Monday, July 8, 2013

ถวิลหา กับการวัฒนธรรมคอนเสิร์ต

ช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมสะดุดสายตากับโฆษณาใหญ่ยักษ์อันหนึ่ง ที่สถานีรถไฟใต้ดินเพชรบุรี ที่สะดุดตา เพราะมันคือโฆษณาโปรโมตคอนเสิร์ตที่ชื่อว่า Reunion เป็นการรวมตัวกันจัดคอนเสิร์ตของนักร้องเพลงพ๊อพที่ดังในช่วงสิบกว่าปีที่แล้วของค่ายเพลงใหญ่ของเมืองไทย

music-lights-live-concert-club

ที่สะดุดเพราะเล่นเอาผมคิดขึ้นมาในสมองทันทีว่า “อีกแล้วเหรอ” เพราะช่วงหลายที่ผ่านมา คอนเสิร์ตใหญ่ๆในบ้านเราหลายต่อหลายครั้ง แทนที่จะเป็นศิลปินที่ดังอยู่ในตอนนี้ กลับเป็นคอนเสิร์ตรวมศิลปินรุ่นเก่า ที่ออกมาโยกย้ายส่วนสะโพกให้ให้แฟนๆรุ่นใหญ่ได้ตื่นเต้นกัน (ใช้คำว่ารุ่นใหญ่อาจจะโดนรุมกระทืบได้)

เท่าที่สังเกตคือ คอนเสิร์ตแนวถวิลหาทั้งหลายนี้ ต่างตั้งเป้าไปที่วัยเคยรุ่น ผู้ซึ่งเคยสนุกกับบทเพลงเหล่านี้ ในสมัยที่ยังวัยรุ่น และตอนนี้ เริ่มเป็นผู้ใหญ่ มีงานมีการทำ มีรายได้ของตัวเอง เพราะตลาดพวกนี้โดยมาคือคนที่อายุ 25 ปีขึ้นไปถึงเกือบ 40 ปี จึงเป็นกลุ่มที่มีรายจ่ายเพียงที่ที่จะทุ่มเงินซื้อความสนุกแบบนี้ได้เต็มที่ ไม่ต้องโวยวายขอเงินพ่อแม่ให้ลำบาก กลายเป็นทาร์เก็ตใหญ่ของวงการเพลงไทยไปเสีย ค่ายเพลงก็เข้าใจครับ จัดมาให้หนำใจเลย เพิ่ง 6-2-13 หมาดๆ ก็มี รียูเนี่ยนต่อ เรียกได้ว่า ขนมาให้ได้กรี้ดกันเต็มสูบ

แต่ที่น่าแปลกใจคือ เวลามีคอนเสิร์ตใหญ่แบบนี้ ตั๋วขายดีมาก จนจัดแล้วจัดอีกทั้งสองค่ายใหญ่ไทย (บางทีแอบคิดว่า เค้าไม่พยายามปั้นศิลปินใหม่ เหมือนกับที่ทุ่มแรงจัดคอนเสิร์ตรุ่นใหญ่แบบนี้เลย) คนดูก็แห่ไปดูกันเต็ม แต่ กลับไม่มีแผ่นหรือผลงานของศิลปินเหล่านั้นกลับมาขายในตลาดเท่าไหร่ ลองดูสิครับว่า ยังหาอัลบั้มเพลงของ UHT หรือ พี่มอส ที่ไม่ใช่แบบรวมฮิตได้ไหม ผมว่าหาแทบไม่ได้เลยนะครับ ไม่มีปั๊มมาขายใหม่เลย คนเราไปสนุกกับคอนเสิร์ตได้ แต่กลับไม่เสียเงินซื้อซีดีฟัง

ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้น ไม่ใช่แค่แผ่นซีดี แต่ถ้าจะหาข้อมูลของศิลปินเหล่านั้น ก็แทบจะเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ อย่าง Wikipedia ก็อาจจะพอมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่คุณได้คือ ใครออกแผ่นไหน ปีไหน เท่านั้น แต่ข้อมูลอื่นนี่น้อยมาก ใครโปรดิวซ์ มีอิมแพคยังไง ได้รับอิทธิพลจากไหน นี่ ไม่มีครับ ที่พูดถึงนั่นคือวงดังๆนะครับ แต่พวกวงแบบย่อยๆ วงที่ออกมาชุดสองชุดแล้วจากไป ก็หาแทบไม่ได้เลย ยิ่งค่ายที่ล่มสลายไปแล้ว ยิ่งหายากครับ อย่างค่ายคีตา จริงๆก็มีศิลปินดีๆไม่น้อย แต่กลายเป็นเหมือนแค่ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม ยังไม่นับศิลปินอื่น นอกจากเพลงพ๊อพ เช่น วงที่จริงๆควรจะได้รับคำชมว่าเป็นวงที่บุกเบิกแนวเพลงต่างๆในไทย เช่นวง ครับ หรือ TKO ก็ไม่มีข้อมูลอะไรให้ตามหามากนัก ข้อมูลในเน็ตก็มีน้อย หนังสือก็ไม่ต้องพูดถึงครับ หนังสือเกี่ยวกับดนตรีของบ้านเรามันแทบหาไม่ได้อยู่แล้ว ไม่มีใครสนใจจะอ่านเท่าไหร่นัก

พอเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็ได้แต่คิดว่า จริงๆแล้ว คนที่ฟังเพลงไทยส่วนมาก คนที่ไปคอนเสิร์ตถวิลหาเหล่านี้ อาจจะไม่ได้สนใจที่ตัวเพลงอะไรมาก ไม่ได้ต้องการฟังทั้งอัลบั้ม ไม่ได้สนใจว่าใครแต่งเพลง ใครโปรดิวซ์ แต่ต้องการสนุกกับเพลงมันๆที่เคยฮิตในช่วงสมัยที่เขาเป็นวัยรุ่น จะว่าไป ถ้ามองว่าเป็นซาวด์แทร็คของชีวิตช่วงนั้นของเขาก็ว่าได้ เพียงแต่ว่า เขาไม่ได้สนอะไรมากไปกว่า เพลงนั้นจะทำให้เค้าสนุกได้แค่ไหน เต้นตามท่อนฮุคได้มั้ย สำหรับพวกเขาเพลงมีค่าเท่านั้นครับ จึงไม่แปลกอะไรที่หลายๆคนยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งไม่ฟังเพลงใหม่ๆ เพราะจริงๆแล้วไม่ได้สนใจเพลง แต่สนใจความสนุกที่มากับเพลง ซึ่งช่วงพีคสุดคือช่วงวัยรุ่นของชีวิต การสนุกไปกับเพลงเหล่านั้นคือสิ่งพี่พวกเขาต้องการต่างหาก (เขียนแล้วก็รู้สึกคล้ายกับละครไทย ที่รีเมคกันจนรู้เรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะคนดูก็เพราะอยากรู้ว่า นักแสดงที่ชอบจะเล่นบทบาทนั้นอย่างไรมากกว่า)

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสังเกตควบคู่มาตลอดคือ วัฒนธรรมการจัดคอนเสิร์ตบ้านเรา นอกจากจะชอบจัดคอนเสิร์ตย้อนยุคแล้ว นับวัน ยิ่งขาดสิ่งหนึ่งไม่ได้คือ แขกรับเชิญ ที่ต้องโผล่มาตลอด จนผมงงว่า ใครเริ่มเทรนด์นี้ ต้องมีแขกรับเชิญมาตลอด เหมือนกับว่า ถ้าเป็นคอนเสิร์ตศิลปินคนเดียวตลอดงาน จะยืนระยะไม่ได้ (หมดยุคแบบเบิร์ดจัดต่อกันเดือนนึงยาวๆแล้วครับ) ต้องมีคนมาเสริมเป็นกิมมิคตลอด ไม่มาร่วมร้องเพลงกัน ก็มาร้องแทนเลย (อย่างตอนคอนเสิร์ต ซิลลี่ฟูล ที่คุณอุ้ม สิริยากร ขึ้นมาร้องเพลง เพียงรัก นี่ผมเงิบและอึ้งนะครับ เพราะอยากฟังพี่โตร้องครับ ไม่ได้อยากฟังคุณอุ้มมาร้องคาราโอเกะ แบบ เสียดาย) ที่หนักข้อหน่อยก็คือ มาพูดและปล่อยมุข

แขกรับเชิญกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคอนเสิร์ตแบบไทยๆ ถึงขนาดที่ต้องระบุเลยว่า แขกรับเชิญจะมีใครมาบ้าง คนที่ไปดูคอนเสิร์ตเพื่อความสนุก ก็คงจะชอบใจครับ แต่ถ้าจริงจังเรื่องเพลง คงจะงงหน่อย เพราะอยากจะดูศิลปินเล่นอย่างเต็มที่ ไปๆมาๆ คอนเสิร์ตของเมืองไทย ก็เปลี่ยนจากการไปฟังเพลง กลายเป็นการไปหาความสนุกกับการแสดงโชว์แขนงหนึ่งเสียมากกว่า

เวลาเห็นสถานการณ์ตอนนี้แล้วก็เริ่มคิดนะครับว่า เจนเนอเรชั่นถัดจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรต่อ เพราะว่า ผมยังมองไม่เห็นศิลปินไทยในปัจจุบันที่มีอิมแพคพอที่อีกสิบกว่าจะจะจัดคอนเสิร์ตใหญ่เอาใจวัยรุ่นในวันนี้ได้ เพราะตลาดเพลงไทยเปลี่ยนจากรุ่นผมมากจริงๆ เพราะโลกมันแคบลง ศิลปินต่างชาติก็เลยมากินตลาดในบ้านเราได้เยอะ ค่ายเพลงเองก็ไม่ได้สนใจจะดันศิลปินไทยใหม่ๆเต็มสูบเหมือนแต่ก่อน (แต่มาดันรุ่นเก่าเพราะทำเงินได้ตามที่เขียนไป) ดูแล้วก็ได้แต่สงสัยว่า โฉมหน้าวงการเพลงไทยในอีก 10 ปี 20 ปีต่อไปจะเป็นอย่างไรจริงๆครับ

No comments: