Sunday, March 3, 2013

The Blue Nile ของดีไม่ต้องมาบ่อย

Technorati Tags: ,

ตอนนั่งอ่านหนังสือพิมพ์เล่มนี้ พี่น้องชาวบางกอกรวมทั้งชาวจังหวัดอื่นก็คงทราบผลการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯกันเรียบร้อยแล้ว หวังว่าจะไปใช้สิทธิ์กันทุกคนนะครับ ได้คนที่ชอบก็ยินดีด้วย ได้คนที่ไม่ชอบก็ทนๆหน่อยครับ ตามรูปแบบระบบประชาธิปไตย หวังว่าต่อไปจังหวัดอื่นคงมีโอกาสได้เลือกบ้าง

The Blue Nile

กลับมาเรื่องดนตรี เมื่อเดือนก่อนผมเพิ่งได้งานอัลบั้ม Hats ฉบับ Re-Issued ของวง The Blue Nile วงโปรดที่ฟังมาตั้งแต่เรียนมัธยม แม้จะเป็นงานเพลงเก่าตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อน แต่เมื่อหยิบมาฟังแล้วคุณภาพก็ไม่ได้ลดลงเลย พอมานึกดู ตลอดระยะเวลาที่พวกเขาอยู่ในวงการเพลงมานานถึงเกือบ 30 ปี แต่พวกเขากลับมีผลงานเพลงแค่ 4 ชุดเท่านั้น เทียบกับศิลปินเพลงพ๊อพที่พยายามจะเข็นงานเพลงออกมาขายถี่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ พวกเขาช่างทำเพลงอย่างใจเย็นจริง เหมือนการบ่มไวน์ชั้นดี ที่ต้องให้เวลากับมัน จึงจะได้งานเพลงที่กลมกล่อมและมีคุณภาพ ไม่ใช่งานสุกเอาเผากินแบบลวกๆ

The Blue Nile เริ่มต้นในเมืองกลาสโกลว์ แดนวิสกี้ สก๊อตแลนด์ โดยเป็นการรวมตัวของสมาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยกลาสโกลว์อย่าง Paul Buchanan (พอล) Robert Bell (โรเบิร์ต) และ Paul Joseph Moore (พอล) พวกเขาเริ่มทำงานเพลงโดยใช้เน้นไปที่อุปกรณ์อีเล็กโทรนิกส์ เพราะพวกเขาเองไม่ได้มีความสามารถในการเล่นดนตรีนัก (ก็ตลกดีนะ) พวกเขาพยายามออกซิงเกิ้งแรก I Love This Life และก็ได้ค่ายเพลง RSO เข้ามาช่วย ก่อนที่ค่ายเพลงจะเจ๊งและเพลงของพวกเขาก็หายไปพร้อมกันด้วย

แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้ ยังคงพยายามทำเพลงต่อไป และโชคดีที่บริษัทเครื่องเสียง Linn ได้ฟังเพลงของพวกเขา และชื่นชอบจนตัดสินใจให้วงทำเพลงเพื่อโชว์ศักยภาพของเครื่องเสียงของพวกเขา และ Linn ชอบผลงานที่ออกมามาก จนตัดสินใจตั้งค่ายเพลงเพื่อขายงานให้พวกเขา แหม่ คนเราพยายามไว้แล้วจะได้ผลดีแบบนี้เอง และกลายมาเป็นอัลบั้มเต็มชุดแรก A Walk Across The Rooftops ในปี 1984

A Walk Across The Rooftops เป็นงานเปิดตัวที่ทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จัก มันคืองานเพลงที่นิ่มนวล อบอุ่น เต็มไปด้วยบรรยากาศแบบเมืองใหญ่ยามราตรี เหมือนลูกผสมของดนตรี Urban ทั้งหลายแนวเข้าด้วยกัน เบสนิ่มๆ เสียงกีตาร์ที่สอดแทรกเข้ามา เสียงอีเล็กโทรนิกส์ที่คลอไปกับเพลง และเสียงร้องของพอลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะซิงเกิ้ล Tinseltown in The Rain ที่โดดเด่นอย่างไร้ที่ติ และเป็นเพลงที่เร็วที่สุดในอัลบั้ม (แล้ว) พวกเขารู้จักใช้เครื่องดนตรีต่างๆเข้ามาใส่ในเพลง โดยที่รู้จังหวะที่จะปล่อยมันออกมาได้อย่างเชียวชาญ แม้อัลบั้มจะมีแค่ 7 เพลง แต่ก็รวมเพลงที่โดดเด่นเข้าไว้ด้วยกัน ไม่แปลกอะไรที่พวกเขาจะเป็นที่สนใจของวงการเพลงในทันที

