Monday, July 15, 2013

Noah and the Whale ฉีกออกจากเพื่อนร่วมรุ่น

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เทรนด์แนวเพลงโฟล์คยุคใหม่ของอังกฤษก็ได้รับความนิยมมาก ไม่เพียงแต่ในบ้านตัวเอง แต่ยังสามารถข้ามฝั่งไปดังถึงทางอเมริกา ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Mumford and Sons ที่เคยเขียนถึงไปแล้ว และยังมีศิลปินร่วมรุ่นวงอื่นอีก ซึ่งถ้าพูดถึงแนวเพลงนี้แล้ว ก็ต้องพูดถึง Noah and the Whale อีกวงดังของอังกฤษ ที่มาพร้อมกระแสนี้ แต่สามารถฉีกไปจากแนวทางเดิมๆได้

noah2

Noah and the Whale คือวงที่ตั้งขึ้นใน Twickenham ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 2006 โดยสมาชิกคือ Charlie Fink (ชาลี ร้องนำ กีตาร์) Tom Hobden (ทอม ไวโอลิน คีย์บอร์ด) Matt Owens (แมต เบส) Fredd Abbott (เฟรด กีตาร์) และ Michael Petulla (ไมเคิล กลอง) ซึ่งแต่เดิมมีสมาชิกอีกสองคนคือ Doug Fink น้องชายของชาลีในตำแหน่งกลอง ก่อนที่จะลาออกจากวงไปเพื่อที่จะเรียนต่อแพทย์ แล้วได้ไมเคิลมาแทน และอีกหนึ่งคือ Laura Marling แฟนของชาลี ที่ทำหน้าที่ร้องเสริม ที่ออกจากวงไปเพื่อทำงานเดี่ยว พร้อมทั้งจบชีวิตคู่ของทั้งสองด้วย แต่ต่อมาเธอก็กลายเป็นศิลปินในแนวเพลงเดียวกันที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก (อาจจะคุ้มกันก็ได้นะ)

พวกเขาเริ่มต้นทำงานเพลงกันตั้งแต่เริ่มวง และพยายามออกซิงเกิ้ลด้วยตัวเอง และเล่นสดในย่านลอนดอน จนได้โอกาสออกผลงานชุดแรกในปี 2008 ชื่อ Peaceful, the World Lays Me Down ซึ่งก็ทำยอดขายได้ดีถึงกับขึ้นอันดับ 7 ในชาร์ตอัลบั้มของอังกฤษ เพลงในอัลบั้มอาจจะไม่ได้แตกต่างกับวงรุ่นพี่อย่าง Belle and Sebastian หรือ The Magic Numbers ที่ทำเพลงโฟล์คพ๊อพ ฟังสบาย แต่พวกเขาก็ค้นพบเสียงของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ทำให้พ้นข้อหาวงเลียนแบบได้ และกลายเป็นอัลบั้มที่ได้รับความนิยมในหมู่นักฟังเพลง ด้วยเพลงเด่นอย่าง 5 Year Times ที่เคยเป็นซิงเกิ้ลมาก่อน Second Lover ที่มีบรรยากาศเศร้าๆอยู่ในตัว สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้อัลบั้มนี้โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือเสียงร้องเสริมของ Laura ที่สร้างเสน่ห์ให้กับวงพวกเขาได้เป็นอย่างดี น่าเสียดายที่เมื่ออกอัลบั้มชุดนี้แล้วเธอก็ออกจากวงไป แต่ว่า Charlie ก็ไปโปรดิวซ์งานชุดแรกให้กับเธอ

เมื่อเปิดตัวได้อย่างงดงาม แม้จะต้องเปลี่ยนสมาชิกบ้าง แต่พวกเขาก็หาแนวทางเพลงที่เหมาะกับตัวเองได้แล้ว และการร้างลาจากกันของ Charlie กับ Laura ก็กลายมาเป็นแรงผลักดันในการทำอัลบั้มใหม่ของพวกเขา (ศิลปินนี่ไม่ปล่อยให้อะไรเสียเปล่าจริงๆ) ซึ่งก็กลายมาเป็น The First Days of Spring ในปี 2009 ซึ่งผลจากความเศร้า ทำให้ความเป็นพ๊อพหายไปจากอัลบั้มไม่น้อย แต่สิ่งที่มาแทนก็คือ โทนเพลงที่จริงจังและละเมียดกว่าเดิม และฟังดูอลังการมากขึ้นด้วยภาคเครื่องสายที่โดดเด่น ซึ่งเราจะสัมผัสได้ตั้งแต่เพลงเปิดอัลบั้มอย่าง The First Days of Spring ไม่แปลกอะไรที่มันถูกตัดออกมาเป็นซิงเกิ้ลแรกของอัลบั้ม เพลงเด่นอีกเพลงคือ Slow Glass ที่จังหวะเร็วขึ้นมาอีกหน่อย ที่ผมชอบมากอีกเพลงคือ Love Of An Orchestra รวมทั้งอินเทอลูดก่อนและเริ่มเพลง ที่ฟังดูแล้วฮึกเหิมแต่กลับมุ้งมิ้งน่ารัก ผสมกันได้อย่างดีมากๆ อีกเพลงที่เด่นคือ My Door Is Always Open ที่ซึมเศร้า ราวกับจะอ้อนวอนให้รักเก่ากลับมาเสมอ เทียบกับงานชุดแรกแล้ว แม้ยอดขายจะไม่ดีเท่า งานชุดนี้โดดเด่นและเป็นพัฒนาการชั้นเยี่ยมของพวกเขา ที่ทำให้สลัดจากเงาของวงรุ่นพี่ออกมาได้อย่างชัดเจน

ba3a5934

หลังจากเก็บเกี่ยวความสำเร็จ พวกเขาก็กลับมาในปี 2011 กับอัลบั้ม Last Night on Earth ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังจากที่อัลบั้มก่อน พวกเขาสร้างเพลงจากความทุกระทม และความอาดูร แต่คนเราคงไม่ระทมได้นานขนาดนั้น LNOE เลยเป็นงานที่กลับสู่ทางสว่าง เหมือนกับคนที่เก็บตัวอยู่ในห้องนอนเป็นวันๆแล้วพบว่ายามเช้ามันงดงามแค่ไหน มันคืออัลบั้มที่ช่วยให้เรามองเห็นความสดใสของชีวิต ตั้งแต่เพลงเปิดอัลบั้ม Life is Life ที่บ่งบอกในเนื้อเพลงว่าเขากลายเป็นคนใหม่และมีความสุขกับมันมากๆ นอกจากนี้พวกเขายังก้าวออกจากรากโฟล์คพ๊อพด้วยการผสมเสียงสังเคราะห์ลงไปมากขึ้น ต่างกับเพื่อนร่วมรุ่นที่ยังคงเกาแบนโจอย่าง Mumford and Sons กลายเป็นก้าวที่น่าสนใจอีก แต่ละเพลงช่างสดใสและเต็มไปด้วยความหวัง L.I.F.E.G.O.E.S.O.N ก็เป็นปรัชญาชีวิตว่า ยังไงมันก็ต้องเดินต่อไป ส่วนคนที่ชอบเพลงชวนให้โยกตามอย่างผมก็ต้อง Waiting For My Chance To Come กับ Tonight's The Kind of Night ที่ฟังเพลินได้ชิลๆ แถมมีเสียงเครื่องสายมาประกอบเป็นจังหวะได้อย่างลงตัว ใครต้องการเพลงช้าๆแบบเดิมๆหน่อยก็ต้องลองฟัง Wild Thing ที่มีกลิ่นอายของ Lou Reed ไม่น้อย และก็เป็นอัลบั้มนี้เอง ที่ทำให้พวกเขาสามารถก้าวข้ามไปดังในประเทศอื่นได้ ส่วนหนึ่งก็คงต้องขอบคุณกระแสแนวเพลงบริติชโฟล์คด้วย แต่จริงๆแล้วมันก็เยี่ยมด้วยตัวของมันเองอยู่

5551658031_da7c1b2392_z

และด้วยความสำเร็จในวงกว้าง ทำให้หลายคนเฝ้ารอการกลับมาของพวกเขา ซึ่งในที่สุดพวกเขาก็กลับมาในปีนี้ด้วยอัลบั้ม Heart of Nowhere ที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของพวกเขาอีกขั้น ในแต่อัลบั้มขอบเขตของเพลงพวกเขาจะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ และในชุดนี้ กลิ่นของดนตรียุค 80 ที่ติดหูก็เจือเข้ามาในอัลบั้ม พร้อมทั้งภาคเครื่องสายที่กลับมาเสริมได้อย่างโดดเด่น ตัวอย่างคือเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้ม Heart of Nowhere ที่เริ่มต้นด้วยเสียงเครื่องสายที่งามจนเล่นเอาเราตะลึง และยังมี Anna Calvi เข้ามาร่วมร้องด้วย หลังจากเสียงนักร้องหญิงหายไปถึง2อัลบั้ม ซิงเกิ้ลแรกอย่าง There Will Come a Time เสียงร้องครวญของ Charlie ก็ยังคงโดดเด่นเช่นเคย All Through the Night ก็เร่งเร้าด้วยจังหวะเพลงร๊อคและแอบมีกีตาร์โซโล่เล็กๆ ราวกับกำลังขับรถไปบนถนนตัดกลางอเมริกา อีกเพลงที่ผมชอบมากๆคือ ซิงเกิ้ลที่ 2 Lifetime ที่เป็นเพลงพ๊อพฟังสบาย โดดเด่นด้วยเสียงไวโอลิน ฟังแล้วสดชื่นเหมือนกับวันที่แดดอบอุ่น ยิ่งถ้าได้ดู MV จะได้บรรยากาศของวัยเยาว์มาก ไม่ควรพลาดครับ แต่ละเพลงในอัลบั้มทำให้เราสัมผัสได้ว่าพวกเขาเติบโตขึ้นจากเดิมมากจริงๆ มันยังคงยอดเยี่ยม ไม่แปลกอะไรที่ทำให้มันทำยอดขายได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้รุ่นพี่ของมัน

Noah and the Whale เป็นวงที่แม้จะเริ่มต้นมากับเทรนด์บริติชโฟล์ค แต่พวกเขาก็พัฒนาตัวเองจนไม่ได้หยุดแค่แนวเพลงแนวเดียวอีกต่อไป และค้นพบเสน่ห์ในแบบของพวกเขาเองจนทำให้เรารู้สึกว่าอยากติดตามต่อไป

No comments: