นานทีปีหน นอกจากเขียนวิจารณ์เพลงใหม่ กับแนะนำวงดนตรีแล้ว ผมก็รู้สึกตัวว่า ควรจะเขียนบทความแนวอื่นบ้าง ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับวงการเพลงไทยที่ผมอยากจะเขียนถึงมาหลายครั้งแล้ว
สาเหตุที่อยากเขียนก็เป็นเพราะได้มีโอกาสคุยกับเพื่อต่างวัยชาวอังกฤษ ที่เติบโตมากับยุคที่ดนตรีพังค์รุ่งเรือง และผมก็ถูกถามจังๆว่า ทำไมถึงชอบเพลงฝั่งอังกฤษ โดยเฉพาะพวกที่มีรากฐานของเพลงพังค์ขนาดนั้น แล้วไม่สนเพลงไทยเหรอ เล่นเอาอึ้ง และทำให้คิดขึ้นมาเหมือนกันว่าทำไม
คำตอบที่ตอบไปคือ ส่วนตัวผมเองแล้ว ผมชอบเพลงพังค์ เพราะเนื้อหา และความดิบของมัน มันคือพลังของวัยหนุ่มสาวที่กราดเกรี้ยว พร้อมที่จะทำลายทุกอย่างที่ตัวเองไม่เห็นด้วย เพลงแม้จะสั้น แต่ก็สามารถมีความเป็นขบถมากกว่าชีวิตคนสักคนเสียอีก ผมมองว่า การออกมาต่อต้านสิ่งที่ตนเองไม่เห็นด้วยนั้นเป็นเรื่องปกติมากๆ เพราะคนเราไม่ควรจะเป็นตุ๊กตาหัวสปริงที่มีหน้าที่ผงกหัวตลอด และการที่วัยรุ่นออกมาแหกปากร้องเพลง แสดงว่าเขามีอะไรที่อึดอัดอยู่ในใจอยู่
แล้วเพลงไทยล่ะ ผมเองก็ฟังเพลงไทย ซื้อเพลงของศิลปินไทยอยู่เรื่อยๆเหมือนกัน (ไม่โหลดไม่ซื้อผีแน่นอน) คนไหนดีๆ ผมก็พยายามสนับสนุนอยู่เสมอ ซึ่งก็มีไม่น้อยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นวงรุ่นเก๋าอย่าง ครับ และงานต่างๆของอดีตสมาชิก เบอเกอรี่ยุคแรกๆ ค่ายสมอลรูม ค่ายหัวลำโพง พี่ซี้ด พาราดอกซ์ วงอีเล็กโทรนิกส์เจ๋งๆ และอีกหลากหลาย แต่พอดูๆไป มีน้อยมากครับ ที่วงการเพลงไทยจะทำให้ผมพึงพอใจในเนื้อหาของเพลง ส่วนใหญ่จะชอบแนวเพลงซะมากกว่า
เพราะเหตุที่ว่า เพลงส่วนมากนั้นมักจะเป็นเพลงที่เนื้อหาวนเวียนอยู่กับความรัก รัก รัก รัก และรัก น้อยมากที่จะมีเพลงที่วิเคราะห์สังคมตรงๆ (แม้จะมีเสียดสีบ้างแบบริชแมนทอย) แต่สุดท้ายแล้ว เพลงที่ขายได้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพลงรักๆใคร่ๆ อกหัก รักคุด เสมอ ไม่ก็จะเป็นเพลงที่ออกมาในแนวสำหรับชนชั้นกลางเสียเหลือเกิน (กินเที่ยวเตร็ดเต่ ไม่สนเรื่องสังคม) ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะว่า เอาเข้าจริงๆ ชนชั้นกลางนั้นเป็นคนส่วนมากของสังคมที่เข้าถึงสื่อ จึงไม่แปลกอะไรที่เพลงจะสนองคนชั้นนี้เสมอ
ดังนั้น เมื่อฟังไป เรามักจะได้ผลงานเพลงที่ออกจะพลาสติกมากเหลือเกิน เพลงสารพัด ต่างพูดถึงเรื่องราวต่างๆอย่างตื้นเขิน ไม่ได้สัมผัสถึง passion ที่มี ไม่มีความ real อยู่ในงานเลย ตัวอย่างง่ายๆคือ เพลง มหานคร ของวงไทยเทเนี่ยม ที่เจ้าตัวก็ยอมรับตรงๆว่าได้ไอเดียจาก Jay-Z แต่ที่ต่างกันคือ ลองฟังเพลงนี้ดีๆแล้ว มันไม่มีอะไรนอกจากการพล่ามไปเรื่อยถึงการไปเที่ยวนู่นนี่ กับเสียงผู้หญิงมากรีดร้องแบบไร้ความหมาย ฟังจบ ใจความที่ได้คือ เขาอยู่ที่กรุงเทพ ไปนู่นมานี่ เท่านั้น แต่ไม่ได้รู้สึกถึงชีวิตคนในกรุงเทพอื่นๆ แม่ค้าหาบเร่ เด็กแวนต์ คนสลัม ไม่ ไม่มี พวกนี้ไม่มีตัวตนในสายตาคนที่ทำเพลงขายตลาดใหญ่หรอกครับ มันทำให้ผมรู้สึกว่าเพลงนี้มันช่างกลวงสนิทเสียนี่อะไร
อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของวงการเพลงคือจุดกำเนิดของศิลปินครับ ที่อังกฤษ วงดนตรีส่วนใหญ่ต้องเล่นเพลงของตัวเองตามผับบาร์ต่างๆจนกว่าจะไปเข้าตาแมวมอง หรือแบบปัจจุบันก็อัพเพลงตัวเองขึ้นเว็บจนเป็นที่เลื่องลือกันในวงการ จนดังได้ (แบบ Arctic Monkeys) แต่มองมาบ้านเรา นักดนตรี (ขอไม่ใช้คำว่าศิลปินนะครับ) กลุ่มหนึ่ง รวมตัวกันมาร้องเพลงของคนอื่น (เน้น คนอื่น) ได้เหมือน โดยเฉพาะเพลงต่างประเทศ อัพขึ้นเว็บ กลับกลายเป็นคนดัง มีคนเรียกศิลปิน ทั้งๆที่สิ่งที่พวกเขาทำคือ การร้องเพลงของคนอื่นได้เหมือน ซึ่งไม่ใช่งานศิลปะ เหมือนให้ผมวาดรูปได้เหมือนปิกัซโซ่ ผมก็เป็นแค่คนก๊อปปี้เท่านั้น น่าตลกที่พวกเขาได้รับการยกย่องทั้งๆที่ยังไม่เคยทำผลงานเพลงแท้ๆ แต่ก็มีค่ายพร้อมจะอุ้มไปจัดการแล้ว ตลกดีครับ อีกอย่างคือ การที่หลายต่อหลายคนชมว่า แหม ร้องเหมือนเจ้าของภาษาเลย มันคือความเป็น provincialism อย่างนึงที่แฝงอยู่ในความคิดเราว่า การทำได้เหมือนต่างชาติ=เก่งและดี ทั้งๆที่คนพูดมักจะชูธงภูมิใจความเป็นไทยแท้ๆ
ที่ผมบ่นบ้ามาเป็นหน้า ก็เพราะว่า อยากจะเห็นคนรุ่นใหม่ออกมาทำเพลงตามที่อยากทำขึ้นกว่าเดิม ผมอยากเห็นเด็กสลัมร้องเพลงเกี่ยวกับชีวิตเขา เด็กแวนต์ทำเพลงพังค์ นักร้องที่เป็นเพศที่ 3 กล้าทำเพลงเกี่ยวกับเพศที่ 3 ไม่ใช่ต้องติดอยู่ในกรอบร่างกายที่สังคมต้องการให้เป็น กระทั่งเด็กนักศึกษาที่ทำเพลงเพื่อชีวิต ไม่ต้องยึดติดกับกีตาร์โปร่งกับผมยาวก็ได้ครับ ศิลปินในดวงใจคุณที่คุณอยากเลียนแบบขายวิญญาณกันไปหลายคนแล้ว คุณจะทำเพลงแนวไหนก็ได้ จะทำเพลงฮิปฮอปก็ยังได้ ขอแค่เนื้อหามันตรงกับที่คุณต้องการสื่ออกมาก็พอ อย่าติดกับภาพลักษณ์เดิมๆที่ไม่ได้อัพเดตมา30ปีเลย โลกหมุนไป บ๊อบ ดีแลนยังเล่นกีตาร์ไฟฟ้าเลย อย่าติดอยู่กับสิ่งเดิมๆครับ แม้อาจจะไม่ได้สบาย แต่ถ้าคุณเชื่อและมุ่งมั่นในหนทางของคุณ ซักวัน คุณจะประสบความสำเร็จครับ หรือถ้ามันไม่เวิร์กจริงๆ อย่างน้อย คุณก็ได้ทำมันลงไปแล้วครับ
No comments:
Post a Comment