Technorati Tags:
Music,
Musical,
Glee โดยส่วนตัวแล้ว ผมเป็นคนที่ดูทีวีค่อนข้างน้อย โดยส่วนมากก็จะดูแค่ข่าว รายการกีฬา และสารคดี แต่ก็มีอีกอย่างหนึ่งที่เล่นเอาผมติดงอมแงมได้เสมอ นั่นก็คือละครทีวี แต่ผมไม่ได้ติด วณิดา หรืออะไรประเภทนั้นนะครับ (ไม่เคยดูเลย) แต่ที่ผมติดแบบถอนตัวไม่ขึ้นคือละครทีวีของทางฝั่งอเมริกากับอังกฤษที่สนุกสุดๆหลายเรื่องอย่าง Dexter หรือ Heroes แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่ทีแรกผมก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก แต่พอได้ดูทางทีวีเรื่อยๆ ก็สนุกและติดจนถอนตัวไม่ขึ้นอีกเหมือนกัน เรื่องที่ว่าคือ Glee ครับ
ทีนี้ ถ้าเรื่องนี้มันไม่เกี่ยวกับเพลง ผมคงไม่กล้าเอามาเขียนในคอลัมน์นี้หรอกครับ แต่ที่อ ยากเอามาเขียนเพราะว่า Glee คือเรื่องที่เกี่ยวกับดนตรีเต็มๆเลยครับ จริงๆแล้ว คำว่า Glee หมายถึง เพลงที่ใช้ในการร้องประสานเสียงครับ และเรื่อง Glee ที่ว่านี้ก็เกี่ยวกับการร้องประสานเสียงแบบเต็มๆ เพียงแต่ว่า ถ้าหากเป็นเพลงประสานแบบดั้งเดิม คงจะไม่มีใครสนใจมากนัก และคงถูกขอให้ไปร้องช่วงคริสมาสแทน แต่ที่มันได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะว่าแทนที่จะใช้เพลงแบบดั้งเดิม พวกเขาเอาเพลงสมัยใหม่มาเรียบเรียงใหม่เพื่อทำการร้องประสานได้อย่างแนบเนียน
Glee เป็นเรื่องของอาจารย์มัธยมหนุ่มที่ได้มารับช่วง Glee Club ชมรมนักร้องประสานเสียงที่เขาเคยเป็นตัวเด่นสมัยเป็นนักเรียนอยู่ แต่พบว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป การอยู่ในชมรมนี้ไม่ได้หมายถึงความเท่เหมือนเก่า แต่กลับกลายเป็นเรื่องน่าหัวเราะเยาะแทนสำหรับโรงเรียนอเมริกันในตอนกลางประเทศ เขาต้องพยายามรวบรวมนักเรียนมาเข้าชมรม ซึ่งก็ได้ทั้งเด็กพิการ สาวเจ้าเนื้อ สาวติดอ่าง หนุ่มมาดแต๋วจนต้องใช้ลูกเล่นหลากหลายเพื่อรวบรวมสมาชิก จนได้คนดังอย่างนักกีฬาและเชียร์ลีดเดอร์ เข้ามาร่วมทีม (อย่างมีนัยยะสำคัญ) แต่ก็มีปัญหาเกิดเข้ามาเรื่อยๆให้ได้ลุ้นกันให้สนุกสนาน ได้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ผอ.ขี้งก อ.พละขี้อิจฉา นักเรียนรักๆเลิกๆ ปัญหาส่วนตัวของตัวละครแต่ละตัว เรื่องรักร่วมเพศ รวมไปถึงประเด็นแรงๆ อย่างการท้องในวัยเรียนอีกด้วย ทำให้เป็นเรื่องที่ดูได้เพลินแบบหยุดไม่อยู่เหมือนกันครับ
แต่สาเหตุหลักอีกอย่างที่ทำให้ผมชอบมากคือ แทนที่จะเอาเพลงเก่าๆมาร้อง พวกเขาเอาเพลงร่วมสมัยมาทำใหม่ให้เป็นฉบับประสานเสียง ทำให้เราได้ฟังเพลงฮิตทั้งหลายทั้งในยุคนี้และยุคเก่าหน่อยในฉบับร้องประสานเสียงได้อย่างสนุกสนาน และนอกจากฉากซ้อมร้องเพลงแล้ว หลายๆฉากในเรื่องก็เล่าเรื่องด้วยการร้องเพลงของตัวละครแทนการเล่าเรื่องแบบปกติ จนกลายเป็นละครเพลงหลายช่วงมากๆ และเพลงที่เลือกมาก็เข้ากับบรรยากาศของเรื่องตอนนั้นเป็นอย่างดี พูดง่ายๆคือเป็นการเล่าเรื่องด้วยเพลงได้อย่างสนุกสนานเอามากๆครับ (บางครั้งก็เหมือนหนังแขกไปเลย)
เพลงที่เลือกมา แม้จะมีเพลงจากละครบรอดเวย์ดังอย่างเพลง Defying Gravity (กลายเป็นฉากโปรดของผมในเรื่อง) แต่ก็มีเพลงป๊อป เพลง R&B และเพลงร๊อคดังๆ ดังๆสารพัดเพลงครับ คนที่ชอบเพลงอย่างผมก็เพลินกับแอบร้องตามไปกับละครอย่างมาก สารพัดเพลงดังถูกเลือกออกมาใช้ได้อย่างน่าสนใจ กระทั่งบางตอนก็เป็นการทริบิวต์ให้กับนักดนตรีดังอย่าง Madonna หรือ อีสาวซ่ารุ่นน้องอย่าง Lady Gaga ไปเลยทีเดียว นักแสดงทั้งหลายก็ทำหน้าที่ตรงจุดนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะโดยมากก็มักจะมีพื้นฐานมาจากการเป็นนักร้องแต่เดิมอยู่แล้ว ขนาดนักแสดงที่รับบทเป็นอาจารย์ก็ผ่านงานละครบรอดเวย์มาก่อนทีเดียว ทำให้เราสามารถสนุกกับเพลงได้อย่างไม่รู้สึกสะดุดอะไรเลย เพลงดังสารพัดที่ถูกประโคมมาก็อย่างเช่น Dream On (Aerosmith), Physical (Olivier Newton John), One (U2), Loser (Beck), Jump (Van Halen), Gold Digger (Kanye West) รวมไปถึงเพลงอมตะอย่าง Bohemian Rhapsody ของ Queen ที่เอามาปรับเข้ากับเนื้อเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยมในฉากสำคัญของเรื่อง
ส่วนเพลงที่เป็นเพลงธีมหลักของเนื้อเรื่องในปีแรกของละครเรื่องนี้ คงต้องเป็น Don’t Stop Believin’ ของวง Journey ที่แต่เดิมก็เป็นเพลงยอดนิยมสำหรับคาราโอเกะอยู่แล้ว พอมาได้ตัวแสดงในเรื่องมาร้องประสานเสียงกันอย่างยอดเยี่ยม มันก็น่าประทับใจและชวนสนุกให้เราร้องตาม (เพลงนี้โดยมากคนอเมริกันรู้จักกันหมดครับ) เป็นการเลือกเพลงที่ดีมากๆ และความหมายของเพลงยังสื่อให้เราอย่ายอมแพ้ อย่าล้มเลิกในสิ่งที่เราเชื่อมั่น เหมือนตัวละครในเรื่องที่แม้จะมีอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องไม่ท้อถอย และสู้ต่อไปครับ (American Spirit จริงๆ) และทำให้เราแอบเอาใจช่วย Underdog ทั้งหลายในเรื่องไม่ได้ครับ
ไหนๆเขียนชมมาขนาดนี้แล้ว วานคนสนใจ เอามาทำเป็นแผ่นขายหน่อยครับ จะได้เก็บเป็นชิ้นเป็นอันหน่อยครับ ส่วนคนที่สนใจฟังเพลง บ้านเราก็มีอัลบั้มรวมเพลงขายแล้วนะครับลองหากันมาดูได้ ขอแนะนำอย่างแรงครับ