ตั้งแต่อินเตอร์เน็ต Napster MP3 YouTube Facebook และ Myspace อุบัติขึ้นมา มีวงดนตรีหลายต่อหลายวงที่โด่งดังในชั่วข้ามคืน ด้วยความเป็นวงฮิพ เก๋ นำเทรนด์ สร้างชื่อออนไลน์ จนดังขึ้นมา แต่ก็เป็น One Trick Pony พอเทรนด์เปลี่ยน คนก็ไม่สน จนวงฮิพๆเหล่านั้นล้มหายตายจากไปหลายวง แต่บางวง แม้จะเริ่มด้วยการเป็นวงฮิพ แต่กลับสามารถพัฒนาตัวจนอยู่ในวงการเพลงได้อย่างมั่นคง หนึ่งในนั้นคือ MGMT นี่ล่ะครับ
MGMT เริ่มต้นขึ้นในปี 2002 โดยเพื่อนคู่หูเด็กอาร์ตปีหนึ่งในมหาวิทยาลัย Wesleyan ใน คอนเนคติคัต สหรัฐ ประกอบด้วย Andrew VanWyngarden (แอนดริว ร้องนำ และทำเกือบทุกอย่าง) Ben Goldwasser (เบน ร้อง และเล่นหลายอย่างเช่นกัน) ทีแรกพวกเขาก็ไม่ได้คิดจะตั้งวงดนตรีอะไรหรอก แต่ตั้งใจแค่มานั่งคุยกัน เปิดเพลงที่ชอบให้กันฟัง ไปๆมาๆ พวกเขาก็เริ่มทำเพลง แสดงสดบนเวที โดยผสมผสานซาวด์แนว Noise Rock เข้ากับดนตรีอีเล็กโทรนิกส์ และเมื่อเรียนจบ ก็ได้ทำงานเพลงต่อและออกทัวร์ซัพพอร์ทให้กับวง of Montreal เพื่อดัน EP Time to Pretend ที่พวกเขาวางขายบน iTunes ในปี 2005 อีกด้วย
ในตอนแรก พวกเขายังคงเรียกตัวเองว่า The Management อยู่ ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น MGMT เนื่องจากชื่อไปซ้ำกับวงอื่น และดูเหมือน EP Time to Pretend จะไปเข้าหูแมงมองหลายราย ทำให้ปี 2006 พวกเขาถูกดึงตัวเข้าค่ายเพลงใหญ่อย่าง Columbia Records โดยที่พวกเขาเองยังแทบไม่เชื่อ คิดว่ามีคนมาเล่นตลกซะด้วยซ้ำ
แต่เมื่อได้เข้าสังกัดจริงๆ พวกเขาก็เดินหน้าทำงานเพลง หยิบเพลงเก่ามาปัดฝุ่น จนได้งานชุดแรก Oracular Spectacular ออกวางขายแบบดิจิตอลปลายปี 2007 แล้วค่อยออกขายแบบซีดีและแผ่นเสียงช่วงต้นปี 2008 พร้อมทั้งปล่อยซิงเกิ้ลออกมาเพื่อสนับสุนอัลบั้มพร้อมทั้งออกทัวร์ด้วย แม้ยอดขายทีแรกมันจะไม่ได้ดังตูมตามอะไร แต่ว่าพวกเขาก็ค่อยๆสั่งสมชื่อเสียง รวมทั้งคำชมจากนักวิจารณ์ในแง่บวก ทำให้ Oracular Spectacular กลายเป็นอัลบั้มที่มาแรงได้
ทีแรกตอนค่ายเพลงถามว่าอยากได้ใครมาโปรดิวซ์ พวกเขาตอบเอาฮาว่า Prince, Nigel Godrich และบารัค โอบาม่า กวนมาแบบนี้ ค่ายเพลงก็ยังใจดี จัด Dave Fridmann โปรดิวเซอร์ของ The Flaming Lips และ Mercury Rev วงหลอนๆรุ่นพี่ ทำให้ Oracular Spectacular มีกลิ่นเหมือนวงรุ่นพี่เหล่านั้นด้วย ซิงเกิ้ลเปิดตัวมันคือ Time to Pretend เพลงเก่าที่เอามาปัดฝุ่นใหม่ กลายเป็นเหมือนบทเพลงของชนเผ่าลึกลับ ที่ค้นพบเครื่องดนตรีอีเล็กโทรนิกส์ที่นักบินทำตก กลายเป็นเพลงหลอนๆ คลุ้งๆ บวกกับ MV ที่ได้รับอิทธิพลจาก Lord of the Flies ทำให้มันดูแหวกเข้าไปใหญ่
ซิงเกิ้ลที่ตามมาอย่าง Electric Feel ก็ล่องลอยไม่แพ้กัน มันคือเพลงไซคีเดลิกบทบีทเพลงเต้นรำชิลๆ ที่ผสมดนตรีพ๊อพเข้าไปได้อย่างลงตัวมากๆ ขณะที่เพลง Kids บีทเร็วขึ้นจนเป็นเพลงเต้นรำได้ เสียงดนตรีประกอบที่คลอไปตลอดเพลง และจังหวะ ทำให้เรารู้สึกว่ามันคือภาคต่อของ Baby ของ Pnau ด้วย แต่ละเพลงในอัลบั้มเป็นการผสมเพลงอินดี้พ๊อพ อีเล็กโทรนิกส์ และไซคีเดลิกออกมาได้อย่างลงตัวและแซ่บเหลือกัน ฟังดูแล้วก็เหมือนกับ The Flaming Lips ที่หันมาเต้นรำ เหมือนเดวิด โบวี่ มาทำงานดิสโก้เพี้ยนๆ ไม่แปลกที่ Oracular Spectacular จะเป็นงานเปิดตัวที่โดดเด่นมากๆในปีนั้น และทำให้พวกเขากลายเป็นวงหน้าใหม่มาแรงขวัญใจหลายๆคนไปเลยทีเดียว (โดยส่วนตัวผมเห็นว่าวงมีส่วนที่เหมือน Empire of the Sun ที่เขียนถึงครั้งก่อนไม่น้อยครับ)
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากในชุดแรก พวกเขาก็พบปัญหาหนักใจคล้ายกับหลายๆวงคือ จะทำเพลงแบบเดิมกันเหนียว หรือจะหาแนวทางใหม่เพื่อพัฒนาตัวเอง พวกเขาเลือกอย่างหลัง และดูเหมือนเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง เมื่อ Congratulations ออกวางขายในปี 2010
กับ Congratulations พวกเขาเลือกหันมาโปรดิวซ์อัลบั้มเอง โดยได้รับความช่วยเหลือจาก Sonic Boom ของ Spacemen 3 และแค่ซิงเกิ้ลแรกมันก็น่าสนมากแล้ว Flash Delirium เป็นเพลงพ๊อพคลาสสิกที่ทำให้เรานึกไปถึงงานที่โปรดิวซ์โดย Phil Spector ที่อลังการและเต็มไปด้วยเสียงประสานที่งดงาม แต่ยังคงกลิ่นของดนตรีอินดี้อยู่ ดูเหมือนว่าในงานชุดที่สองพวกเขาจะทิ้งดนตรีเต้นรำไปและหันไปเน้นการแต่งเพลงมากขึ้น เพลงที่เด่นเพลงอื่นก็อย่าง It’s Working ที่เป็นเพลงพ๊อพเสียงประสานเช่นเดียวกัน ขณะที่ Brian Eno ก็ทำให้เรานึกไปถึงเจ้าของชื่อนี้จริงๆ Congratulations คือการพาเราย้อนกลับไปหาอดีตในแพคเกจจากอนาคต ถือว่าเป็นก้าวที่กล้าหาญของพวกเขา แต่ผลที่ออกมามันก็คุ้มค่า เพราะเป็นงานที่ยอดเยี่ยม จะเสียก็ตรงที่ ปกนี่ล่ะครับ
และเมื่อพวกเขากลับมากับอัลบั้มใหม่ ที่ใช้ชื่อเรียบง่ายชื่อเดียวกับชื่อวงเลย พวกเราก็ได้แต่สงสัยว่าพวกเขาจะมาไม้ไหน หลายคนคงต้องการเพลงพ๊อพเก๋ๆแบบอัลบั้มแรก เพราะเห็นกลับไปร่วมงานกับ Dave Fridmann อีก แต่ไปๆมาๆ มันคือภาคต่อของ Congratulations อย่างแนบเนียน แต่พวกเขาก็โตขึ้นไม่น้อยครับ ตั้งแต่ได้ฟังซิงเกิ้ลแรก Your Life is a Lie เพลงพ๊อพแนวทดลอง ที่เสียงย้อนยุคใช้ได้เลย ตัวเพลงเต็มไปด้วยเสียงโครมคราม แต่ติดหูเราตั้งแต่ฟังครั้งแรก ขณะที่ Alien Days เหมือนงานยุคแรกๆของเดวิดโบวี่ที่ล่องลอย ส่วน A Good Sadness ก็มีเสียงอีเล็กโทรนิกส์มาประกอบ แต่ไม่ใช่เพลงพ๊อพติดหูแน่นอนครับ อีกเพลงที่ทำให้เราได้กลิ่นของเพลงเก่าคือ Introspection โดยเฉพาะท่อนฮุค
MGMT คืองานที่ตีความงานดนตรีในอดีตแล้วนำเสนอในยุคปัจจุบันได้ยอดเยี่ยม และพวกเขาก็พัฒนาตัวเองไปไกลจากภาพลักษณ์วงฮิพๆเก๋ๆจากชุดแรก กลายเป็นวงที่มีวิสัยทัศน์ล้ำหน้า และโดดเด่นไปจากวงรุ่นเดียวกันอีกหลายวง จนเล่นเอาอยากติดตามต่อไปยาวๆเลยครับ
No comments:
Post a Comment