โดยส่วนตัวแล้ว เท่าที่ฟังดนตรีมาหลายแนว และมีวงที่ชื่นชอบหลายวง สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ผมชอบวงดนตรีใหม่ๆขึ้นมาได้ในแรกฟังคือ ความสดใหม่ ความทะเยอทะยาน ความกล้า และความทุ่มเท ของวงดนตรีนั้นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถ้าเป็นคนรักเสียงเพลง มันสัมผัสได้ง่ายไม่ต่างกับการอ่านหนังสือสักเล่มแล้ว ว่าคนแต่งนั้น ตั้งใจและทุ่มเทแค่ไหน เพลงของบางวงนั้นก็เหมือนกับเอาจิตวิญญาณของทั้งชีวิต อัดเข้าไปในเพลงๆเดียว แล้วหนึ่งในวงที่ผมคิดว่าพวกเขาทุ่มเทได้อย่างยอดเยี่ยมก็คือ The Gaslight Anthem
The Gaslight Anthem คือวงดนตรีสี่ชิ้นจาก New Jersey อเมริกา นำโดยหัวหอกของวงอย่าง Brian Fallon (ร้องนำ กีตาร์) Alex Rosamilia (อเล็กซ์ กีตาร์) Alex Levine (อเล็กซ์ เบส) และ Benny Horrowitz (เบ็นนี่ กลอง) ซึ่งพวกเขารวมตัวกันในปี 2005 และเริ่มทำเพลงโดยได้รับอิทธิพลจากดนตรีแนว Jersey Shore Sound จากศิลปินรุ่นพี่ (พ่อ) จากเมืองเดียวกันอย่าง Bruce Springsteen ในลักษณะของการทำเพลงชวนตะโกนแหกปากร้องตาม และผสมเข้ากับดนตรี Hardcore Punk ที่ได้รับอิทธิพลมาจาก Jawbreaker ไปจนถึง The Ramones, The Cure และ The Clash จนกลายมาเป็นซาวนด์เฉพาะตัวของพวกเขา
ปี 2007 พวกเขาออกอัลบั้มแรกที่ชื่อ Sink or Swim ที่สร้างชื่อเสียงในแวดวงเพลงร๊อคได้เป็นอย่างดี ด้วยเพลงเด่นๆสารพัดอย่าง Drive ซิงเกิ้ลแรกที่แสดงความเป็นตัวตนและเอกลักษณ์ของที่เต็มไปด้วยเสียงกีตาร์สวยๆ และเสียงร้องที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น อีกเพลงที่เด่นไม่แพ้กันคือ We Came To Dance ที่มีจังหวะที่เร้าใจ บวกกับเสียงกีตาร์ที่แสนเพราะไล่เรียงไปพร้อมกับมัน ส่วนเพลง I Coul'da Been A Contender ก็แสดงให้เห็นถึงการผสม Bruce Springsteen เข้ากับ Jawbreaker ที่ลงตัวแบบสุดๆ นอกจากนี้ยังมีเพลงช้าๆเพราะๆอย่าง The Navesink Banks ที่แสนงดงามอย่างเรียบง่ายอีกด้วย และอัลบั้มเปิดตัวนี้ แม้จะไม่ได้ทำยอดขายที่โดดเด่นอะไร แต่มันก็ทำให้พวกเขากลายเป็นดาวดวงใหม่ที่น่าจับตามองของวงการเพลงอเมริกาในทันที จนได้ไปร่วมทัวร์กับวงดังๆอย่าง Against Me! และ Rise Against และเมื่อพวกเขาออก EP คั่นเวลา ชื่อ Señor And The Queen ในปี 2008 พวกเขาก็ดังข้ามฟากไปฝั่งอังกฤษ โดยนิตยสารอย่าง Kerrang ถึงกับเอาพวกเขาขึ้นปกทันทีโดยไม่เคยเขียนถึงมาก่อนด้วยซ้ำ
ในปีเดียวกัน อัลบั้มที่ 2 ที่ชื่อ The ’59 Sound ก็ได้โอกาสออกมาเผยโฉมให้โลกได้รู้จัก ซึ่งเพลงเปิดตัวมันก็คือเพลง The ’59 Sound ตามชื่ออัลบั้ม และมันคือเพลงที่ยอดเยี่ยมอีกเพลงหนึ่งของปีนั้น มันคือเพลงที่ Brian แต่งขึ้นมาเพื่อเพื่อนของเขาที่เสียชีวิตในอุบัติเหตุ และในทุกๆคำที่เขาร้องออกมา คุณจะสัมผัสถึงความจริงใจ และความเศร้าของเขาที่มันแน่นจนต้องระบายออกมาเป็นเพลง มันคือบทเพลงที่ทำให้เรารู้สึกว่า Brian เอามีดกรีดไปที่กลางหัวใจของเขาเพื่อเอาเลือดมาเป็นหมึกเขียนเพลง หากใครไม่เคยผ่านประสบการณ์เช่นนั้น คงไม่อาจเข้าใจและแต่งเพลงแบบนี้ออกมาได้ The ’59 Sound คือความงดงามอย่างมหัศจรรย์ที่จุติบนความเศร้าสร้อยมิต่างไปจากมหาวิหารทัชมาฮาลเลยทีเดียว แค่จิตวิญญาณและความทุ่มเทที่พวกเขาใส่ลงไปในเพลงๆนี้เพลงเดียวก็มากกว่าที่หลายวงเคยทำมาตลอดชีวิตแล้ว
นอกจาก The ’59 Sound แล้ว ตัวอัลบั้มเองก็ยังเต็มไปด้วยเพลงพังค์ร๊อคเด่นๆหลายเพลงอย่าง High Lonesome ที่สุดแสนจะเท่ห์ชวนให้เราสวมเกือกบู๊ทท่องไปทั่วอเมริกา The Patient Ferris Wheel ที่ขวนแหกปากตาม หรือ Miles Davis & The Cool ที่เท่ห์สมกับชื่อเพลง และ The ’59 Sound ก็เป็นอัลบั้มที่ส่งให้พวกเขาดังไปทั่วสองฝั่งแอตแลนติคในทันที
และหลังจากที่รอคอยมานาน พวกเขาก็กลับมากับผลงานชุดที่สามในปีนี้กับชื่อ American Slang ที่มีซิงเกิ้ลเบิกโรงชื่อเดียวกับวงคือ American Slang ที่ ออกจะช้าแต่อลังการกว่าเพลงเดิมๆหน่อย โดยเนื้อเพลงน่าจะกล่าวถึงศิลปินที่เขาชื่นชมอย่าง Joe Strummer และมันก็ยังเป็นเพลงที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้งานชุดที่แล้วเลย และเช่นกัน ตัวอัลบั้มเองก็เต็มไปด้วยเพลงเจ๋งๆอีกหลายเพลงอย่าง The Queen of Lower Chelsea ที่ส่งกลิ่นของ U2 ยุค Joshua Tree โขยออกมา Stay Lucky และ Boxer ที่มาในแบบ Jersey Shore Sound จ๋าๆ รวมไปถึง Orphans ที่เกี่ยวกับประสบการณ์เป็นลูกที่ถูกพ่อทอดทิ้งของ Brian เอง แม้ว่า American Slang จะไม่ได้ยอดเยี่ยมเท่ากับ The ’59 Sound แต่มันก็โดดเด่นไม่แพ้กัน และยังเป็นอัลบั้มที่โดดเด่นอีกอัลบั้มในปีนี้
จากเมืองที่เป็นรอง New York ตลอดกาล พวกเขาสามารถสร้างความโดดเด่นขึ้นมาครองหัวใจชาวอเมริกันได้ด้วยบทเพลงที่กลั่นออกมาจากหัวใจ บอกได้แค่เพียงว่า เส้นทางของ The Gaslight Anthem ยังอีกยาวครับ