paul-buchanan

หลังจากประสบความสำเร็จกับงานชุดแรก พวกเขาก็ใช้เวลาถึงห้าปีในการทำเพลง ทำแล้วทิ้งทำใหม่ จนออกมาเป็นอัลบั้ม Hats ในปี 1989 และมันก็กลายเป็นงานมาสเตอร์พีซของพวกเขา มันคืองานเพลงที่พูดถึงทั้งด้านที่งดงามและแสนเศร้าของความรัก เสียงของพอลยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยวิญญาณเช่นเดิม และพวกเขายังคงสร้างเพลงทำที่เล่นกับการเว้นช่องว่าของเสียงเช่นเดียวกัน ตัวอย่างที่ชัดคือ From A Late Night Train เพลงที่แสนละเมียด แฝงด้วยบรรยากาศที่ซึมเศร้า ในขณะที่เพลงเด่นอีกเพลงอย่าง The Downtown Lights คือเพลงพ๊อพผู้ใหญ่แบบที่หาฟังได้ในยุค ’80 กับบรรยากาศเหมือนกำลังนั่งละเลียดสก๊อตวิสกี้ในผับเงียบๆตอนห้าทุ่ม ส่วน Headlights On The Parade ก็ช่วงสดชื่นและเปี่ยมไปด้วยความหวังจริงๆ Hats เองก็มีเพลงแค่ 7 เพลง แต่มันคือ 7 เพลงที่กลั่นมาอย่างดีแล้ว ไม่มีอะไรเกินจำเป็น ทุกตัวโน๊ตมีคุณค่าในตัวของมันเองทั้งนั้น สมกับการได้รับการยกย่องจากทั้งวงการ

หลังจากได้รับคำชมมากมาย พวกเขาก็กลับไปทำงานเพลงใช้เวลาถึง 7 ปี และกลับมากับ Peace at Last ในปี 1996 และมันก็สร้างความตกตะลึงให้กับวงการ เพราะพวกเขาทิ้งซาวด์อีเล็กโทรนิกส์ที่สร้างในสตูดิโอหรูหรา และหันมาทำเพลงเรียบง่ายด้วยอคูสติกกีตาร์ ผสมกับเสียงประสานแบบกอสเปล จนทุกคนสงสัยว่าพวกเขาต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นนักดนตรีที่มีฝีมือพอที่จะเล่นดนตรีเอง ไม่ใช่พึ่งพาเครื่องจักรหรือ เมื่อฟัง Happiness เพลงที่ทำตามรูปแบบที่ว่ามา หลายคนคงตกใจตั้งแต่แรก เพราะมันช่างเรียบง่ายเสียจริง จนมาโล่งใจได้บ้างเมื่อได้ฟัง Sentimental Man ที่ใกล้เคียงกับงานเดิมของพวกเขา แต่โดยรวมแล้ว ไม่ว่าจะเพลงอย่าง Family Life หรือ War is Love ก็ยังคงเป็นเพลงที่เรียบและนิ่มนวล ส่งอิทธิพลไปทั้งอัลบั้ม จนนักวิจารณ์หลายคนไม่ชอบเอา และมันก็ทำยอดขายได้ไม่ดีนัก ทั้งที่จะเรียกได้ว่าเป็นอัลบั้มที่มีความเป็นมนุษย์มากที่สุดของพวกเขาแล้ว

และคราวนี้พวกเขาทิ้งไปอีก 8 ปี เพื่อออกงานเพลงชุดใหม่ High ในปี 2004 และหลังจากที่รู้ตัวว่าผิดพลาด พวกเขาก็เรียนรู้ที่จะแก้ตัว โดย High เหมือนย้อนกลับไปงานชุดแรกของพวกเขา โดยใส่อารมณ์จาก Peace at Last เข้าไปด้วย กลายเป็นงานเพลงที่เสพได้ง่ายกว่าเดิม และเปี่ยมด้วยคุณภาพ เพลงเร็วอย่าง She Saw the World ยังคงโดดเด่นทุกครั้งที่ได้ฟัง I Would Never ก็ค่อยๆไล่เรียงบรรยากาศไป ส่วน Because of Toledo ก็ไพเราะด้วยเสียกีตาร์กับการครวญเพลงของพอล Everybody Else คือเพลงที่ทะลุเวลามาจากงานชุดแรก และทำให้เราได้รู้ว่าเพลงของพวกเขาอยู่เหนือกาลเวลา ก่อนจะปิดท้ายอัลบั้มด้วย Stay Close ที่แสนนุ่มนวลและอ่อนโยนอย่างงดงาม คุ้มค่าการรอเป็นเวลายาวนาวของพวกเรา

จากที่ดู ระยะห่างของแต่อัลบั้มของพวกเขาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากงานล่าสุดนี่ก็ผ่านมาได้ 8 ปีแล้ว ไม่แน่ว่าเราอาจจะมีโอกาสได้ฟังงานใหม่ของพวกเขาในเวลาอันใกล้นี้ ของดี ไม่ต้องมาบ่อยก็ได้ ขอแค่ให้ดีคุ้มค่ากับการรอคอยของเราเท่านั้น

No comments: