Monday, August 5, 2013

Editors: กลับมาพร้อมกับเสียงใหม่

ในวงการเพลงอังกฤษ มีหลายวงที่ได้รับอิทธิพลจาก Joy Division วงดนตรีที่บุกเบิกแนวทางเพลงโพสต์พังค์ พร้อมกับภาพลักษณ์ของชายหนุ่มผู้เกรี้ยวกราด Editors เองก็เป็นอีกวงที่ได้รับอิทธิพลจาก Joy Division เช่นกัน แต่พวกเขาก็เองก็ได้หยุดอยู่กับซาวด์เดิมซ้ำไปมาเหมือนอีกหลายวง แค่พวกเขาเลือกที่จะสร้างเสียงใหม่ๆให้กับเพลงของพวกเขาเอง

96943e84

Editors คือการรวมตัวกันของนักศึกษาด้านเทคโนโลยีดนตรีของมหาวิทยาลัย Staffordshire โดยใช้ชื่อแรกว่า Pilot ก่อนจะเปลี่ยนเป็น The Pride, Snowfield และเริ่มออกผลงานในระดับอินดี้ ก่อนสุดท้ายจะมาลงตัวที่ Editors (ใช้อะไรคิดในการตั้งแต่ละชื่อกันนี่) โดยไลน์อัพคือ Tom Smith (ทอม ร้องนำ กีตาร์) Chirs Urbanowicz (คริส กีตาร์ ซินธ์) Russell Leetch (รัซเซล เบส) และ Ed Lay (เอ็ด กลอง)

หลังจากจบจากมหาวิทยาลัย พวกเขาทำงานพิเศษเลี้ยงตัวเองไปพลางๆเพื่อทำงานเพลง จนได้เพลง Bullets ที่พวกเขาส่งออกไปยังสารพัดค่ายเพลง จนค่าย Kitchenware ก็ได้ลายเซ็นพวกเขาไป และตอนนั้นเองที่พวกเขาเปลี่ยนชื่อวงเป็น Editors

และก็เป็นเพลง Bullets นั่นเอง ที่กลายเป็นซิงเกิ้ลแรกของพวกเขาซึ่งออกวางขายในปี 2005 ซึ่งซิงเกิ้ลเพลงกีตาร์ร๊อคเรียบๆแต่เปี่ยมไปด้วยพลังนี้ก็ได้ทำให้ชื่อของพวกเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น มันคือการอัดพลังของคนหนุ่มเข้าไปในเพลงอย่างเต็มสูบจริงๆ

พวกเขาออกซิงเกิ้ลที่สอง Munich และมันก็กลายเป็นเพลงดังติดชาร์ตทันที พวกเขาได้รับโอกาสเซ็นสัญญากับค่ายโซนี่ และขายตั๋วทัวร์ในอังกฤษหมดเกลี้ยง Munich คืออีกเพลงที่จริงจังเหลือเกิน เสียงร้องของทอม ทำให้เรานึกไปถึง Ian Curtis ได้ทันทีจริงๆ ยิ่งส่วนของดนตรีที่เร็วขึ้นบวกกับเสียงกีตาร์ที่แทรกมาเป็นจังหวะ จึงอดกลัวไม่ได้ว่าพวกเขาจะกลายเป็นวงโคลนนิ่งของ Joy Division ไป โดยอีกกระแสหนึ่งก็ว่าพวกเขาขโมย Interpol มา แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่า Munich นั้นเป็นเพลงที่ยอดเยี่ยมจริงๆ

ในที่สุด อัลบั้มแรก The Back Room ก็ออกวางขายในปี 2005 นั่นเอง และมันก็เป็นอัลบั้มที่ได้ทั้งเงินทั้งกล่องคู่กันไป และทำให้เราโล่งใจได้ว่าพวกเขาไม่ใช่แค่โคลนของวงรุ่นพี่ แม้จะได้อิทธิพลมา แต่พวกเขาก็มีลายเซ็นของพวกเขาเองด้วยการทำเพลงร๊อคบนจังหวะที่เร็วจนเกือบเป็นเพลงเต้นรำ กับบรรยากาศความหม่นหมองในเพลงในแบบของพวกเขา อีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือซิงเกิ้ลต่อมาอย่าง Blood ที่จังหวะสับแบบไม่หยุดทั้งเพลง เช่นเดียวกับเพลงโปรดของผม Fingers in the Factories ที่กล่าวถึงชีวิตคนงานได้อย่างถึงใจ บวกกับท่อนฮุคที่โคตรติดหูในแบบเดียวกับเพลง Sunday Bloody Sunday ทำให้ได้ใจแฟนๆไปเต็ม อีกซิงเกิ้ลอย่าง All Sparks ก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ในขณะเพลงช้าอย่าง Fall ที่เกี่ยวกับคนรักที่ตายในอุบัติเหตุก็เรียกน้ำตาจากเราได้เสมอ

The Back Room คือความสำเร็จอย่างงดงามของพวกเขา มันคือหนึ่งในอัลบั้มเปิดตัวที่ยอดเยี่ยมของยุค 2000 นี้เลยทีเดียว นอกจากจะได้ชิงรางวัล Mercury แล้ว พวกเขายังได้เล่นในเทศกาลดนตรีดังๆเกือบทุกที่อีกด้วย เรียกได้ว่าพวกเขาแจ้งเกิดได้อย่างโดเด่นเหลือเกิน

