Monday, December 2, 2013

Placebo ฉันจะคัลต์ใครจะทำไม

สำหรับวงดนตรีที่ไม่ได้โด่งดังในตลาดเมนสตรีมมาก เมื่อทำวงไปได้ถึงจุดหนึ่ง จะเริ่มเจอกำแพงคือ ทำยังไง เพลงก็ไม่ดังไปกว่าเดิม หลายวงก็ท้อจนเลิกวง แต่บางวง ก็สามารถปรับสถานะกลายเป็นวงคัลต์ ทำเพลงเพื่อรับใช้ฐานแฟนเพลงของตัวเองเป็นหลัก วงประเภทหลังมักจะอยู่ในตลาดได้นานกว่า ซึ่ง Placebo ก็เป็นอีกหนึ่งวงที่อาศัยแนวทางนี้

PLACEBO1

กำเนิดของวง Placebo ออกจะเหมือนนิยายน้ำเน่าหน่อย สองแกนนำหลักของวงคือ Brian Molko (ไบรอัน ร้องนำ กีตาร์) หนุ่มฝรั่งเศส และ Stefan Olsdal (สเตฟาน เบส) หนุ่มสวีเดนนั้น เคยเรียนที่โรงเรียนเดียวกัน แต่ก็ไม่รู้จักกัน จนบังเอิญได้มาเจอกันที่อังกฤษ โดยที่ Brian ชวน Stefan มาดูเขาเล่นสนในบาร์ และ Stefan เห็น Brian มีศักยภาพล้นเหลือจึงตัดสินใจว่า ควรจะเริ่มตั้งวงกับไอ้หมอนี่ พวกเขาได้ Robert Schutlzberg (โรเบิร์ต) หนุ่มสวีเดนที่รู้จักกันกับ Stefan มาก่อน มาเล่นกลองให้ ในที่สุด วงนานาชาติชื่อ Placebo ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น

พวกเขาได้สัญญากับค่ายเพลงอย่างรวดเร็ว และเริ่มกระหน่ำออกซิงเกิ้ล และอัลบั้มแรกของพวกเขาในปี 1996 ที่ใช้ชื่อเดียวกับวง ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย และได้รับคำชมจากทั่วสารทิศ และกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในวงการทันที ความสำเร็จนั้นเป็นส่วนผสมกันระหว่าง ดนตรีที่ได้รับอิทธิพลจากกรันจ์ที่ผสมเอาความฟู่ฟ่าของแกลมลงไปด้วย ให้มันไม่เหมือนใคร สำเนียงติดกลิ่นฝรั่งเศสของไบรอันก็เป็นอีกจุดเด่น แถมพวกเขายังแสดงความเสรีทางเพศอย่างเต็มที่ Brian ประกาศตัวว่าเป็นเสือไบ ส่วน Stefan ก็รับว่าเป็นเกย์ และเนื้อเพลงอย่าง Nancy Boy ก็แสดงถึงความเบี่ยงเบนชัดเจนโดย Brian บอกว่า เขาไม่ได้บอกให้คนเป็นเกย์ แต่อยากให้ทุกคนยอมรับในตัวของตัวเอง และในคนอื่นด้วย นอกจากนี้แล้วเพลงอื่นๆในอัลบั้มยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างชัดเจน แต่ว่า มันก็ยังเป็นอัลบั้มชั้นเยี่ยมที่บรรจุความดิบ ความโกรธของวัยรุ่น ที่แสดงผ่านออกมาทางความฟู่ฟ่าได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพลงเด่นอย่าง Teenage Angst, 36 Degrees หรือ Bruise Pristine นั้นมันสะใจทุกครั้งที่เราได้ฟัง ส่วน Hang on to your IQ และ I Know เพลงช้าก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน และจากการที่มันออกวางขายได้ถูกที่ถูกเวลา เพราะมันเป็นช่วงบูมของ Brit Pop อยู่ ทำให้พวกเขาดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง และเป็นหนึ่งในไม่กี่วงที่รอดจากวิกฤตการณ์ฟองสบู่แตกมาได้จนถึงทุกวันนี้

แต่ว่าหลังจากเริ่มดัง Robert ก็โดนไล่ออกจากวง เพราะว่าเขานิสัยรุนแรงเกินไป พวกเขาเลยดึงเอา Steve Hewitt (สตีฟ) เพื่อนเก่าที่เคยร่วมเล่นกันด้วยสั้นๆกลับเข้ามาในวงแทน แต่ใครจะคิดว่าการเปลี่ยนมือกลองจะส่งผลได้เกินคิด เพราะ Robert เป็นมือกลองที่มือหนักกว่า Steve มาก ทำให้ดนตรีของพวกเขาขาดความหนักหน่วงไปในทันที

พวกเขาออกอัลบั้มที่ 2 Without You I’m Nothing ในปี 1998 ที่มีเพลงดังอย่าง Pure Morning หรือ You Don’t Care About Us ที่มันสะใจ Every You, Every Me ส่งให้พวกเขาดังไปถึงอเมริกาได้ และเพลง Without You I’m Nothing ที่ถึงขนาดดึงความสนใจของ David Bowie ให้มาร่วมงานตอนเล่นสดได้ นอกจากนี้พวกเขายังได้ทำเพลงให้กับหนังโคตรแกลมและเกย์อย่าง Velvet Goldmine ที่พวกเขาไปโผล่นิดๆในเรื่องด้วย

แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มเสื่อมความนิยมลงในอังกฤษ เพราะว่า Brit Pop เริ่มเป็นเรื่องตลกไปแล้ว Black Market Music อัลบั้มที่ 3 ในปี 2000 ไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนเก่า แม้พวกเขาจะพยายามผสมดนตรีฮิปฮอป และแดนซ์เข้าไปในเพลง เช่น Spite and Malice และ Taste In Men แต่มันก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แม้จะมีเพลงเด่นอย่าง Special K แต่มันก็ไม่ได้รับความนิยมเหมือนเก่า พวกเขาเลยหันเหจากตลาดอังกฤษไปสู่ทั่วยุโรปแทน

สองอัลบั้มต่อมาอย่าง Sleeping with Ghosts ในปี 2003 ที่มีเพลงเด่นอย่าง English Summer Rain และ Meds ในปี 2006 ที่มีเพลงเด่นอย่าง Because I Want You นั้น ไม่เปรี้ยงปร้างในอังกฤษแต่ก็ยังได้รับความนิยมจากตลาดยุโรปและกลุ่มแฟนเพลงเช่นเคย

ในปี 2009 พวกเขาเปลี่ยนมือกลองเป็น Steve Forrest และออกอัลบั้มใหม่ Battle for the Sun ที่เป็นการคืนฟอร์มได้อย่างสวยงาม และโชว์ความเก๋าสมกับที่อยู่ในวงการมาได้เกิน 10 ปีเป็นอย่างดี เพราะมันมีเพลงเจ๋งๆอย่าง Ashtray Heart ที่มันสะใจในแบบคลาสสิกของพวกเขา Bright Lights และ Never Ending Why ที่ทำให้เรารู้สึกดีที่ทุกครั้งที่ฟัง และ Speak in Tongues ที่ทรงพลังและยอดเยี่ยม มือกลองใหม่ ก็ทำหน้าที่ได้อย่างโดดเด่น พวกเขายังคงรักษาฐานแฟนเดิมมากกว่าที่พยายามปรับตัวเข้ากับวงกว้าง ถือเป็นความมุ่งมั่นที่ดีของพวกเขา

Placebo-live

หลังจากอัลบั้มใหม่ พวกเขาก็มีโอกาสมาเยือนเมืองไทยถึงสองครั้ง ทั้งในงาน Tiger Translate และ Sonic Bang ซึ่งก็ทำให้ได้สัมผัสพลังในการแสดงสดของพวกเขาเป็นอย่างดี ทั้งสองงานพวกเขาเล่นแบบจัดเต็ม ได้ใจแฟนๆไปเยอะมากครับ ส่วนตัวชอบเจ๊ Fiona Brice ที่มาเล่นคีย์บอร์ดและเธเรมินในคอนเสิร์ตด้วย เท่ดี เจ๊รับหน้าที่เรียบเรียงออเคสตราให้วงในอัลบั้มด้วยครับ

ยิ่งเวลาผ่านไป พวกเขาก็ยิ่งทำเพลงเพื่อฐานแฟนเพลงตัวเองขึ้นเรื่อยๆ เพลงที่ออกมาจึงไม่ได้เน้นขายวงกว้าง แม้จะดูเหมือนพวกเขาเงียบไป แต่การมีฐานแฟนเพลงที่แน่นหนานี่ล่ะครับ ที่ทำให้พวกเขาทำเพลงได้โดยไม่ต้องแคร์ใคร สามารถรักษาสถานการณ์เป็นวงคัลต์ได้ และ Loud Like Love งานใหม่ในปีนี้ ก็มาในแนวทางที่เขาถนัด ตั้งแต่เพลงแรก Loud Like Love ที่มีเสียงกีตาร์แบบคอลเลจร๊อคคลอไปตลอดเพลง ขณะที่ Hole On To Me ก็ได้เสียงของ Brian มาทำให้มันเป็นบัลลาดที่เด่นมากๆ อีกเพลงที่แฟนเพลงรุ่นดั้งเดิมน่าจะชอบคือ Too Many Friends ที่ค่อยๆไล่อารมณ์ได้ยอดเยี่ยม Exit Wounds ก็เต็มไปด้วยบีทที่หนัก และพลังที่เต็มเปี่ยม Begin The End ก็เป็นอีกเพลงที่เรียบเรียงได้อย่างยอดเยี่ยมมาก Loud Like Love เป็นงานที่ทำไม่ทำให้แฟนผิดหวังแน่นอนครับ (เวอร์ชั่นที่ขายในไทยมี DVD เล่นสดในสตูด้วยครับ)

ตามที่จั่วหัวไปว่า วิธีการเอาตัวรอดในวงการเพลงของแต่ละวงก็ไม่เหมือนกัน Placebo เลือกที่จะรักษาสถานะวงคัลต์ มากกว่าจะเอาใจมวลชน ซึ่งก็อาจจะเป็นคำตอบที่เหมาะสำหรับพวกเขา เพราะทำให้พวกเขาได้ทำเพลงตามใจเต็มที่จริงๆ

No comments: