Monday, March 3, 2014

Andrew McMahon เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนแนว

ท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไรเวลาศิลปินเปลี่ยนชื่อในการทำงานครับ ที่ถามนี่ไม่ได้หมายถึงดาราสาวที่เปลี่ยนชื่อกันแปลกๆแบบหนูอิมอิม หรือ คิกคิกสะระนัง อะไรนั่นนะครับ แตไปเน้นพวกศิลปินที่เปลี่ยนชื่อ เพราะเวลาเปลี่ยนแนวเพลงคนจะได้ไม่สับสนกับงานเดิม อย่าง Mike Skinner ก็ทิ้งชื่อ The Streets เมื่อรู้สึกว่าตันและหันไปทำเพลงในชื่อ The D.O.T. แนวเพลงก็ต่างจากเดิม ส่วนเฮีย Snoop Dogg พอไปทำเรกเก้ ก็เป็น Snoop Lion นี่ล่าสุดมาเป็น Snoopzilla เพราะทำเพลงฟังค์ (เกี่ยวกันไงวะ) และอีกคนนึงที่ใช้วิธีเดียวกันก็คือ Andrew McMachon

2683298473_a909152c3e_z

Andrew McMahon (แอนดริว ร้องนำ เปียโน) เริ่มต้นชีวิตนักดนตรีด้วยตำแหน่งนักร้องของSomething Corporate วงพังค์จากย่าน Orange County ซึ่งตัว Andrew ได้แต่งเพลงขึ้นมาในระหว่างที่พักทัวร์ แต่เขารู้สึกว่า มันไม่เหมาะที่จะเป็นเพลงของ Something Corporate และเมื่อแยกห่างจากเพื่อร่วมวงมากกว่าเดิมกว่าเดิม เขาก็เริ่มแต่งเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวมากขึ้น จนมันแยกห่างจากงานเพลงของวงหลัก เขาชอบมันมากถึงกับลงทุนจ่ายเงินค่าโปรดัคชั่นในการอัดเพลงเองเป็นเงินถึง 40,000 เหรียญ แต่ก็คุ้มค่าเพราะมันทำให้เขาได้สัญญากับค่ายเพลง Mavericks เขาจึงตัดสินใจตั้งวงขึ้น โดยทีแรกจะตั้งชื่อว่า The Mannequins แต่เบิ่อเทรนด์วงที่ชื่อ The เลยเปลี่ยนเป็น Jack’s Mannequin ตามชื่อตัวละครในเพลงของเขาแทน และหลังจากเริ่มต้นเขียนเพลงได้ 2 ปี อัลบั้มแรกของ Jack’s Mannequin ก็ได้ออกวางขายในปี 2005 ในชื่อ Everything in Transit

Everything in Transit เป็นงานที่เปิดตัววงได้อย่างงดงาม แนวเพลงหลักของวงคือ ป๊อปร๊อคที่นำโดยเสียงเปียโนที่ไล่เรียงได้อย่างงดงามไปกับเพลงแต่ละเพลง บวกกับเสียงร้องที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Andrew ทำให้มันเป็นโดดเด่นกว่าเพลงตลาดๆโหลๆที่เราหาฟังได้ตามสถานบันเทิง ตัวอย่างที่ชัดคือ Dark Blue ซิงเกิ้ลที่สองที่เรียบเรียงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม นอกจากเสียงเปียโนแล้วยังได้เสียงเครื่องเป่ามาแซมเป็นลูกเล่นได้เต็มที่ ส่วนซิงเกิ้ลแรกอย่าง Mixed Tape ก็ออกจะเป็นร๊อคมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ลืมเซนส์ของเพลงป๊อปชั้นเยี่ยมครับ แต่ละเพลงในอัลบั้มได้ถูกเรียบเรียงออกมาอย่างดี และติดหูได้ง่ายๆ และนั่นก็เป็นกุญแจของความสำเร็จที่ส่งให้อัลบั้มนี้ขึ้นไปถึงอันดับ 37 บนชาร์ต น่าเสียดายที่เขาไม่มีโอกาสออกทัวร์สนับสนุนอัลบั้ม เพราะ Andrew เกิดป่วยเป็นลูคีเมีย และต้องรับการรักษาด่วน

การออกผลงานเดี่ยว และการรักษาตัว ทำให้ Something Corporate ต้องแยกวงไปโดยอัตโนมัติ และหลังจากนั้น เขาก็หันมาทุ่มเทให้กับงานเดี่ยวของเขาอย่างเต็มที่ และรวมไปถึงการทำงานการกุศลเพื่อมูลนิธิลูคีเมียอีกด้วย ในที่สุด งานชุดที่สองของเขาในชื่อ The Glass Passenger ก็ได้ออกวางขายในปี 2008 และมันก็เป็นการกลับมาที่เต็มไปด้วยประสบการณ์มากกว่าเดิม

2250676471_7bbd88aa52_z

เมื่อเที่ยบกับ Everything in Transit แล้ว ตัวงานชุดที่สองจะมีกลิ่นของความเป็นร๊อคมากกว่าเดิม แม้ซิงเกิ้ลอย่าง Swim จะเป็นเพลงป๊อปที่เรียบเรียงอย่างบรรจง แต่กับอีกซิงเกิ้ลอย่าง The Resolution ก็เป็นเพลงที่เร็วขึ้นกว่าเดิม และติดหูชวนให้เราร้องตามไปโดยเร็วเลย ที่สำคัญ เนื้อเพลงมันบอกถึงความมุ่งมั่นของเขาหลังจากหายจากโรคร้ายได้เป็นอย่างดี Crashing ก็เป็นเพลงเร็วที่เรียบเรียงเสียงเปียโนได้อย่างโดยเด่นเสียจริงๆ อีกเพลงที่หนักแน่นกว่าเก่าคือ Suicide Blonde แต่สำหรับตัวผมแล้ว เพลงที่ผมคิดว่าเยี่ยมที่สุดในอัลบั้มนี้คือ American Love ที่เรียบเรียงออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่ริฟฟ์ต้นเพลงที่เหมือนกับเพลงร๊อคจากยุค ’90 ก่อนที่จะเสริมด้วยเสียงเปียโนกับเสียงร้องแบบไร้เทียมทาน สำหรับเพลงนี้ พูดได้คำเดียวคือ ไร้ที่ติ

และหลังจากซุ่มไปเก็บตัวเขียนเพลง ในปีนี้ เขาก็กลับมากับอัลบั้มชุดที่ 3 ที่ใช้ชื่อ People & Things ซึ่งเปิดตัวมาด้วยเพลงที่แสดงฝีมือการเรียบเรียงของเขาที่พัฒนาขึ้นไปอย่างมากกับซิงเกิ้ลแรก My Racing Thoughts ที่เป็นเพลงเปียโนร๊อคที่จังหวะเร็ว แต่กลับประคองความงดงามของเพลงได้อย่างยอดเยี่ยม และเสียงร้องที่โดดเด่นของเขาก็มาช่วยเสริมให้มันโดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก จนกลายเป็นซิงเกิ้ลที่ยอดเยี่ยมไร้ที่ติดจริงๆ ตัวอัลบั้มก็เล่นกับความสัมพันธ์ของผู้คน แสดงให้เห็นถึงการเติบโตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งของเขา ไม่ว่าจะเป็นเพลง Release Me ที่เขาร้องเหมือนกลั่นออกมาจากหัวใจ ส่วน People, Running ก็พูดถึงความสัมพันธ์ของผู้คนรอบตัวได้อย่างน่าสนเอามากๆครับ ส่วน Restless Dream เพลงบัลลาดช้าๆที่เนื้อเพลงแต่งให้กับผู้หญิงที่เขาเจอแต่ไม่รู้จักออกมาได้อย่างหวานซึ้งจริงๆ เมื่อฟังอัลบั้มนี้จบแล้ว ทำให้เราได้แต่คิดว่า เขาเติบโต สั่งสมประสบการณ์ และนำมาใส่ในผลงานเพลงของเขาได้อย่างยอดเยี่ยม

น่าเสียดายที่ หลังจากรองานใหม่ของเขาซักระยะ ผมเองเพิ่งทราบข่าวว่า เขาเลิกทำงานในชื่อ Jack’s Mannequin และหันมาใช้ชื่อตัวเอง Andrew McMahon ในการทำเพลงแทน ทีแรกก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะตอนทำเพลงในชื่อเดิม ก็แทบจะเป็นงานส่วนตัวไปแล้ว แต่พอได้มาฟังผลงานเพลงของเขาใน EP แรกที่ออกมาชิมลางเมื่อปีก่อนชื่อ The Pop Underground กลายเป็นว่าเพลงของเขากลายเป็นเพลงพ๊อพจัดมากขึ้นกว่าเดิม ตั้งแต่เพลงเปิด Synesthesia ที่คล้ายกับ The Resolution ที่เปลี่ยนคนร้องเป็นเด็กวัยรุ่น มันสดชื่นอย่างไม่น่าเชื่อครับ เสียงสังเคราะห์เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นกว่าเดิม อย่างบีทในเพลงถัดไป Catching Cold ที่สังเคราะห์ล้วนๆ เสียงร้องของเขาก็ยังคงโดดเด่นมีเสน่ห์เช่นเคยแม้เพลงจะหันมาในแนวพ๊อพอย่างเต็มตัว After the Fire ก็มากับจังหวะแบบคาร์นิวาลพาร์ตี้เลยทีเดียว มีเพียง Learn to Dance ที่กลิ่นคล้ายงานเดิมของเขาบ้าง

แม้จะเป็นศิลปินคนเดิม แต่การเปลี่ยนชื่อ ก็เหมือนกับการสตาร์ตใหม่อีกครั้ง แฟนเพลงจะได้ทำใจได้ว่า จากนี้ไป แนวเพลงจะเปลี่ยนไปแล้ว ส่วนครั้งนี้ก็คอยดูกันว่าเปลี่ยนแล้วจะเวิร์คไหมครับ

No comments: