วันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมพบตัวเองในเสื้อสูทตัวเต็มยศ รองเท้าหนังเงาแว้บ ยืนอยู่ที่หน้าศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะแปลกปลอมสำหรับตัวผมอยู่มาก สาเหตุที่ผมต้องทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคยคือ ผมกำลังจะได้ชมคอนเสิร์ตออเคสตราเป็นครั้งแรกในชีวิต ในงาน Toyota Classics ประจำปี 2010 ที่ได้วง Orchestra Citta Di Firenze วงออเครสตราชื่อดังจากนครฟลอเรนซ์ ที่รวมรวมนักดนตรีฝีมือดีเข้ามา เพื่อเล่นเพลงแชมเบอร์ หรือเพลงดังๆที่แต่งโดยผู้ประพันธ์ชาวอิตาลี
ทีแรก ผมเองก็ไม่ได้รู้ข่าวมาก่อน จนแฟนผมที่ทำงานที่โตโยต้ามาบอกว่า บริษัทจะจัดงานคอนเสิร์ตการกุศล ผมเลยตกลงใจไปดูทันที เพราะว่านอกจากได้ฟังเพลงคลาสสิกสดๆแล้ว ยังได้ทำการกุศลด้วย ราคาบัตรที่ซื้อก็ถือว่าถูกมาก ยิ่งถ้าไปเทียบกับวงเกาหลีหรือ AF แต่พอทราบทีหลังว่า สมเด็จพระเทพก็ทรงเสด็จในงานนี้ด้วย เลยเกร็งๆหน่อย เพราะไม่คุ้นกับงานระดับนี้ครับ
พอถึงวันงาน ผมก็ยืนรอแฟนและเพื่อนอยู่หน้างานท่ามกลางคนญี่ปุ่นและคนไทยไฮโซทั้งหลาย เห็นว่างานปีนี้คนเยอะกว่าปีก่อน อาจจะเป็นเพราะว่ามีแขกรับเชิญอย่าง อ๊อฟ ปองศักดิ์ มาร่วมร้องเพลงด้วย เลยมีแฟนเพลงของอ๊อฟมาร่วมงานนี้ด้วย และพองานจะเริ่ม ก็ค่อยๆเดินเข้าไปในฮอลล์ครับ และสิ่งที่ทำให้ผมผงะคือ ผมแต่งตัวมาร่วมงานแบบเต็มยศ แต่คนอื่นๆที่อยู่ในชั้นเดียวกัน กลับมาแบบสบายๆมากๆ แถมยังมีกางเกงยีนส์ หรือรองเท้าแตะ เล่นเอาผมงงไปนิดหน่อย ว่าตัวเองเวอร์ไปรึเปล่า แต่ก็คิดได้ว่า แต่ดีไป ดีกว่าแต่งแย่ไปเสมอ ก็นั่งรอไป ฮอลล์ก็ดูดีครับ ท่าทางระบบเสียงจะโอเคเลย ต่างคนก็รอกันไป กดมือถือกันไป มีนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ด้วย แทบไม่เห็นใครศึกษาโปรแกรมที่ได้รับแจกเลยครับ
หลังจากประกาศเตือน สิลปินก็เริ่มทะยอยเข้ามา คนก็เริ่มเก็บมือถือและเงียบ เฮียที่อ่านหนังสือพิมพ์ก็พับหนังสือพิมพ์เก็บแบบเสียงดังไม่เกรงใจใครอยู่ซะนาน เล่นเอารำคาญใช้ได้ น่าสงสารนักดนตรีครับ
งานเริ่มด้วยการที่วงเล่นเพลงพระราชนิพนธ์สองเพลงคือ เทวาพาคู่ฝัน และ อาทิตย์อับแสง โดยการควบคุมวงของ Lorenzo Castritota Skanderberg และตัวเพลงก็ได้รับการเรียบเรียงอย่างดี ถือว่าไพเราะมากครับ จากนั้นก็เข้าสู่ช่วงการแสดงหลัก นั่นคือเริ่มต้นด้วยเพลง Ombra mai fu ของ Handel จากเรื่อง Serse ที่ได้นักร้องเสียงเทเนอร์ประจำวง Leonardo Melani มาขับขาน ซึ่งก็ออกมาน่าประทับใจมากครับ น้ำเสียงทรงพลังมากๆครับ ก่อนจะต่อด้วย เพลงบรรเลง Preludio (Act1) จาก La Traviata ที่บอกตามตรงว่า แม้ผมจะไม่ใช่แฟนเพลงคลาสสิก แต่ก็เคยผ่านหูเพลงเหล่านี้มาบ้าง แม้จะไม่รู้ชื่อเพลงครับ
