วันพุธที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปดูหนังเรื่องหนึ่ง ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยมีโอกาสแบบนี้หรอกครับ เพราะไม่ใช่สายวิจารณ์ภาพยนตร์ แต่ที่ได้รับโอกาสในครั้งนี้ เพราะเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับวงการดนตรีที่ชื่อ Love and Mercy ครับ ถือว่าโชคดี เพราะได้ดูก่อนเข้าฉายถึงสองอาทิตย์ แถมยังเป็นภาพยนตร์เรื่องราวประวัติของ Brian Wilson แห่งวง The Beach Boys
ทำไมถึงควรจะสนวง The Beach Boys? แม้ในปัจจุบัน ชื่อของวงจะไม่ได้เป็นชื่อสามัญประจำบ้านเหมือน The Beatles ที่เคยแข่งกันมาก่อน แต่สำหรับนักฟังเพลงและผู้ที่สนใจจะศึกษาประวัติศาสตร์วงการเพลงแล้ว ก็ไม่ควรที่จะข้ามวงนี้ไปเด็ดขาดครับ เพราะในยุคที่อังกฤษมีวง The Beatles ที่เป็นขวัญใจวัยรุ่นเชิดหน้าชูตาของวงการเพลง อเมริกาก็มีวง The Beach Boys ที่เป็นวงขวัญใจวัยรุ่นมาแข่งกันนี่ล่ะครับ (จริงๆ อีกวงหนึ่งที่ควรบันทึกว่าเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ The Beatles คือ วง The Walker Brothers)
พวกเขาทำเพลงแบบ พ๊อพร๊อค ผสมสไตล์เซิร์ฟ ร้องเพลงเกี่ยวกับชีวิตวัยรุ่นอันสนุกสนานของวัยรุ่นในแคลิฟอร์เนีย บ้านเกิดของพวกเขา เนื้อเพลงจึงเกี่ยวกับ การเล่นเซิร์ฟ สาวๆ รถยนต์ สายลมแสงแดด และด้วยจังหวะที่ติดหู และสไตล์การประสานเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ บวกกับความสดใส ทำให้พวกเขาเป็นขวัญใจของวัยรุ่นตั้งแต่ปี 1961 และครองตลาดวงการเพลงช่วงนั้นยาวๆ เลยล่ะครับ
ซึ่งตัวภาพนยนตร์ Love and Mercy ก็นำเสนอเรื่องราวของวง โดยที่ต่างไปจากภาพยนตร์ชีวประวัตินักดนตรีเรื่องอื่นตรงที่ Love and Mercy ไม่ได้โฟกัสไปที่วงดนตรี แล้วก็เล่าเรื่องไปตรงๆ ตามลำดับเวลา แล้วอาจจะมีคอนฟลิคต์เพิ่มเข้ามา หรือมีธีมกับปมของตัวละครเพื่อให้เนื้อเรื่องสนุกขึ้นบ้าง แต่เรื่องนี้ นำเสนอโดยการเน้นไปที่ตัว Brian Wilson เป็นตัวละครหลักในการขับเคลื่อนเนื้อเรื่อง เพราะว่า Brian Wilson ก็คือมันสมองของวง เป็นแกนหลัก นักแต่งเพลงประจำวง และเป็นบุคคลที่วงการดนตรีร๊อคบันทึกไว้ว่าเป็นหนึ่งในอัจฉริยะของวงการเพลง แถมยังมีช่วงชีวิตที่ดราม่าสุดๆ อีกด้วยนะครับ
ตัว Love and Mercy โฟกัสไปที่สองช่วงที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตของเขา และของวงการเพลงอีกด้วย ช่วงแรกคือ ช่วงวัยรุ่น ที่เขาประสบความสำเร็จในวงการเพลงช่วงต้น ซึ่งก็จากตอนเปิดเรื่องก็ดูเหมือนอะไรต่อมิอะไรจะไปได้สวยนั่นล่ะครับ แต่พวกเขาก็ต้องพบกับปัญหาคือ พวกเขาทำเพลงได้แต่แบบเดิมๆ ซึ่งถึงมันจะฮิตในตอนนี้ แต่อนาคตก็ไม่แน่นอนว่ามันยังจะได้รับความนิยมอีกหรือไม่ บวกกับความกลัวกระแส British Invasion ที่วงอังกฤษเริ่มบุกเข้ามาในอเมริกา กลายเป็นความน่ากลัวที่คืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ และพวกเขาเองก็เริ่มตันแล้ว ผมชอบตรงที่พวกเขาบอกว่า จะให้ทำเพลงเกี่ยวกับ แสงแดด สาวๆ และเล่นเซิร์ฟไปได้อีกแค่ไหน แถมเอาเข้าจริงๆ แล้ว พวกเขาอเองเล่นเซิร์ฟไม่เป็นซะด้วยซ้ำ (ยังกับพวกทำเพลงสเกตพังต์แต่เล่นสเกตบอร์ดไม่เป็น) แถมแกนหลักของวงอย่าง Brian ก็ยังเกิดอาการตื่นเครื่องบินจนแทบหัวใจวาย ทำให้เขาไม่อยากออกทัวร์กับวง และขออยู่สตูดิโอเพื่อแต่งเพลงอย่างเดียว
เมื่อสมาชิกวงไม่อยู่ และเขาแต่งเพลงคนเดียว ด้วยอิทธิพลของอัลบั้ม Rubber Soul ของ The Beatles ทำให้เขาอยากทดลองเสียงใหม่ๆ ปล่อยให้จินตนาการของเขาออกมาทำหน้าที่อย่างเต็มที่ จนกลายเป็นงานทดลองที่ชื่อ Pet Sounds ที่ต่างไปจากงานเดิมๆ ของพวกเขา และเป็นอัลบั้มที่ล้มเหลวเมื่อออกจำหน่าย แต่ก็กลายมาเป็นอัลบั้มในตำนานที่นักวิจารณ์ต่างยกย่องว่าเป็นงานที่ดีที่สุดของพวกเขาในภายหลัง แต่ในตอนนั้น มันคืออัลบั้มที่ถูกมองข้าม กลายเป็นความเครียดที่มากดดัน Brian อีก เพราะความขัดแย้งกับสมาชิกวงก็เริ่มจากจุดนี้ และการใช้ยา LSD ก็ทำให้สภาพจิตเขาเริ่มมีปัญหา ได้ยินเสียงแปลกๆ ในหัว
ซึ่งในเรื่องก็ฉายสลับกับอีกช่วงเวลาหนึ่งคือ ยุค 80 ที่ Brian กลายเป็นชายวัยกลางคน ป้ำๆ เป๋อๆ สติไม่ค่อยดี ซึ่งเขาอยู่ภายใต้การดูแลของจิตแพทย์ที่ไม่น่าไว้ใจชื่อ Eugene Landy และระหว่างนั้นเขาก็พบกับผู้หญิงคนหนึ่งที่จะมาเปลี่ยนชีวิตเขา ทำให้เขากลับมาตั้งตัวได้ และออกอัลบั้ม Smile ในปี 2004
จริงๆ แล้ว ในเรื่องมีแผนว่าจะนำเสนอช่วงเวลาที่เขานอนบนเตียงเฉยๆ ไม่ทำอะไรหลายปี แต่ก็ถูกตัดออกไป ใช้แค่สองช่วงเวลา เล่าสาเหตุ และปัญหา ของตัว Brian ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมครับ การตัดสลับไปมาในช่วงแรกทำให้เราออกจะงงๆ หน่อย และถ้าเผลอก็อาจจะทำให้งงกับเรื่องได้ แต่รายละเอียดต่างๆ มันก็จะค่อยๆ ผสานกันและคลายปมในตอนจบออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมครับ แม้หลายเรื่องจะไม่ได้เล่าตรงๆ แต่อาศัยเล่าผ่านบทสนนทนาของตัวละครเท่านั้น
ในฐานะคนฟังเพลง การได้เห็นพัฒนาการของตัวศิลปิน ก่อนที่จะออกมาเป็นสองอัลบั้มยอดเยี่ยม (Smile ได้รับการยกย่องว่าเป็นการกลับมาอย่างงดงามของศิลปินที่เงียบหายไปหลายปี) สิ่งที่ผลักดันให้เขาทดลองเสียงใหม่ๆ ปัญหาระหว่างอัลบั้ม แรงบันดาลใจที่และจุดพลิกผันที่ทำให้เขากลับมาทำงานเพลงได้อีก สำหรับคนฟังเพลงแล้ว จัดว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจเลยล่ะครับ
อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ การใช้นักแสดงแยกกันในสองช่วงเวลา ช่วงวัยรุ่นใช้ Paul Dano และช่วงวัยกลางคนใช้ John Cusack เล่น ซึ่งทั้งสองคนก็ไม่ได้เจอกันเลยในระหว่างการถ่ายทำ ทำให้ทั้งสองต่างก็ตีความตัว Brian Wilson ในแบบของตัวเอง ก็ถือว่าน่าสนใจมากๆ นะครับ เหมือนการประสานหนังสองเรื่องเข้ามาในเรื่องเดียว ซึ่งผมก็มองว่าผู้กำกับคุมโทนได้เป็นอย่างดี
Love and Mercy อาจจะไม่ค่อยเหมือนกับภาพยนตร์ชีวประวัตินักดนตรีเรื่องอื่นนัก และมันก็ไม่ได้เป็นภาพยนตร์เพลงจ๋าๆ แบบ Begin Again ที่ดังเมื่อปีก่อน แต่ถ้าใครสนใจเรื่องราวของวงการเพลง และเบื้องหลังของอัลบั้มดัง ก็ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่งครับ Love and Mercy เริ่มฉายทั่วไปวันที่ 18 มิถุนายน นี้ครับ
No comments:
Post a Comment