Saturday, March 27, 2010

Gorillaz อวตารดนตรี

Technorati Tags: ,,

พวกศิลปิน บางทีก็มีแนวคิดแปลกๆที่เราไม่เข้าใจ ซึ่งมักจะอ้างคำว่าอาร์ตเสมอ บางทีก็ทำเรื่องแปลกอย่างเอาลูกมาเหวี่ยงที่หน้าต่างเล่น แต่ที่ฮิตกันอย่างหนึ่งก็คือ การอวตารเป็นบุคคลที่สมมุติขึ้นมา อย่าง Eminem ก้มักจะเรียกตัวเองว่าเป็น Slim Shady กระทั่ง Mariah Carey ยังมี Mimi เลย ที่ล้มเหลวแบบโง่ๆก็มี Garth Brookes เจ้าพ่อคันทรี่ที่กลายเป็นขาร๊อคอย่าง Chris Gaines แต่ขายไม่ออก ที่เยอะสุดน่าจะเป็น David Bowie ที่มีร่างอวตารเยอะเหลือเกิน แต่สำหรับยุค 2000 แล้ว คงไม่มีใครดังไปกว่า Gorillaz อีกแล้ว
monkey_wideweb__470x326,0 Gorillaz คือ โปรเจคต์ของ Damon Albarn จากวง Blur ที่ร่วมงานกับนักวาดการ์ตูนอย่าง Jamie Hewlett เจ้าของผลงานดังอย่าง Tank Girl พวกเขาอาศัยในแฟลตเดียวกัน และเริ่มไอเดียดังกล่าวเพื่อหาอะไรใหม่ทำ โดยที่ Damon เองก็ต้องการขยายขอบเขตแนวเพลงของเขาไปจากเดิมอย่างวง Blur แต่การทดลองกับวง Blur คงไม่ดี และเพื่อลบภาพที่ติดจากตัว จึงเลือกใช้ตัวการ์ตูนมาเป็นศิลปินแทน โดยที่ตัวการ์ตูนที่ 4 คือ 2D นักร้องที่น่าจะแทนตัว Damon เอง Noodle สาวหมวย มือกีตาร์ ที่ได้ Miho Hatori จาก Cibo Matto มาร่วมงาน Russel มือกลองที่มีวิญญาณแรปเปอร์สิงอยู่ ซึ่งวิญญานนั้นคือ Del Tha Funkee Homosapien เจ้าของงานฮิปฮอปชั้นเยี่ยม ส่วน Murdoch มือเบส และหัวหน้าวง เจ้าผีดิบตัวนี้ไม่ได้แทนใครเป็นพิเศษครับ และพวกเขายังได้ Dan The Automator มาร่วมงานอีกด้วย

เมื่อรวมตัวหลวมๆในปี 1998 พวกเขาก็ได้ออกผลงานจริงๆ ในปี 2001 นั่นคือ ซิงเกิ้ลแรก Clint Eastwood ที่เป็นเพลงป๊อปผสมฮิปฮอปที่มีบรรยากาศแปลกๆ แหวกแนวจากวงอื่นๆในช่วงนั้น บวกกับ MV ที่มีแต่ตัวการ์ตูนแปลกๆ ทำให้ผู้คนสนใจมันทันที ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความลึกลับว่าใครอยู่เบื้องหลังกันแน่

ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น ที่ออกไปหาซื้อเทป (ครับ เทป) ของวงนี้มาฟัง โดยที่ไม่ได้รู้ข้อมูลอะไรอื่นเลย นอกจากเพลงมันเจ๋ง แต่พอฟังไปมา เริ่มคุ้นเสียงขึ้น จนมาเปิดในปกดู เห็นชื่อ Damon Albarn มาร่วมงานด้วย ก็ถึงบางอ้อเลยทันทีครับgorillaz3 อัลบั้มเต็มชุดแรกของพวกเขาเต็มไปด้วยความสดใหม่ แหวกแนวดนตรีในช่วงนั้น ที่ถูกปกครองด้วย Nu-Metal จากอเมริกา ส่วนอังกฤษก็ไม่มีอะไรดีมากนักเพราะเป็นช่วงหลังการตายของ Brit-Pop การหาแนวทางใหม่ๆของ Damon เจ้าพ่อยุค Brit-Pop จึงเป็นเรื่องน่าสนใจมาก และจากศิลปินที่มาร่วมงาน มันน่าจะถูกเรียกว่า Super Group ได้ง่ายๆเลย ทีเดียว เพลงต่างๆในอัลบั้มเต็มไปด้วยบรรยากาศเฉพาะตัว เช่น 19-2000 ที่เป็นงานDubเท่ๆบวกเสียงซนๆของ Noodle ไปด้วย Rock The House ก็เป็น Hip-Hop ในแบบของ Del จริงๆ Tomorrow Comes Today ก็เป็น Dub ที่ทั้งหนักทั้งหลอนกบาลเป็นอย่างดี Punk เป็นเหมือน Blur ในยุค Song 2 และอีกเพลงเด่นคือ Latin Simone (Que Pasa Contigo) ที่ได้ศิลปินอย่าง Beauna Vista Social Club มาร่วมงานได้อย่างงดงาม Gorilaz คืองานเปิดตัวที่เป็นเหมือนต้มยำหลากรสที่ผสมออกมาได้อย่างลงตัวและอร่อยถึงใจ จนนักวิจารณ์หลากสถาบันต้องยกย่องความเยี่ยมของมันเลยทีเดียว