และนักร้องก็กลับออกมาอีกรอบกับเพลง Tu Che M’ Hai Pres il Cour ของ Frank Lehar ก่อนที่จะส่งเวทีคืนให้กับเพลง Torna a Surriento ที่เป็นเพลงบรรเลงของ Ernesto de Curtis ที่คุ้นหูอีกเพลงครับ
มาจนถึงตอนนี้ ผมก็ได้ฟังเพลงอย่างเพลิดเพลิน แต่เริ่มตะหงิดเมื่อเห็นคนควักเอามือถือมากดเล่น จนสงสัยว่า หนีจากโรงหนัง ก็ยังมาเจอคนประเภทนี้ อยากจะบอกว่า ออกไปเถอะครับ เพราะคุณกำลังทำลายมารยาทของการฟังเพลงเป็นอย่างยิ่งครับ ถ้าอยากจะคุยแชตกันขนาดนั้นก็ออกไปข้างนอกเถอะครับ และเท่านั้นยังไม่พอ บางคนยังถ่ายรูปแบบเห็นๆครับ ทั้งๆที่ก็ชัดเจนแล้วว่ามีป้ายบอกเป็นภาษาไทยและอังกฤษชัดเจนว่า ห้ามถ่ายภาพขณะแสดง ไม่น่าจะโง่พออ่านไม่ออกกันนะครับ บอกตรงๆว่ารบกวนศิลปินมากๆครับ มารยาททรามมากๆ
กลับมาเรื่องการแสดง เพลงต่อมาคือ La tragenda ของ Puccini จากเรื่อง Le villi และตามมาด้วยเพลงดังอย่าง Granada ของ Augustin Lara ก่อนจะปิดท้ายช่วงแรกด้วยเพลง Funiculi-Funicula ของ Luigi Denza ที่คุ้นหูผมเป็นอย่างมาก เพราะมันถูกนำม่ใช้ประกอบโฆษณาเห่ยๆของคลินิคศัลกรรมในนาโกย่า เล่นเอาผมและแฟนกลั้นเสียงหัวเราะแทบไม่ไหว (ยังดีที่เงียบต่อได้) ก่อนจะไฟพักเบรกกัน
เมื่อกลับมา ศิลปินรับเชิญอย่างอ๊อฟก็ออกมาร้องเพลง ชีวิตลิขิตเอง ของพี่เบิร์ด ตามด้วยเพลง จุดอ่อนของฉันอยู่ที่หัวใจ ของเขาเอง ซึ่งจริงๆ อ๊อฟเป็นนักร้องที่เสียงดี และวงก็เล่นดี เพียงแต่ พอมาผสมกัน กลับกลายเป็นไปกันคนละทางอย่างน่าเสียดาย อาจจะเป็นเพราะการใช้ไมค์ ทำให้เสียงออกมาแปร่งไปก็ได้
และวงก็เข้าสู่การแสดงหลักด้วยเพลงยาก 3 เพลงคือ Le nozze di Figaro เพลงชื่อดังของอัจฉริยะ Mozart ที่วงเล่นได้อย่างแสนเพลิดเพลิน ตามด้วย La gazza ladra Sinfonia ของ gioacchino Rossini อีกเพลงที่บรรเลงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ก่อนจะปิดท้ายด้วยเพลงยาวมากๆอย่าง Giovanna d’Arco Sinfonia ที่แบ่งออกเป็นสามท่อน โดยช่วงกลางจะหม่นหมองหน่อยครับ และวงก็เล่นปิดได้อย่างสนุก ก่อนจะกลับมาอังคอร์กับอีกเพลง (ที่ผมไม่รู้จัก) เรียกเสียงตบมือได้เป็นอย่างดีจริงๆครับ
เสร็จงาน ผมออกมาอย่างประทับใจ แม้จะรำคาญคนมารยาทแย่ทั้งหลายที่ไม่เกรงใจคนอื่นเลยครับ แต่โดยรวมก็ยังถือว่าดีครับ ก็รอให้โตโยต้าจัดอีกทีปีหน้าล่ะครับ
No comments:
Post a Comment