงวงการบันเทิงญี่ปุ่น กับกระแสเกาหลีหน่อยล่ะครับ เพราะว่า หลังๆมานี่ สถานการณ์เข้มข้นเสียจริงๆครับ

dbsk262

อย่างที่ผมเคยเขียนไปแล้วว่า กระแส ฮันริว (ฮัน คือ อักษรจีนที่หมายถึงเกาหลี ส่วนริวหมายถึงกระแส) เริ่มต้นในตอนที่เรื่อง Winter Sonata ละครรักเกาหลีเข้าไปครองดวงใจของป้าๆชาวญี่ปุ่น เพราะมันทำให้เพ้อไปถึงความรักอันแสนบริสุทธิ์ได้ และรอยยิ้มพิมพ์ใจของแป ยอง จุน ก็ทำให้ป้าทั้งหลาย แทบละลายไปเลยทีเดียว หลังจากนั้น ความเข้มข้นของ แด จัง กึม (ที่ญี่ปุ่นเรียก จองกึม) ก็เป็นที่นิยมไปทั่วญี่ปุ่นอีกรอบ แต่ว่า เรื่องเพลงน่ะ ตามมาทีหลังครับ

กลุ่มแรกๆที่เริ่มบุกญี่ปุ่น น่าจะเป็น ดงบังชิงกิ หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า โทโฮชิงกิ เพราะว่าพวกเขาเริ่มเจาะตลาดญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2004 เลยทีเดียวครับ หรือพูดง่ายๆคือ ตั้งแต่เริ่มต้นงานเพลงช่วงแรกๆเลย (ผมขอละเว้น BOA ไว้ เพราะรายนั้น เหมือนเอามาปั้นในญี่ปุ่นแต่แรก และไม่ได้เป็นผู้จุดกระแสด้วยครับ) และด้วยความพยายามของพวกเขาที่พยายามสร้างเสียงทีละน้อย และความพยายามในการศึกษาภาษาญี่ปุ่น ทำให้พวกเขาสามารถคว้าอันดับหนึ่งของชาร์ตโอริคอน (ชาร์ตอย่างเป็นทางการวัดจากยอดขายนะครับ ไม่ใช่คลื่นวิทยุจัดกันเองดันกันเองแบบบางประเทศ) ในปี 2008 จนได้ คิดดูนะครับ เวลาถึง 4 ปี กว่าจะขึ้นมาได้ถึงขนาดนี้

เรื่องการเรียนภาษาญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมอึ้งกับความอุตสาหะกับความพยายามของศิลปินเกาหลีจริงๆครับ ผมดูรายการทีวีที่พวกเขาไปออก สามารถส่งรับมุขกับพิธีกรได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งๆที่เป็นศิลปิน แค่ซ้อมร้องกับเต้นก็ลำบากแล้ว ยังเจียดเวลามาเรียน แถมทำได้ดีด้วย ถึงจะบอกว่าไวยากรณ์สองภาษามันใกล้เคียงกัน ก็จริง แต่ถ้าไม่พยายามมันไม่ได้หรอกครับ การพูดภาษาของประเทศที่จะไปเจาะตลาดได้ มันเพิ่มโอกาสออกงานและเพิ่มความกระชับแน่นแฟ้นกับแฟนๆได้มากครับ ขนาดผมไม่ใช่แฟนเพลง ยังต้องเคารพความพยายามในฐานะที่เรียนภาษาญี่ปุ่นเหมือนกัน ต่างกับศิลปินไทยที่พยายามไปขายที่ญี่ปุ่น ผมเห็นเรียนภาษากันนิดๆหน่อย อย่างตอนสองพี่น้องนักร้องชาวไทย ไปออกรายการทีวี แทบไม่มีโอกาสได้คุย เพราะว่าพูดไม่ได้ ต้องผ่านล่าม พิธีกรก็เลยส่งมุขลำบากมากๆครับ น่าจะดูเขาไว้เป็นตัวอย่าง

อีกสิ่งหนึ่งทำให้พวกเขาเจาะตลาดญี่ปุ่นได้ เพราะว่า ค่ายยักษ์ใหญ่ Avex เป็นคนดูและพวกเขาในญี่ปุ่นและด้วยเครือข่ายของค่ายยักษ์ทำให้การโปรโมททำได้ง่ายขึ้นครับ แม้จะเหลือแค่ 2 คน ทุกวันนี้ ดงบังชิงกิ ก็ยังขายได้เสมอในญี่ปุ่นครับ

และเมื่อมีรุ่นพี่แผ้วถางทางให้แล้ว กระแสก็เริ่มจุดติด และบุกเข้ามาเรื่อยๆครับ และความฉลาดของการขายคือ พวกเขาพยายามหาจุดเด่นในการขายให้ชัดเจน ทำให้คนจำได้ง่าย อย่างเช่น Girls’ Generation ก็เลือกเพลง Genie ที่เน้นโชว์ขาเรียวในการเต้น และตั้งชื่อว่า บิเคียขุแดนซ์ หรือเต้นขาสวย และ KARA ที่ ใช้เพลง Mr. เต้นส่ายสะโพก จนเป็นชื่อ ฮิปแดนซ์ ติดปากไปทั่ว และได้ผลครับ ทั้งสองกลายเป็นวงที่ขายได้ในญี่ปุ่นไปอีก ตอนนี้ 2PM ก็พยายมจะขาย Tie-Dance หรือท่าเต้นที่ใช้เนคไทประกอบอีกวง เข้าใจคิดทำให้จำง่ายๆ

KARA_MR2

นอกจากแรงหนุนจากค่ายเพลงในญี่ปุ่นแล้ว อีกแรงหนุนคือ สถานีโทรทัศน์ฟูจิ ช่องที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งทางผู้บริหารมีความสัมพันธ์อันดีกับทางเกาหลี จึงกลายเป็นเหมือนช่องถ่ายทอดผลงานของศิลปินเกาหลีไป ทำให้ตอนนี้ศิลปินเกาหลีมักจะออกงานเพลงสองเวอร์ชั่นไว้รอเลย

แต่เมื่อมีคนชอบ ก็มีคนเกลียด สถานีฟจิถูกประท้วงและต่อต้านโดยคนญี่ปุ่นกลุ่มที่ไม่นิยมเกาหลี ถึงขนาดบอยคอตไม่ดูช่องนี้เลย ส่วนค่าย Avex เอง ก็มีปัญหาภายในเพราะในงาน a-nation งานใหญ่ของค่ายประจำปี ศิลปินใหญ่ของค่ายอย่าง ฮามาซากิ อายูมิ แสดงความไม่พอใจว่าศิลปินรุ่นพี่ในค่ายถูกข้ามหัว (ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า โดยศิลปินเกาหลี) และดาราหนุ่ม ทาคาโอกะ โซสุเกะ ก็ทวิตบ่นเรื่องศิลปินเกาหลีเยอะเกินไป จนกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมญี่ปุ่นในช่วงปีที่ผ่านมาเหมือนกัน

แต่ในทางกลับกัน ปัญหาอีกส่วน มันมาจากวงการเพลงป๊อปของญี่ปุ่นเองด้วยล่ะครับ ตอนนี้ วงการเพลงป๊อปของญี่ปุ่นถูกครอบงำด้วยวงสารพัด 48 ทั้ง AKB48 NMB48 SKE48 SDN48 ซึ่งวงเหล่านี้ก็ทำเพลงป๊อปแบบที่ธรรมดามากๆ แต่เน้นจำนวนสมาชิกวง (48คน) จนมันดูเหมือนทำออกมาเพื่อโอตาคุซะมากกว่า ซึ่งกลายเป็นเทรนด์ในปัจจุบันไปในการทำวงไอดอลจากสาวธรรมดามาขายโอตาคุ จนกลายเป็นเฝือเต็มตลาดไปหมด ลองดู Idoling, Momoiro Clover, C-ute หรือ Berryz Koubou ที่ทั้งการร้อง การเต้น ยังแพ้ทางเกาหลีอยู่

ที่เขียนมา ไม่ใช่จะเชียร์เกาลีนะครับ แต่อยากจะแสดงให้เข้าใจว่า ทำไมพวกเขาถึงดังขึ้นมาได้ และญี่ปุ่นควรจะเข้าใจปัญหาอย่างไร ส่วนบ้านเรา ถ้าติดจะไปขายตลาดอื่น ก็ลองศึกษาเกาหลีดูล่ะกันครับ

No comments: