หลายท่านที่ตามอ่านคอลัมน์นี้มา จะเห็นได้ว่าผมฟังเพลงค่อนข้างหลายแนวโดยจะหนักไปทางร๊อคและแดนซ์เอาซะมาก แต่จริงๆแล้ว ถ้ามีเวลานั่งสงบๆ ผมเองก็ชอบฟังเพลงช้าที่ได้รับการเรียบเรียงเป็นอย่างดี เพื่อสร้างความสงบในใจบ้างเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปินเก่าๆของ Motown, Frank Sinatra หรือ Johnny Cash ที่สร้างความประทับใจให้ผมได้เสมอ และถึงแม้จะมีเพียงศิลปินยุคใหม่ส่วนน้อยเท่านั้นที่พยายามสร้างดนตรีอันสุดคลาสสิกแบบนั้น อีก แต่ส่วนน้อยนั้นก็ทำออกมาได้ดีเหลือเกิน และหนึ่งในนั้นคือศิลปินกระเทยร่างยักษ์ที่มีชื่อว่า Anthony Hegarty ผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงป๊อปคลาสสิกแบบอลังการในยุคแห่งความเร่งรีบนี้ผ่านชื่อวง Anthony and the Johnsons
Anthony Hegarty เกิดใน Sussex ประเทศอังกฤษ แต่ว่าพออายุได้ 10 ปี เขาก็ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย อเมริกา ซึ่งในช่วงที่เขาเติบโตขึ้นมา เขาได้ซึมซับเอาอิทธิพลของศิลปินแนวซินธ์ป๊อปที่เป็นที่นิยมในยุคนั้น โดยมีศิลปินกระเทยยุคแรกอย่าง Boy Gorge เป็นไอคอนในดวงใจในการร้องเพลงแบบทุ่มอารมณ์ของตนเองเขาไปทั้งหมด ในขณะเดียวกันเขาก็ได้รับอิทธิพลจากดนตรีโฟลค์อีกด้วย ต่อมา เขาย้ายไปนิวยอร์ก และเริ่มเข้ากลุ่มนักแสดงละครเวทีแนวทดลอง จนตั้งกลุ่มของตัวเองชื่อ Blacklips และเริ่มออกแสดงผลงานเชิงศิลปะการแสดงออกไปทั่ว
และเป็นโชคดีของพวกเขาที่มีศิลปินรุ่นพี่มาเห็นอข้า และเสนอโอกาสให้พวกเขาได้ออกอัลบั้มในชื่อวง Anthony and the Johnsons โดยอัลบั้มก็ใช้ชื่อเดียวกันกับวงในปี 2000 แต่มันก็เป็นงานที่ไม่ได้สร้างชื่อเสียงอะไรนัก แต่ว่าพวกเขาก็ไม่ยอมแพ้ง่าย ยังพยายามออก EP มาเรื่อยๆ และความยายามของพวกเขาก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อมีแมวมองเอา EP ชื่อ Fell in Love with a Dead Boy ไปให้ศิลปินระดับตำนานอย่าง Lou Reed ฟัง และทำให้ Lou Reed เลือกดึงพวกเขามาร่วมโปรเจคต์ The Raven ทันที และเป็นโอกาสให้พวกเขาได้สร้างชื่อในวงการด้วยการออกทัวร์กับ Reed และได้ถูกดึงตัวเขาสังกัด Secretly Canadian ในเวลาต่อมา
พวกเขาได้โอกาสออกอัลบั้มที่สองที่ชื่อ I am a Bird now ในปี 2005 และก็เป็นก้าวกระโดดทางอาชีพศิลปินของพวกเขาจริงๆ เพราะมันได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ทั่วสารทิศ เพราะมันคืออัลบั้มที่รวบรวมเอาบทเพลงป๊อปที่สุดแสนประณีต และอลังการ ราวกับรูปสลักของมิเคลันเจโลอยู่ในเวลาทั้งหมด 35 นาทีของอัลบั้มชุดนี้ มันคือ 35 นาทีที่ตรึงเราอยู่กับอัลบั้มนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น เนื้อเพลงที่เกี่ยวกับประสบการณ์และตัวตนของ Anthony ได้ถูกถ่ายถอดผ่านเสียงร้องอันงดงามและมีเสน่ห์เฉพาะตัวของเขา เพียงแค่เพลงเปิดอัลบั้มที่แสนงดงามในความเศร้าสร้อยอย่าง Hope There’s Someone ก็สามารถเรียกน้ำตาของเราออกมาได้แล้ว For Today I am a Boy ก็คือบทเพลงที่กล่าวถึงมุมมองเพศที่สามของเขาในวัยเด็กได้ไปพร้อมๆกับเสียงเปียโนที่งดงามอย่างน่าตะลึง What Can I Do? ก็ได้ศิลปินแนวเดียวกันอย่าง Rufus Wainwright ร่วมงานและเป็นเพลงสั้นๆที่ยอดเยี่ยมเกินความยาวของยาวของตัวเพลง ในขณะ Fistful of Love ก็ทำให้เรานึกถึง The Blue Nile โดยเนื้อเพลงนั้นกล่าวถึงการพลีร่างกายเข้าแลกกับหมัดของคู่รักโดยเชื่อว่านั่นแลคือกำปั้นแห่งความรักที่แท้จริง แม้เนื้อเพลงจะเต็มไปด้วยประสบการณ์ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรกร่วมเพศหรือการต้องการใครสักคนในชีวิต แต่มันก็ทำให้เขาสามารถกลั่นอารมณ์ออกมาจากใจได้ และมันคืออัลบั้มที่ทุกๆคนควรมีไว้ในครอบครองเป็นอย่างยิ่ง
ทว่า แม้มันจะเป็นอัลบั้มที่ยอดเยี่ยม แต่ในช่วงแรก มันก็ไม่ได้ทำยอดขายได้ดีนัก แต่เหตุการณ์ทั้งหมดมาพลิกผันเมื่อ พวกเขาคว้ารางวัล Mercury Music Award ในปีนั้นแบบม้ามืด โดยเอาชนะขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง Kaiser Chiefs ไปได้ แม้เป็นที่กังขาอยู่บ้างว่า มันคือรางวัลที่มอบให้เฉพาะศิลปินอังกฤษเท่านั้น แต่อย่างน้อย เขาก็เกิดในอังกฤษ เลยเข้าข่ายนี้ได้อย่างโชคดี และทำให้มันกลายเป็นอัลบั้มขายดีไปในทันที และหลังจากนั้น Anthony ก็ได้ไปร่วมงานในโปรเจคต์ Hercules and the Love Affairs ที่เป็นเพลงเต้นรำอีกด้วย
หลังจากทำให้แฟนรอมาเกือบสี่ปี พวกเขาก็กลับมากับอัลบั้มใหม่ที่มีชื่อว่า The Crying Light ที่ยังเปี่ยมแน่นไปด้วยความประณีตเช่นเคย เพียงแต่เนื้อหาของเพลงไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับตัวเองอีกต่อไป หากแต่เป็นมุมมองเกี่ยวกับความรักและชีวิตที่จริงจัง แค่เพลง Kiss My Name นั้นก็เพียงพอที่จะทำให้เราหลงรักอัลบั้มนี้อย่างเต็มตัวแล้ว
หากอัลบั้มชุดที่แล้วคือการเรียกร้องหาความรักที่ไม่เคยสัมผัส และงานชัดนี้คือการมองโลกด้วยประสบการณ์แล้ว เราคงอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อกลับมาครั้งหน้า Anthony เขาจะมีมุมมองต่อโลกและความรักเช่นไร