ตามที่เกริ่นไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ว่าผมอยากจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับความทรงจำเกี่ยวกับการเดินไปเลือกซื้อหาแผ่นซีดี ไม่ใช่แบบทุกวันนี้ที่แค่คลิกสองคลิก เราก็สามารถโหลดมาได้แล้ว จะว่าผมเป็นคนแก่ตกยุคหรืออะไรก็ว่าได้ครับ แต่ผมก็ยังมีความสุขกับสิ่งที่จับต้องได้อยู่นะครับ
จริงๆแล้วนอกจากบทความของคุณอาทิตย์ใน Esquire ปกเวสลีย์ สไนเดอร์ ที่ทำให้ผมต้องฉุกคิดแล้ว มีเหตุการณ์อีกสองสามอย่างที่ทำให้ผมกลับมาหาสิ่งเก่าๆที่จับต้องได้ แทนที่จะเป็นแค่ไฟล์ในคอมเท่านั้น
อย่างแรกคือ ผมตัดสินใจเซ็ตระบบเครื่องเสียง ที่หอบหิ้วมาด้วยกันจากญี่ปุ่น แต่ตั้งแต่ย้ายมาอยู่บ้านหลังนี้ได้สองปีกว่า ผมก็ไม่ได้เซ็ตมันไว้ฟังเพลงซะที จนหลังจากเคลียร์พื้นที่ ผมก็ได้เอามันมาตั้งไว้ที่ชั้นเก็บแผ่นซีดีซะที มันเป็นแค่เครื่องเสียงมินิคอมโปเล็กๆ แต่เสียงดีใช้ได้ ที่ผมต้องหอบกลับมาจากญี่ปุ่น แม้จะซื้อมันมาตั้งแต่สมัยเรียนที่นั่นตอนปี 2002 สิบปีมาแล้ว เพราะว่ามันมีฟังชั่นสองอย่างที่หาไม่ได้ในเครื่องเสียงปัจจุบันครับ นั่นคือ เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ต กับเครื่องเล่น MiniDisc สองเทคโนโลยีที่ตายไปจากวงการแล้ว แต่ที่บ้านผมยังมีเทปอีกระดับหลายร้อยตลับ และมี MiniDisc ที่เก็บไว้ดูเล่นอีกไม่น้อย เลยคิดว่ามีค่าพอที่จะหอบกลับมาด้วยครับ
การได้เปิดเพลงจากซีดีฟัง มันเป็นสิ่งที่ดูเชยขึ้นกว่าเดิมมาก ในทุกวันนี้ เครื่องเล่นซีดีคงมียอดขายน้อยลงมากเมื่อเที่ยบเครื่องเล่น MP3 หรือ Dock สำหรับ iPhone/iPad ลองเดินดูตามร้านเครื่องไฟฟ้า ก็คงจะเห็นได้ครับ ไม่ต้องพูดถึงแผงซีดี ที่ทุกวันนี้ก็ซบเซาลงเรื่อยๆ ยิ่งการเปิดตัวของ iTunes Store ในไทย และความพยายามของหลายค่ายเพลงที่จะขายเพลงแบบ MP3 มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้หนทางของ CD มืดมนเข้าไปอีก
ส่วนตัวผมเอง ก็ใช้เวลามานั่ง แงะเอาซีดีออกจากกล่องพลาสติก แล้วใส่ลงในซองพลาสติก เพื่อที่จะได้ลดพื้นที่เก็บลง เวลาจับแต่ละแผ่น ความทรงจำต่างๆก็พรั่งพรูออกมาเสมอ ว่าแต่ละแผ่น ไปได้มาที่ไหน งมหาแค่ไหนกว่าจะได้มา บางแผ่น จำได้ว่า ผมไปรอซื้อวันที่ออกขายครั้งแรกเลย บางแผ่นก็ได้มาจากเพื่อนที่แนะนำมาให้ฟัง แผ่นเพลงหายากที่ไปเจอจากร้านซีดีมือสองที่ญี่ปุ่น บางแผ่นที่ซื้อสะสมหลายเวอร์ชั่นเหลือเกิน (Olympian ของ Gene) แผ่นที่มีการออกแบบอาร์ตเวิร์คอย่างสวยงาม ไม่ก็เข้าขั้นหวาดเสียวไปเลย ไม่ก็แผ่นที่มากับแพคเกจพิเศษ ที่รูปแบบช่างสวยงามระดับงานศิลปะเลยทีเดียว
ด้วยความที่โตมาในต่างจังหวัด การสะสมแผ่นเสียงเป็นเรื่องไกลตัวมาก แต่ผมก็ให้ความสำคัญและความรักกับทั้งเทปและซีดีที่ครอบครองไว้ เวลาหยิบแต่ละแผ่นออกมา ก็จดจำร้านที่ไปซื้อ ความดีใจที่ได้สัมผัสมันเป็นครั้งแรก ความรู้สึกเหล่านี้ เอาการโหลดเพลงมาเป็นไฟล์มาเทียบกันมันคงลำบากครับ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่จับต้องได้จริงๆ ความทรงจำทั้งหลายมันฝังอยู่ในแผ่นเหล่านั้น ที่ทุกครั้งที่หยิบจับขึ้นมา ภาพอดีตก็ผุดขึ้นมาให้ได้รำลึกอย่างเพลิดเพลิน
อีกสิ่งนึงที่ทำให้ผมมองย้อนในอดีตก็คือ MakerBot Mixtape ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นเครื่องเล่น MP3 ราคาถูก (http://www.makerbot.com/mixtape/) ที่มาในรูปแบบของเทปคาสเซ็ต ที่ผู้ซื้อต้องมาประกอบเอง โดยจะต้องขึ้นรูปชิ้นส่วนด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติเอง (ตอนนี้ในเมืองนอกเริ่มมีขายทั่วไปครับ) และเลือกเพลงเพื่อก๊อปปี้ลงไปในตัวเครื่อง เสร็จแล้วก็เขียนสติกเกอร์แปะเทป เอาใส่ตลับ แล้วเอาไปยื่นให้คนที่เราชอบ เค้าก็สามารถเสียบหูฟังฟังได้เลย
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่คิดต่อจากเรื่องแรกล่ะครับ จริงๆผมก็รู้สึกมานานแล้วว่า ไม่ได้ทำมิกซ์เทป หรือเทปเพลงหรือซีดีที่เราเลือกเพลงเอง แล้วเอาไปให้ใครซักคน ตั้งแต่เครื่องเล่น MP3 ดังขึ้นมาก การทำมิกซ์เทปก็เป็นศิลปะอย่างนึงนะครับ ใครเคยผ่านช่วงวัยรุ่นที่ต้องทำเทปเพลงเหล่านี้ไปให้คนที่ชอบคงรู้ดี ไหนจะต้องมานั่งเลือกเพลงหวานๆ ที่คิดว่าเค้าน่าจะชอบแนวนี้ (ส่วนตัวผม ไม่ชอบเพลงตลาดภาคบังคับแต่ไหนแต่ไรครับ) มานั่งจัดลำดับเพลง เล็งดูว่า เทปหน้านึงจะได้กี่เพลง นั่งอัดไปอัดมาให้ไม่สะดุด พอเทปเสร็จ ก็ต้องมานั่งออกแบบปกให้ดูสวยงาม ตั้งใจอีกต่างหาก กว่าจะได้แต่ละตลับนี่ ลำบากเอาเรื่องนะครับ แต่เวลาทำเสร็จ และเอาไปให้คนๆนั้นนี่ มันช่างตื่นเต้น เป็นอะไรที่น่ารักจริงๆ
พอมาเป็นซีดีและไดรฟ์ซีดีแบบที่เขียนแผ่นได้เริ่มราคาถูก เราก็เปลี่ยนจากการอัดเทป มาเป็นไรต์ซีดีให้กันแทน รวมไปถึงช่วง MiniDisc ที่ทำเช่นเดียวกันได้ด้วย แม้สื่อจะต่างออกไป แต่ขั้นตอนก็ยังคงคล้ายเดิม การเลือกเพลง การออกแบบปกก็ยังเป็นความเพลิดเพลินอยู่ ผมเองก็ไรต์ซีดีไปให้หลายคนหลายแผ่นเหมือนกัน มานึกตอนนี้บางทีก็ยังอายว่า เลือกเพลงนั้นเพลงนี้ได้ยังไง ถ้าจะนับจริงๆ ครั้งสุดท้ายที่ผมนั่งไรต์แผ่นให้ใคร น่าจะเป็นแฟนคนปัจจุบันตั้งแต่คบกันใหม่ๆนั่นล่ะครับ ปาไปเจ็ดปีกว่าล่ะ
น่าตกใจเหมือนกัน ว่าความบันเทิงและโรแมนติกเล็กๆจากการเลือกเพลงให้คนที่เรารักมันหายไปแล้ว ตอนนี้เราทำกันอย่างไรครับ ส่งเพลย์ลิสต์ไปให้? ผมเองก็นึกไม่ค่อยออกนะมันช่างต่างกันเสียจริงๆ ระหว่างวัตถุที่จับต้องได้ กับ ข้อมูล 010101 พวกนี้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ เราก็ต้องย้อนกลับมายังสู่สิ่งที่เราจับต้องได้ อย่างเจ้าเครื่องเล่น MP3 ในรูปเทปคาสเซ็ต เพื่อเอามาใช้เป็นสื่อแทนใจสำหรับผู้รักในเสียงดนตรีนั่นเอง พอเห็นแบบนี้แล้ว ก็ทำให้ผมใจชื้นขึ้นมาหน่อยว่า ความสุข ความทรงจำที่ผูกติดกับวัตถุยังคงเป็นเรื่องที่มีค่าอยู่แม้จะเข้าสู่ยุคที่ทุกสิ่งกลายเป็นกระแสของข้อมูลไปเสียแล้ว
No comments:
Post a Comment