หลังจากแยกย้ายไปทำงานใครงานมัน Gorillaz ก็กลับมาในปี 2005 โดยที่มันกลายเป็นโปรเจ็คต์เดี่ยวของ Damon ไปซะแล้ว โดยซิงเกิ้ลแรก Dirty Harry ก็เป็นเพลงDubผสมHip-Hopที่โครมครามสะใจเอาเรื่องจริงๆ

เมื่ออัลบั้มที่สอง Demon Days ออกวางขาย มันก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามเช่นเคย โดยซิงเกิ้ลที่สองอย่าง Feel Good Inc. ได้ De La Soul มาร่วมงานก็เป็นงานลูกผสมที่ติดหูอย่างร้ายกาจ และยังมีเพลงเด็ดอย่าง Dare ที่เป็นดิสโก้จ๋าๆอีก แล้วก็ยังมี Kids With Guns ที่ได้ Neneh Cherry มาร่วมงาน ก็เท่แบบไม่ยั้งอีกต่างหาก

Gorillaz - billiards และหลังจากรอมานาน ปีนี้ พวกเขาก็กลับมากับอัลบั้มที่ 3 ชื่อ Plastic Beach โดยมีเพลงอย่าง Stylo นำหน้ามาก่อน และมันทำให้เราได้รู้ว่างานชุดนี้จะหนักไปทางดนตรีอีเล็กโทรนิกส์กว่าชุดที่ผ่านๆมา เมื่อได้ฟังอัลบั้มเต็ม มันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ จากบรรยากาศหลอนๆในชุดเก่า งานชุดนี้กลับเต็มไปด้วยบรรยากาศของแสงสีในคลับ แค่เพลง เปิดอัลบั้ม Welcome To The World Of The Plastic Beach ที่ได้เจ้า Snoop Dogg มาร่วมงานด้วย ก็เยี่ยมพอจะเติมคนให้เต็มฟลอร์ได้แล้วครับ อีกเพลงที่มาในโทนเดียวกันคือ Superfast Jellyfish ที่ได้ De La Soul กับ Gruff Rhys จาก Super Furry Animals ร่วมงานด้วย และงานนี้ก็ยังเต็มไปด้วยดารารับเชิญอีกเพียบครับ ไม่ว่าจะเป็น Mick Jones Paul Simonon จาก The Clash ในเพลง Plastic Beach, Lou Reed ใน Some Kind of Nature, Mark E Smith จาก The Fall ใน Glitter Freeze, และ Little Dragon ในเพลงชิลๆอย่าง To Binge และ Empire Ants สำหรับผม เพลงที่เด่นที่สุดในอัลบั้มน่าจะเป็น On Melancholy Hill ที่ยอดเยี่ยมเกินพรรณา มันคือเพลงป๊อปชั้นเลิศสำหรับการต้อนรับทศวรรษใหม่จริงๆ และเป็นงานเพลงป๊อปที่ควรจะเคียงข้างกับ Halcyon ของ Delphic ในฐานะเพลงป๊อปชั้นเลิศของปีนี้จริงๆ

แม้หลายครั้ง ร่างอวตารของศิลปินจะล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จ แต่อย่างน้อย เราก็มี Gorillaz ไว้พิสูจน์ได้ว่า ร่างอวตารไม่ใช่ข้ออ้างเหลวไหลของศิลปิน แต่มันคือการทดลองและขยายขอบเขตของศิลปินคนนั้นไปยังโลกใหม่ต่างหาก

อันนี้ฟังเล่นๆดู

Sunday, March 21, 2010

Tiger Translate ชื่นมื่นกลางฤดูร้อน

วันนี้ผมขอผัดผ่อนเลื่อนเวลาส่งต้นฉบับ เพื่อที่จะปั่นงานนี้ให้ส่งทันฉบับวันจันทร์ที่ทุกท่าน เพราะไม่อย่างนั้น รายงานการแสดงสดงาน Tiger Translate มันจะลากยาวไปสัปดาห์หน้า แล้วมันจะไม่สดครับ ผมเลยยอมมาปั่นงานเช้าวันอาทิตย์ หลังจากเมามันอย่างหมดแรงเมื่อคืนนี้

IMG_4979_resize

งาน Tiger Translate คืองานเทศกาลดนตรีแบบคืนเดียวที่เบียร์ Tiger จากมาเลเซียได้จัดมาสองครั้งแล้ว แต่ผมยังไม่ได้ดูซะที แต่ที่งานนี้พลาดไม่ได้ เป็นเพราะว่ามีวงเด่นอย่าง Placebo มาร่วมงานด้วย (เคยเขียนไปแล้วครับ) ทำให้ผมต้องตามหาตั๋วทันที จนมารู้ว่ามีวงไทยร่วมเล่นด้วยอีกหลายวง โดยเป็นการร่วมแจมกันของวงหลากแนวนั่นเองครับ

แล้ววันงาน หลังจากติดขัดจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงบ้าง ผมก็เอาตัวไปถึงสถานที่จัดงานที่ลานหลัง Esplanade ได้ หลังจากเติมพลัง ก็เริ่มเข้าไปในงาน ซึ่งแม้ดนตรีจะยังไม่เริ่ม แต่ก็มีกลุ่มศิลปินหลากแนว สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอยู่ ที่เด่นๆก็น่าจะเป็นกำแพงกราฟิติที่ใหญ่และสวยจริงๆครับ พอผมตบเสื้อยืดได้สองตัว วงแรกก็เริ่มเล่นครับ

นั่นคือ Abuse The Youth เคยได้ยินชื่อมานาน แต่ไม่เคยฟัง พอมาได้ดู รู้สึกว่าพวกเขาเหมือนกับ Foo Fighters มากกว่าจะเป็น Emo อย่างที่ผมเข้าใจผิด พวกเขาเล่นได้มันเอาเรื่องเลยครับ เสียดายที่คนยังน้อยหน่อย เลยค่อนข้างเงียบๆ พอศิลปินที่มาร่วมอย่าง ลุลา ขึ้นเวที แฟนเพลงบอซซาโนวา ก็เฮกัน และทั้งสองก็เล่นแล้วร้องคู่กันจนเช็ตครับ

IMG_4956_resize

จริงๆผมไม่ค่อยชอบไอเดียการร่วมงานกันแบบนี้ เพราะมันจะลงเอยที่ความครึ่งๆกลางๆมากกว่า แต่ก็ต้องขอลองดูก่อนครับ และวงต่อมาที่ขึ้นเล่นคือวงอิเล็กโทรนิกส์ มหาจำเริญ ที่ขึ้นเล่นบนเวทีชั้นบน (ขอชมความฉลาดที่มีเวทีสองชั้น จะได้ไม่เสียเวลาในการเซ็ตเครื่องระหว่างวงมาก) ผมไม่เคยฟังพวกเขามาก่อน แต่เมื่อได้ฟังแล้วก็ต้องยกนิ้วให้จริงๆครับ พวกเขาทำเพลงเต้นรำได้เหมาะกับเวทีใหญ่ขนาดนี้มาก บรรยากาศเพลงเยี่ยมจริงๆ ยิ่งเอาเพลง Born Slippy มาเล่น ยิ่งมันโคตรครับ แต่ขอบ่นหน่อยที่คนที่ไม่ฟังเพลงแนวนี้ และรอวงฟลัวร์ขึ้นมาแจม กลับนั่งลงเป็นวง ซึ่งผมคิดว่ามันไร้มารยาทเอาเรื่อง และใจแคบเรื่องดนตรีจริงๆครับ ซักหน่อย มือกีตาร์และเบสของฟลัวร์ก็ขึ้นมาแจม และเล่นไปเพลงเดียว ก็กลายเป็นการแสดงของฟลัวร์เดี่ยวๆไป ฟลัวร์เป็นวงที่ผมเสียดายหน่อย เพราะว่านักดนตรีมีความสามารถดี แต่ว่าติดที่นักร้องที่เน้นร้องแนวเดียว ทำให้แนวเพลงของเขาติดอยู่กับเพลงหวานๆเป็นหลัก และครั้งนี้พวกเขาก็เล่นเพลงดังๆหลายเพลง รวมถึงเพลง ยื้อ ของวงพอสด้วย ก่อนที่มหาจำเริญจะกลับมาแจมด้วยเพลงรักเธอประเทศไทยเป็นเพลงสุดท้ายครับ

IMG_4998_resize

วงต่อมาคือขวัญใจเด็กแนวไทย นั่นคือ Modern Dog ที่ขึ้นมาโชว์เพลงในแนวของพวกเขาแบบสบายๆ ก่อนจะได้ ริค มาร่วมโหยหวนเพื่อความสะใจอย่างเต็มรูปแบบของเด็กแนวทั้งหลาย ส่วนพวกผม สายตาจับจ้องไปที่ด้านข้างเวทีทีเห็น Placebo โผล่มาให้ได้กรี้ดรอ เมื่อ Modern Dog เล่นจบแล้ว ก็ได้เวลาเตรียมเฮครับ

IMG_5007_resize

Placebo ขึ้นเวทีมาอย่างมั่นใจ พวกเขาดูเหมือนจะเตรียมพร้อมมาอย่างเต็มร้อยจริงๆ โดยเริ่มด้วยเพลงเด่น For What It’s Worth เท่านั้นแหละครับ ความบ้าก็เริ่มขึ้นอย่างเต็มที่ พวกเขาเล่นได้อย่างสะใจจริงๆครับ โดยที่เน้นไปที่เพลงจากอัลบั้มใหม่ๆมากกว่าจะเอาเพลงยุคแรกมาเล่น แม้แฟนดั้งเดิมอย่างผมจะผิดหวังเล็กน้อย แต่ก็ดีที่วงกล้ามองไปข้างหน้ามากกว่าขายของเก่ากินครับ เพลงอย่าง Battle for the Sun หรือ Breathe Underwater กูกระหน่ำเล่นอย่างเมามัน ก่อนจะมาย้อนยึบ้างด้วยเพลงอย่าง Every Me, Every You หรือ Special K จากงานชุดเก่า แต่กลับไม่มีเพลงจากงานชุดแรกๆเลยครับ แต่ก็มันสะใจจริงๆครับ พวกเขาทำให้คนดูสนุกได้อย่างเต็มที่จริงๆ ก่อนที่จะลาจากกันไปแบบไม่มีอังกอร์ แต่พวกเราก็สนุกสะใจกันแบบเหงื่อท่วมตัวไปเรียบร้อยแล้ว ที่น่าเบื่อคือ พวกการ์ดที่เดินมาห้ามถ่ายรูปเกือบตลอด  ไม่รู้จะอะไรนักหนาIMG_5030_resize

ปิดด้วยวงสุดท้ายคือ Paradox มาร่วมแจมกับ Suharit ครับ ศิลปินทั้งสองขึ้นชื่อเรื่องความหลุดโลกอยู่แล้ว จึงไม่แปลกอะไรที่จะเอาความบ้าเต็มสูบมาฝากกันอย่างสนุกสนาน ผมเองก็เป็นแฟน Paradox อยู่แล้ว เลยได้ฟังเพลินๆ มานั่งนึกอีกที อายุวงนี้พอๆกับ Modern Dog เลยนะครับ ผมอยู่ดูพวกเขาไปจนกลางเช็ต ก็ต้องขอตัวก่อน ไม่งั้นหาแทกซี่ยากมากๆครับ แต่ก็เป็นคืนที่ได้สนุกอย่างชื่นมื่นกลางฤดูร้อนจริงๆครับ คราวนี้ก็รอต่อไปว่าปีหน้าเบียร์ Tiger จะเอาอะไรมาฝากพวกเราครับ

IMG_5065_resize

Monday, March 15, 2010

Delphic เมื่อร๊อคมาเจอแดนซ์

Technorati Tags: ,

การเอาเพลงร๊อคมาผสมกับเพลงเต้นรำมักจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ศิลปินหลายรายพยายามจะลองมาตลอด แม้หลายวงจะทำได้สำเร็จอย่างยอดเยี่ยม เช่น Enter Shikari หรือ Hadouken! (ชุดแรก) แต่หลายต่อหลายวงก็ล้มเหลวอย่างน่าอนาถเช่นกัน และวงหน้าใหม่อีกวงหนึ่งที่พร้อมจะเสี่ยงกับความเสี่ยงนี้คือ Delphic นั่นเอง

delphic_3

พวกเขาคือวงเต้นรำหัวก้าวหน้าจาก Stockport ประเทศอังกฤษ ที่ผสมดนตรีร๊อคเข้าไปในวงดนตรีของพวกเขา ออกมาได้อย่างลงตัวจริงๆ พวกเขาเริ่มสร้างชื่อเสียงในอังกฤษตั้งแต่ช่วงกลางค่อนปลายปีที่แล้วในอังกฤษ ด้วยการออกผลงานเพลงชิ้นแรก Counterpoint ที่เป็นเพลงเต้นรำที่มีเสียงซินธิไซเซอร์ไล่เลียงไปตลอดทั้งเพลงอย่างงดงาม และชวนให้ได้บรรยากาศของการนั่งดูแสงของดาวดาราระยิบระยับบนฟ้า บวกกับเสียงร้องแสนเพราะ ทำให้เป็นเพลงที่ลืมไม่ลงจริงๆ พวกเขาออก This Momentary ซิงเกิ้ลต่อมากับค่าย Kitsune ที่ก็ยังเป็นเพลงเต้นรำที่เจอความเป็นดนตรีร๊อคลงไปด้วยตามถนัดและมันก็อลังการไม่แพ้กาฬทวีปเลยทีเดียว อีกซิงเกิ้ลที่ตามมาอย่าง Doubt ก็ผสมสัดส่วนของเพลงต้นรำ ร๊อค และความเป็นป๊อปแบบยุค ’80 ได้ลงตัวจริงๆ โดยเฉพาะท่อนฮุคที่ติดหูสุดๆ

และเมื่อพวกเขาออกอัลบั้มเต็ม Acolyte ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มันก็ทำยอดขายได้เป็นอย่างดีด้วยแรงหนุนจากซิงเกิ้ลที่ผ่านมา และพวกเขายังตัด Halcyon เพลงสุดเด่นจากอัลบั้มมาเป็นซิงเกิ้ลที่ 4 มันคือเพลงที่มีบรรยากาศความเป็นป๊อปที่สุดแสนจะลงตัว บวกด้วยเสียงร้อง อ่า ฮ้า ฮา ที่สุดแสนจะติดหู จนทำให้นึกไปถึง Kiss of Life ของ Friendly Fires ยอดเยี่ยมไม่แพ้กันเลย แต่มันก็ยังมีท่อนโซโล่กีตาร์สุดมันส์แบบลืมไม่ลงจริงๆ นอกจากนี้แล้ว Acolyte ยังมีเพลงเด่นอื่นๆอีกอย่างเช่นเพลง Remain ปิดอัลบั้มที่ไล่เรียงบรรยากาศได้อย่างงดงามไม่ต่างจากการดูพระอาทิตย์ลับฟ้าที่ชายหาดเลยครับ Delphic คือวงที่น่าจับตามองที่สุดอีกวงหนึ่งของปีนี้จริงๆครับ

Holly Miranda หญิงเดี่ยวมาแรง

Technorati Tags: ,

holly miranda miranda

Holly  Miranda สาวน้อยที่ดูจากปกและชื่ออัลบั้มแล้ว อาจจะนึกว่าเป็นเพลงโฟลค์ฟังสบาย ชวนฝัน แต่จริงๆแล้ว เธอคือศิลปินสาวรุ่นใหม่มาแรงที่ผสมผสานดนตรีหลากแนวเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นป๊อป ร๊อค และอิเล็ดโทรนิกส์ ที่งดงามอย่างลงตัวจริงๆ

เธอเติบโตมาทางมิชิแกนและเทนเนสซี่ โดยเริ่มเรียนเปียโนเป็นเครื่องดนตรีแรกก่อนที่จะขยับขยายไปทางกีตาร์และทรัมเป็ตเพิ่มขึ้น เธอออกผลงานเดี่ยวชุดแรก High Above The City ในปี 2001 ซึ่งมีจำหน่ายเวลาเธอแสดงสดเท่านั้น ก่อนจะไปตั้งโปรเจคต์ The Jealous Girlfriends กับเพื่อน และก็ยังแกผลงานเดี่ยวในนาม Raven Mayhem อีกด้วย

แม้จะโตมาทางมิชิแกนและเทนเนสซี่ เธอใช้เวลาช่วงโตแล้วในนิวยอร์กซะมากกว่า และเป็นโอกาศให้เธอได้รู้จักกับโปรดิวเซอร์ระดับมือทองอย่าง Dave Sitek จาก TV on the Radio ที่ฮิปสุดๆ แต่เธอก็ไม่ได้คิดจะทำงานเพลงของตัวเอง เอาแต่ทำงานเพลงให้คนอื่นเป็นหลักซะมากกว่า

แต่ Dave ก็ไม่ยอมปล่อยเพชรในมือไป เมื่อเขาเอาผลงานของเธอมาลองฟังดู มันกลับเป็นงานที่ยอดเยี่ยมมาก จนเขาตัดสินใจผลักดันเธอให้เดินหน้ากับผลงานของตัวเอง และหลังจากการอดตาหลับขับตานอนทำงานของพวกเขา ก็กลายมาเป็นอัลบั้ม The Magician’s Private Library จากค่ายสุดเท่อย่าง XL Records ที่หลายเพลงมีเนื้อหาเกี่ยวกับการนอนหลับ คงจะอยากนอนเต็มที่ตอนทำผลงานชิ้นนี้

The Magician’s Private Library นั้นสมกับชื่อมันจริงๆ เพราะมันคือห้องสมุดส่วนตัวของพ่อมดที่เก็บเสียงสารพัดสารพันไว้ให้เราได้ทึ่งจริงๆ นอกจากเสียงแปลก หลอนๆตามแนวการโปรดิวซ์ของ Dave Sitek แล้ว เสียงร้องแบบลึกลับของเธอนั้นก็ทำให้บรรยากาศของเพลงนั้นมันชวนล่องลอยเหมือนกับโลกแห่งเวทย์มนต์จริงๆ เพลงอย่าง No One Just Is ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานอย่างลงตัวของเคมีทางตัวโน้ต เช่นเดียวกับ Forest Green, Oh Forest Green ส่วนเพลงน่ารักอย่าง Everytime I Go To Sleep ก็ฟังได้เพลินไม่แพ้กัน ส่วน Slow Burn Treason ที่ได้ Kyp Maolne จาก TV on the Radio มาร่วมร้องด้วยอาจจะฟังเหมือนโปรเจคต์ใหม่ของพวกเขามากกว่า แต่มันก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กันจริงๆ กลายเป็นงานเปิดตัวในวงกว้างที่ยอดเยี่ยมของแม่สาวคนนี้ไปเลย ถึงขนาดที่ว่า จอมหยิ่งอย่าง Kanye West ยังต้องเอ่ยปากชมเธออย่างเต็มใจ ใครอยากลองหามาฟังให้ล่องลอยดูบ้างก็เชิญเลยครับ

Monday, March 8, 2010

Layne Staley ความตาย และการจุติใหม่ของ Alice in Chains

วันนี้ จะขอเขียนเรื่องส่วนตัวอีกซักหน่อย เนื่องจากเมื่อสองเดือนก่อน แผ่นซีดีที่มาส่งที่สำนักงานผมตามปกติ ทำให้ผมถึงกับงง เมื่อมันคือแผ่นของวง Alice in Chains ทำให้ผมต้องเช็คอีกรอบว่ามันใช่วงๆเดียวกับวงกรันจ์ระดับตำนานที่ผมฟังมาตั้งแต่สมัยกางเกงขาสั้น หัวเกรียนรึเปล่า ที่ผมงงถึงขนาดนั้นก็เป็นเพราะว่า Alice in Chains น่าจะจบไปตั้งแต่การตายของนักร้องนำที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์ของวงอย่าง Layne Staley เมื่อปี 2002 แล้ว

staley_1

ที่ผมบอกว่าส่วนตัว ก็เป็นเพราะว่า Alice in Chains คือวงที่ผมชอบฟังตั้งแต่สมัยเริ่มฟังเพลงร๊อคสากลใหม่ๆเมื่อตอนเรียนม.ต้น และสิ่งที่ทำให้ผมชอบในวงนี้มากคือ เสียงร้องที่มีรูปแบบเฉพาะไม่เหมือนใครของ Layne Staley ที่ต่างกับศิลปินคนอื่นที่ผมเคยฟัง และเสียงกีตาร์ยานๆหน่วงๆหลอนๆของ Jerry Cantrell ทำให้ผมติดฟังวงนี้ได้อย่างไม่รู้เบื่อจริงๆ

Layne Staley เป็นเจ้าของอีกเสียงหนึ่งที่แสนเศร้า แม้การร้องของเขาจะเต็มไปด้วยการแผดเสียงออกมาอย่างก้าวร้าวไม่ต่างกับการตะโกนร้องของวิญญาณที่บ้าคลั่ง แต่ในวิญญาณที่บ้าคลั่งนั้น กลับมีเสียงร้องไห้อย่างเศร้าโศกของเด็กชายตัวน้อยเจืออยู่ด้วย

Layne Staley Layne เติบโตมาตามรูปแบบมาตราฐานของร๊อคเกอร์ขี้ยาในยุค ’90 พ่อแม่ของเขาแยกทางกันตั้งแต่เขายังเด็ก และแม้เขาจะเติบโตมากับแม่ แต่ข่าวคราวเรื่องการติดยาของพ่อเขาก็ยังหลอกหลอนเขาอยู่ แม้จะมีคนบอกว่าพ่อเขาตายไปแล้ว แต่เขาก็ไม่เชื่อ และหวังว่า ถ้าเขาดังขึ้นมา พ่อคงจะมาหาเขาสักวัน แต่อย่างน้อย เขาก็ไม่โทษการแยกกันของพ่อแม่ของเขาว่าเป็นสาเหตุของการเล่นยาอย่างหนักของเขา

เขาเริ่มรวบรวมเพื่อนฝูงเพื่อตั้งวงดนตรี และหลังจากเปลี่ยนมาหลายแนว และหลายชื่อ พวกเขาก็มาลงตัวกับชื่อ Alice in Chains และแนวดนตรีกรันจ์ ที่จะครอบครองโลกยุคปี ’90 ต่อมา หลังจาก Nirvana ได้เป็นตัวจุดระเบิดให้กับเพลงกรันจ์จนดังไปทั่ววงการแล้ว วงแนวเดียวกันอีกหลายวงก็ได้โด่งดังขึ้นมากับกระแสกรันจ์ แต่มีเพียงไม่กี่วงเท่านั้นที่ยังคงยืนหยัดในวงการจนถึงทุกวันนี้ สาเหตุเพราะว่านอกจากการเสื่อมความนิยมของแนวเพลงทำให้พวกที่ไม่ใช่ตัวจริงต้องหายตัวไปแล้ว กรันจ์คือแนวเพลงของคนมีปัญหาที่พร้อมจะทำร้ายตัวเองอยู่เสมอไม่ว่าจะทางใดก็ทางหนึ่ง ทำให้เราเสียศิลปินไปอยู่เรื่อยๆ และ Layne ก็ต่อคิวเตรียมเดินทางไปตามเพื่อนร่วมรุ่น ด้วยพฤติกรรมการเล่นยาเสพติดอย่างไม่เพลามือของเขา

Alice in Chains Alice in Chains สร้างชื่อกับผลงานชิ้นแรกอย่าง Facelift ในปี 1990 ที่มีเพลงดังอย่าง Man in the Box ที่ดังถึงขนาดวงหัวดำยังเอามาทำใหม่เลย และพวกเขาก็กลายเป็นวงระดับหัวแถวเมื่ออกผลงานชุดที่สองที่ชื่อ Dirt ในปี 1992 ที่ได้รับทั้งเงินทั้งกล่องอย่างงดงาม เพราะนอกจากมันจะแน่นไปด้วยเพลงเจ๋งๆอย่าง Rooster, Angry Chair หรือ Down in the Hole บวกกับมันเป็นช่วงพีคของกระแสกรันจ์ ทำให้พวกเขาฉายแสงอย่างงดงาม แต่ในแสงสว่างนั้น เงาแห่งความมืดก็แอบอิงอยู่ไม่ห่างจากมันนัก Layne มีปัญหาติดยาอย่างรุนแรง แม้อัลบั้มจะขายดี แต่พวกเขาก็ออกทัวร์ได้น้อยมาก เพราะปัญหาดังกล่าว

งานชุดที่สามที่ใช้ชื่อเดียวกับวงก็ประสบความสำเร็จเช่นเคย แต่กลับไม่มีการออกทัวร์ ทำให้คนเริ่มเป็นห่วงเรื่องปัญหายาเสพติดของ Layne มากขึ้น และเขาก็เริ่มจมดิ่งลงเรื่อยๆจากความตายของคู่หมั้นของเขา ไม่ยอมไปไหนและฝังตัวเล่นยาตลอด เขาเริ่มให้สัมภาษณ์ยอมรับปัญหาของเขา และรู้ตัวว่าเริ่มใกล้ตายแล้ว แม้วงจะไม่แตก แต่ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรเลยNoneในปี 2002 ศพที่เต็มไปด้วยเฮโรอิน และโคเคนในกระแสเลือดของเขาถูกพบในคอนโดของ จบชีวิตศิลปินดังของยุค ’90 ไปอีกคนด้วยการตายจากยาเสพติดอีกแล้ว ในที่สุด เด็กน้อยแสนเศร้าในร่างผู้ใหญ่ก็อาจจะได้ไปพบกับพ่อที่เขาตามหามาตลอดชีวิตแล้วก็ได้ ปิดฉากตำนานของเสียงที่มีเอกลักษณ์ของเขาไปอย่างน่าเสียดาย ผมยังจำได้ว่าตอนที่ได้ยินข่าวนี้และเอาเพลง Another Brick in the Wall ที่เขาเอามาร่วมทำใหม่กับศิลปินคนอื่น มาฟัง ยังต้องน้ำตาคลอเลยทีเดียว

ยังดีที่เพื่อนๆของเขาไม่ยอมล้มเลิก ยังพยายามสานต่อตำนานของ Alice in Chains ที่ควรจะได้รับคำชมมากกว่านี้ หลังจากยุบวงไปช่วงหนึ่ง พวกเขาดึงเอา William DuVall เข้ามาแทน Layne และก็ได้ออกอัลบั้ม Black Gives Way to Blue ในปี 2009 ที่กลายเป็นความสำเร็จอย่างงดงามเกินคาด แม้จะขาดเสียงที่สัญลักษณ์ของวงไป แต่ William ก็มาทำหน้าที่แทนได้อย่างลงตัว เสียงกีตาร์ของ Jerry Cantrell ยังคงโดดเด่นเช่นเคย และมันก็เป็นอัลบั้มที่สมควรได้รับคำชมจริงๆ เพลงเด่นๆอย่าง Your Decision และ When The Sun Rose Againก็งดงาม ส่วนเพลงที่หนักหน่วงอย่าง Check My Brain ยังคงแนวเพลงของพวกเขาไว้ได้อย่างดี สานต่อตำนานที่หยุดนี่งไปเกือบ 15 ปีของพวกเขาได้อย่างลงตัว หวังว่า Layne คงจะมีความสุขในโลกหน้าถ้าได้ฟังอัลบั้มนี้

Monday, March 1, 2010

Owen Pallett: หนุ่มอัจฉริยะเครื่องสาย

ในวงการเพลง ก็จะมีอัจฉริยะรุ่นใหม่ของแต่ละด้านจุติขึ้นมาในวงการเรื่อยๆ และแต่ละคนก็มักจะมีสไตล์ในแบบของตัวเอง และ Owen Pallett คนนี้ ก็ได้รับคำยกย่องในฐานะอัจฉริยะของเครื่องสายโดยเฉพาะไวโอลิน แค่เอ่ยชื่อของเขาขึ้นมา หลายคนอาจจะยังงงๆ แต่ให้ผมแนะนำเกี่ยวกับเขาก่อนเถอะครับ แล้วคุณจะหายสงสัยว่าทำไมเขาถึงถูกเรียกเช่นนั้น

Owne Pallett เกิดในครอบครัวของนักเล่นออร์แกนในโบสถ์ในแคนาดา และนั่นปูพื้นความรู้ดนตรีคลาสสิกให้กับเขามาตั้งแต่แบเบาะ และเขาก็เริ่มเรียนไวโอลินคลาสสิกตั้งแต่เล็ก จนเก่งถึงขนาดประพันธ์เพลงได้ด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 13 เขารับทำงานเพลงให้กับเกมตั้งแต่วัยรุ่น และยังทำเพลงประกอบโอเปร่าอีกสองชิ้นตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย เรียกได้ว่าเห็นแววเจริญแต่เด็กแล้ว

pallett_latest

เขาเริ่มหันมาแต่งเพลงอินดี้ในแบบของเขา นั่นคือการผสมบรรยากาศเพลงอินดี้เข้ากับดนตรีคลาสสิกโดยใช้เครื่องสายเป็นตัวนำ และเริ่มเข้าวงการในนาม Les Mouches (ต้องขอโทษด้วยที่หารายละเอียดไม่ได้ครับ) และก็ไปร่วมงานกับ Jim Guthrie แล้วก็วง The Hidden Cameras วงอินดี้มากสมาชิกอีกวงจากแคนาดา แต่ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการเมื่อไปเล่นไวโอลินและเรียบเรียงเครื่องสายให้กับวง The Arcade Fire วงร๊อคจากแคนาดาที่ดังไปทั่ววงการในผลงานเปิดตัว Funeral ส่วนผมรู้จักเขาเป็นครั้งแรกเมื่อไปร่วมทำเพลง Black History Month ใหม่กับ Death from Above 1979 ในอัลบั้มรีมิกซ์และรีเมคของ DFA1979 และมันก็เป็นเพลงที่น่าทึ่งเมื่อเพิ่มเสียงไวโอลินที่ทั้งหวานทั้งอลังการให้กับเพลงที่ทรงพลังอย่าง BHM ทำให้มันทรงพลังมากยิ่งขึ้น ไปกว่าเดิม และนั่นก็เป็นครั้งแรกที่นามแฝง Final Fantasy ของเขามาเข้าตาผม

สำหรับแฟนเพลงที่ไม่สนใจวงการเกมอาจจะงงว่ามันคืออะไร Final Fantasy คือเกม RPG ชื่อดังที่ขายมายาวนาน และเป็นเกมในดวงใจของ Owen ทำให้เขาเลือกเอามาเป็นนามแฝง อิทธิพลของเกมที่มีผลต่อดนตรีของเขายังไม่จบเท่านี้ครับffantasy_PIC01

เขาเริ่มออกอัลบั้มในนาม Final Fantasy อย่างเป็นทางการหลังจากสร้างชื่อกับโปรเจ็คต์ต่างๆ และผลงานชุดแรกในนามนี้คือ อัลบั้ม Has A Good Home ในปี 2005 ที่ แน่นอนว่าแนวเพลงคือการผสมดนตรีอินดี้เข้ากับดนตรีคลาสสิคอย่างที่เขาถนัด โดยมีเสียงร้องนิ่มๆของเขามาเป็นส่วนประกอบที่ลงตัวอย่างน่าทึ่ง แต่ละเพลงสามารถทำให้เรารู้สึกอบอุ่นเหมือนกับการอาบแดดในฤดูใบไม้ผลิ หรือนอนหลับในอ้อมกอดของสาวคนรักได้เลยทีเดียว เพลงที่งดงามไร้ที่ติอย่าง This is the Dream of Win & Reg นั้นจะติดตรึงอยู่ในเซลล์สมองของเราได้ตั้งแต่แรกฟัง (Win และ Reg หมายถึง Win Butler และ Regina Chassagne จาก The Arcade Fire) ส่วน An Arrow in the Side of Final Fantasy ที่หยิบยืมทำนองจากเกมมาริโอก็เยี่ยมไม่แพ้กัน แม้จะเป็นอัลบั้มเปิดตัวของเด็กหนุ่มคนนี้ แต่มันก็ทำให้เรารู้ถึงอัจริยภาพของหนุ่มน้อยคนนี้ในการเรียบเรียงดนตรีระดับเซียน แนวเพลงของเขามันต่างไปจากคนอื่นอย่างชัดเจนเนื่องจากรากดนตรีคลาสสิกในตัวเขา

FINAL FANTASY 1.jpg

นอกจากเกมแฟมิคอมที่มีอิทธิพลต่อดนตรีของเขาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากคือเพศของเขา เขาเปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์และบอกว่ามันมีอิทธิพลต่อเพลงของเขาในแง่ของดนตรี ไม่ใช่ด้านเนื้อหา

ในปี 2006 เขาก็ออกงานต่อมาชื่อ He Poos Cloud ที่เนื้อหาโดยมาอิงกับเกม Zelda และเกมกระดาน และมันกลายเป็นงานสร้างชื่อให้เขาเมื่อมันได้รับรางวัล Polaris Music Award ในแคนาดา ทั้งอัลบั้มยังคงได้รับการเรียบเรียงอย่างละเอียดอ่อนและงดงามวิจิต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเพลง The Arctic Circle หรือ I'm Afraid of Japan กระทั่งเพลงสั้นๆอย่าง →

Final Fantasy

หลังจากสร้างชื่อแล้ว เขาก็ยังไปร่วมงานกับอีกหลากศิลปินเช่น Holy Fuck, Fucked Up, The Last Shadow Puppets รวมไปถึงเพื่อนร่วมแนวอย่าง Patrick Wolf และ Beirut (ที่เรียบเรียงเครื่องสายได้งามไม่แพ้กัน) จนมาถึงปีนี้ที่เขาตัดสินใจออกอัลบั้มที่ 3 โดยทิ้งชื่อ Final Fantasy ที่จะคอยทำให้คนสับสนกับเกมชื่อดัง หันมาใช้ชื่อจริง Owen Pallett อย่างเป็นทางการ และเป็นอัลบั้มที่ชื่อ Heartland

ซึ่งมันก็ยังเป็นอัลบั้มที่เต็มไปด้วยเพลงที่ได้รับการเรียบเรียงอย่างงดงามเช่นเคย และยังเพิ่มโทนเพลงที่แปลกใหม่ขึ้นมาอีก เช่น Keep The Dog Quiet ที่มีเครื่องสายให้บรรยากาศลึกลับไม่ต่างจากหนังนักสืบนัวร์ หรือ Lewis Takes Action เหมือนเพลงประกอบหนังยุค ’80 แต่กลับมีเนื้อหาที่โหดร้ายอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วน Lewis Takes Off His Shirt ก็เป็นเพลงที่รวดเร็วกว่าที่เคยมีมามาก แม้จะทดลองหลายอย่าง แต่เขาก็ยังไม่ลืมความงดงามแบบเคยใน Oh Heartland, Up Yours! และ What Do You Think Will Happen Now? ที่ยังเรียบง่ายเหมือนเดิม

และแน่นอนครับ อัลบั้มดีๆแบบนี้ Platinum ก็ได้เอาเข้ามาจำหน่ายให้เราได้ฟังกันอีกแล้วครับ ลองไปหามันฟังให้เพลินๆลองดูแล้วกันครับ