2815723e

หลังสั่งสมประสบการณ์ พวกเขากลับมาในปี 2007ด้วยซิงเกิ้ล Smokers outside the Hospital Doors เพลงร๊อคหม่นๆเกี่ยวกับความตายอีกแล้ว แต่โทนของเพลงนั้น ไม่เร็วเหมือนเก่า แต่กลับออกไปทางอลังการมากกว่า ซึ่งก็จะกลายเป็นโทนของดนตรีในอัลบั้มที่สอง An End Has A Start ที่แม้จะมีเพลงเร็วเหมือนเก่าอย่าง Bones อยู่บ้าง แต่โดยรวมมันก็เป็นอัลบั้มที่หม่นกว่าเดิม แต่ก็อลังการกว่าเดิมด้วย เพลงอย่าง The Weight of The World และ Spiders เป็นข้อพิสูจน์เป็นอย่างดี แม้มันจะไม่ร๊อคเหมือนเก่าแต่มันก็ชนะใจแฟนวงกว้าง จนขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งทันทีที่วางขาย

และสำหรับการกลับมาในปีนี้ พวกเขาเลือกเปลี่ยนแนวเพลงหันไปหาเสียงสังเคราะห์มากขึ้น จนออกมาเป็นอัลบั้ม In This Light And On This Evening ที่สุดยอดจริงๆ เพราะแม้แนวเพลงจะเปลี่ยน เสียงกีตาร์ถูกแทนด้วยเสียงซินธ์ แต่ความยอดเยี่ยมของมันไม่ได้ลดน้อยลงเลย มันเป็นเหมือนการนัดหมายกับ The Horrors มาทำเพลงแนวเดียวกัน และมันก็เจ๋งทั้งคู่จริง ซิงเกิ้ลอย่าง Papillon ก็อบอวลไปด้วยเสียงสังเคราะห์ ส่วน Bricks And Mortar ก็เหมือนกับ Whole New Way ของ The Horrors จนเลือกไม่ถูกว่าใครเข๋งกว่ากัน มันคือ Kraftwerkในวันที่มีน้ำตาดีๆนี่เอง ส่วน Eat Raw Meat = Blood Drool ก็มีบีตขนาดมหึมา ส่วน You Don't Know Love ก็ยังมีความเกรี้ยวกราดอยู่ในตัวมันเช่นกันแม้ว่าจะเป็นเพลงเต้นรำไปแล้ว

11512bb3

In This Light and on This Evening เป็นก้าวที่อาจหาญมากๆของพวกเขา เพราะมันการการโยนสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาเองทิ้งไป แล้วนำเอาสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมมากเข้ามา แม้แฟนหลายคนจะรับไม่ได้จนแทบจะหย่าขาดจากวง แต่ต้องชมความกล้าของพวกเขาจริงๆ

แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็คงมองว่ามันคือก้าวที่พลาด ในผลงานชุดที่ 4 ชื่อ The Weight of Your Love พวกเขาจึงเลือกกลับไปหากีตาร์มาผสมกับเสียงซินธ์ แต่ความเกรี้ยวกราดดุเดือดแบบของพวกเขาก็หายไป อาจเป็นเพราะวัยที่มากขึ้น แต่พวกเขาก็ชดเชยด้วยความอลังการของงานเพลง ซาวด์ของเพลงจึงคล้ายกับ U2 ในยุค 80 ที่ผสมกับหม่นของกอธเข้าไป เสียงร้องของ Tom ไม่ได้แหกปากแผดร้อง แต่เขาครวญเพลงอย่างละเมียดมากขึ้น จนบางครั้งเล่นเอาเราลืมสไตล์เดิมของเขาเลย ตัวอย่างหนึ่งคือเพลง What Is This Thing Called Love ที่เขาครวญเพลงช้าๆ นิ่มนวล แบบที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อน ในขณะที่ A Ton of Love นั้น ตอนที่เขาร้องซ้ำไปมาว่า Desire ทำให้เรานึกไปถึง Bono จริงๆ ส่วน Formaldehyde ก็เป็นเพลงที่พ๊อพขึ้นมา ด้วยเบสไลน์ที่ไหลลื่นแบบ Joy Division และตัวเพลงชวนให้โยกตามจริงๆ อีกสองเพลงเด่นที่อดจะกล่าวถึงไม่ได้ คือเปิดอัลบั้มทั้ง The Weight ที่ปูให้เราเข้าใจว่า แนวเพลงของอัลบั้มชุดนี้จะเป็นเช่นไรด้วยทำนองที่ช้าลง และเสียงประสานราวกับกำลังทำเพลงอยู่ในโรงละคร ขณะที่ Sugar ก็แน่นด้วยเสียงบีทสังเคราะห์หนักหน่วง และโทนเพลงที่หม่นและลึกลับ โดดเด่นไม่แพ้กัน แม้แนวทางเพลงของพวกเขาจะต่างไปจากเดิมมาก แต่มันก็ยังมีกลิ่นของ Editors ผสมอยู่ไม่น้อย

Editors คือวงที่เริ่มต้นด้วยการทำเพลงตามแนวทางของรุ่นพี่ แต่นับวัน พวกเขาก็ยิ่งเดินห่างจากแนวทางเดิมๆของตัวเอง แม้มันจะเป็นตัวเบิกทางให้ประสบความสำเร็จมากก่อน ต้องขอยกย่องความกล้าในการหาแนวทางเพลงใหม่ๆไม่ย่ำอยู่กับที่ของพวกเขา

No comments: