Sunday, July 1, 2012

Sam Sparro เจาะเวลาหาอดีต

Technorati Tags: ,

จั่วหัวขึ้นมาก นึกถึงเมื่อวานซืน (วันที่ 27 มิถุนายน 2012) ที่มีมีมในเน็ตว่า เป็นวันที่มาร์ตี้ แมคฟลาย เจาะเวลามาอนาคต ในเรื่อง เจาะเวลาหาอดีต (เจาะไปเจาะมา) แต่จริงๆ คือ มันต้องเป็นปี 2015 เพราะว่ามันคือ 30 ปี จากปี 1985 พูดนอกเรื่องซะนาน จริงๆที่อยากพูดถึงคือ ในการวนลูปของดนตรี เราก็มักจะได้ฟังดนตรีใหม่ๆที่ได้รับอิทิพลจากดนตรีในอดีตเสมอ และในที่สุด ดนตรียุค 80 ก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในยุคปี 2000 เป็นต้นมา ทั้งที่แต่ก่อนหลายคนมองว่ามีแต่เพลงไร้แก่นสาร ทำเพลงป๊อปตลาดราคาถูกอย่างเดียว แต่เมื่อกลับไปค้นเอาเพชรจากยุคนั้นมา หลายคนก็เริ่มเข้าใจว่า ดนตรียุคนั้นมีความพยายามสร้าง Perfect Pop อย่างล้นเหลือ จนจังหวะจากวันนั้นเมื่อนำมาทำซ้ำใหม่ในทุกวันนี้ก็ยังฟังไม่เชย และอยู่เหนือกาลเวลามาก เป็นเหตุให้วงในอดีคอย่าง Duran Duran ก็ได้รับการยอมรับเสียที (พร้อมๆกับสูทสีขาวที่ The Strokes นำมาทำให้เท่อีกรอบ) และอีกหนึ่งศิลปินที่ทำเพลงโดยได้รับอิทธิพลจากยุค 80 มาเต็มๆอีกคนหนึ่งคือ Sam Sparro

 Sam-Sparro1

Sam Sparro ชื่อจริงคือ Samuel Frankland Falson เกิดในออสเตรเลียในครอบครัวนักดนตรี ก่อนที่ครอบครัวเขาจะย้ายมาอยู่ที่ ลอส แองเจลิส ซึ่งพ่อของเขาที่เป็นนักร้องกอสเปลก็ได้ส่งเสริมให้เขาร่วมร้องเพลงกอสเปลด้วยตั้งแต่อายุ 14 จนให้ทำให้ศิลปินที่ไปโบสถ์เดียวกันอย่าง Chaka Khan ชื่นชมในเสียงของเขา และก็ยังป็นช่วงที่เขาเริ่มต้นหัดเล่นคีย์บอร์ดและลองทำเพลงของตัวเอง แต่เพื่อประสบการณืชีวิตเขาก็ได้ตัดสินใจออกเดินทางกลับไปยังซิดนีย์ด้วยตัวเอง โดยไปอาศัยกับตายายตั้งแต่อายุ 16 และทำงานด้าน PR ไปด้วย

ต่อมาเขาย้ายไปลอนดอน เพื่อหาประสบการณ์เพิ่มเติม โดยทำงานห้องจัดการจดหมายในค่ายเพลง และบรรยากาศที่เบ่งบานของคลับซีนในลอนดอนก็สุมไฟความหลงไหลในดนตรีของเขาให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้เขาเริ่มทำงานเพลงของตัวเอง และเป็นดีเจในช่วงวันหยุด ก่อนที่จะเดินทางกลับไปที่ลอส แองเจลิส หลังจากสูบเอาวิชาจากลอนดอนไปแล้ว (และวีซ่าหมดอายุไปพร้อมกับเงินในกระเป๋า)

แต่โลกก็ไม่ได้สวย เขาต้องทำงานในร้านกาแฟเพื่อหาเงิน โชคดีที่เขาได้พบกับ Jesse Rogg เจ้าของค่ายเพลงอินดี้ Modus Vivendi เลยได้โอกาสร่วมงานกับเขาเพื่อทำงานเพลง และได้โอกาสออกซิงเกิ้ลแรก Cottonmouth เพลงอีเล็กโทรนิกส์ช้าๆเนิบๆ พร้อมเบสบวมๆไล่ไปกับเสียงเปียโน ผสมเข้ากับเสียงร้องแบบโซลของเขา แต่เพลงก็ยังไม่สามารถฮิตได้

จากนั้น เขาก็ออก EP ชื่อ Black and Gold ในช่วงปลายปี 2007 ซึ่งเมื่อเทียบกับเพลงก่อนแล้ว เพลงนี้จังหวะเร็วขึ้นมาพอที่จะเปิดในคลับได้ มันเป็นเหมือนการเอาเพลงโซล R&B มาอัพเดทใหม่ บวกเขากับเสียงร้องที่โดดเด่นของเขา กับกลิ่นของเพลงจากยุค 80 ที่กำลังกลับมาเป็นที่สนใจอีกครับ ทำให้มันเริ่มดังในแบบไวรัล จนดีเจดังๆทั้งหลายต้องนำไปเปิดในรายการเพลงจนมันกลายเป็นเพลงฮิตในวงกว้าง และทำให้เขาได้สัญญากับค่าย Island Records ไปเลย

และในปี 2008 เขาก็ได้ออกอัลบั้มแรกชื่อ Sam Sparro ที่ผู้คนรอคอยที่จะฟังต่อหลังจากความสำเร็จของ Black and Gold ซึ่งเขาก็ปล่อยของที่เขาโปรดปรานออกมาอย่างไม่ยั้ง ทำให้มันเป็นอัลบั้มที่อบอวลไปด้วยกลินของดนตรีดิสโก้ ฟังค์ และโซลจากยุค 80 โดยมีแรงบันดาลใจจาก Prince อย่างเห็นได้ชัด แต่ละเพลงในอัลบั้มได้รับการออกแบบมาอย่างดีจนไร้รอยสะดุด เป็นงานที่ทำออกมาได้เนี้ยบมากๆ และนอกจาก Black and Gold แล้ว มันยังมีเพลงเด่นๆเพลงอื่นอย่าง Cut Me Loose ที่เป็นเพลงดิสโกย้อนยุคที่แพรวพราวและฉาบฉวยเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับ 21st Century Life ที่นอกจากเสียงร้องที่โดดเด่นของเขาแล้ว ท่อนเบสที่ตบไปตบมาอย่างฟังค์ก็โดดเด่นเสียจริงๆ แต่ปัญหาที่เราพบคือ เขายึดติดกับเพลงยุค 80 มากเกินไปรึเปล่า

จริงๆแล้วผมก็ชอบเพลงป๊อปยุค 80 ที่ผมเติบโตมาเพราะมันติดหูจริงๆ และวงรุ่นหลังที่นำเพลงยุคนั้นมาปรับปรุงใหม่หลายๆวงอย่าง Les Rhythmes Digitales ที่เริ่มทำในช่วงแรกๆก็ทำออกมาได้ดีและทุกวันนี้ผมก็ยังเพลิดเพลินกับมันเสมอ แต่กับ Sam Sparro ดูเหมือนเขาจะทำเพลงแบบยุค 80 โดยแทบไม่มีการปรับปรุง แต่เป็นการย้อนเวลาไปเอาเพลงยุคนั้นมาเลย ทำให้ได้เพลงอย่าง Hot Mess หรือ Recycle It ที่แทบจะสำเนา Prince มาแบบเต็มๆ ซึ่งเราก็สามารถฟังได้สนุก แต่ปัญหาคือ มันเป็นการยากถ้าคุณคิดจะเลียนแบบ Prince โดยที่ข้ามเหนือเขาไปได้ ทำให้ Sam Sparro กลายเป็นงานที่บูชาครูมากเกินไป แม้จะฟังได้เพลินอย่างไร้ที่ติด แต่ความประณีตและขาดความสดใหม่ ทำให้มันเสียเสน่ห์ที่ควรจะมีไปเสีย จนทำให้หลายคนมองว่าเขาเป็นแค่ One Hit Wonder

SRTP

และในปีนี้ เขาก็กลับมาใหม่อีกครั้งกับงานเพลงชุดใหม่ชื่อ Return to Paradise ซึ่งเขาบอกว่าได้รับอิทธิพลจากคลับซีนในนิวยอร์กช่วงปลายยุค 70 ต่อ ต้น 80 โดยมีเพลงเปิดตัวคือซิงเกิ้ลแรก Happiness ที่ขึ้นต้นเพลงมาด้วยเสียงเปียโนย่ำไปมาจนทำให้เราแอบนึกไปถึง Holiday ของ Dizzee Rascal แต่ก็เป็นเสียงร้องที่โดดเด่นของพวกเขา และเมื่อได้ฟังทั้งอัลบั้ม มันก็ยังเป็นเพลงดิสโกฟังค์ที่ฉาบฉวยเหมือนเดิม เพียงแต่ถอยห่างจาก Prince ออกมา แนวออกจะใกล้เคียงกับ Hercules and the Affairs แต่เขาจะมีกลิ่นของ Funk มากกว่า เพลงอย่าง We Could Fly ก็เหมาะกับการจะไปประกอบฉากในภาพยนต์ที่ตัวละครกำลังฮึกเหิมได้ดี อีกเพลงเด่นคือ ซิงเกิ้ลที่สองอย่าง I wish I Never Met You ที่โดดเด่นด้วยเสียงร้องของเขาบนจังหวะที่เยือกเย็น จนกลายเป็นเพลงเด่นที่สุดในอัลบั้มไป นอกจากนี้เพลงอย่าง Hearts Like Us หรือ Let The Love In ก็โดดเด่นบนฟลอร์ไม่แพ้กัน ในขณะที่ Shades of Grey ก็เป็นเพลงช้าโชว์พลังเสียงของเขาได้เป็นอย่างดี

ดูเหมือนกว่า Sam Sparro ที่ถูกมองว่าเป็น One Hit Wonder จะพบแนวทางของตัวเองที่ชัดมากขึ้นในงานชุดที่สองด้วยการนำเพลงในอดีตมาพัฒนาแทนที่จะทำตามแบบต้นฉบับราวกับย้อนเวลาไปหยิบเอาเพลงจากยุคนั้นมาทำใหม่

No comments: