เวลาพูดถึงเพลงฝั่งอังกฤษ หลายคนก็มักจะมองว่า ถ้าไม่มาจากเมืองแมนเชสเตอร์ อย่างสาย แมดเชสเตอร์หรือรุ่นหลังอย่างOasis ก็ต้องพวกลอนดอนอย่างหนุ่มๆ Blur (เป็นน้าแล้ว) หรือ Suede และศิลปินฮิปฮอปทั้งหลาย ไม่ก็ไปรากเหง้าอย่างลิเวอร์พูลที่มี The Beatles หรือรุ่นหลังอย่าง The Coral แต่พอมองไปทางอีสานของอังกฤษ กลับไม่ค่อยมีวงสร้างชื่อ ขนาดเมืองใหญ่ของอีสานอย่างนิวคาสเซิลก็ถือว่าเงียบ (อาจเป็นเพราะเป็นเมืองอุตสหากรรมซะมากกว่า เลยไม่โดดเด่น) แต่ในที่สุด ก็มีวงลูกหม้อนิวคาสเซิลที่สามารถสร้างชื่อในวงการอินดี้ได้เสียที พวกเขาคือ Maxïmo Park
Maxïmo Park เริ่มต้นโดยสมาชิกตั้งต้นฟอร์มวงกันคือ Duncan Lloyd (ดันแคน กีตาร์) Archie Tiku (อาร์ชี่ เบส) Lucas Wooller (ลูคัส คีย์บอร์ด) Tom English (ทอม กลอง) ฟอร์มวงกัน แล้วแฟนของทอมก็แนะนำให้ดึงตัว Paul Smith (พอล ร้องนำ) เข้ามาทำหน้าที่ร้องนำ และพวกเขาก็ดึงเอาพอลเข้าวงทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าเขาร้องเพลงได้รึเปล่า แต่เลือกเพราะเห็นความบ้าพลังในตัวเขา จึงกลายมาเป็นวง Maxïmo Park ที่ตั้งชื่อตามสวนสาธารณะในไมอามี่ ที่เป็นจุดรวมตัวของชาวคิวบาหัวคอมมิวนิสต์
พวกเขาเริ่มแต่งเพลงโดยได้รับแรงบันดาลใจจากวงโพสต์พังค์รุ่นเก๋าอย่าง Wire, XTC และ The Jam รวมไปถึงวงต้นตำหรับอินดี้รุ่นต่อมาอย่าง The Smiths อีกด้วย ซึ่งช่วงเดียวกับที่พวกเขาเริ่มตั้งวงก็มีวงที่ได้รับอิทธิพลจากยุคโพสต์พังค์เกิดขึ้นมาไม่น้อยเช่นกัน เช่น Bloc Party หรือ The Futureheads ที่เน้นการสับกีตาร์ที่รวดเร็วแบบพังค์ผสมเข้ากับจังหวะแบบโจ๊ะๆ และเป็นแนวเพลงที่กำลังเป็นที่นิยมหลังจากเทรนด์เพลงการาจแบบ The Libertines ได้รับความนิยมมาก่อนหน้า
ในปี 2004 พวกเขาออกผลงานเพลงด้วยตัวเอง นั่นคือ เพลง Graffiti และ Going Missing ก่อนที่จะตามด้วย The Coast Is Always Changing ที่ทำให้พวกเขาไปเข้าตาแมวมองของค่ายเพลงอย่าง Warp Records และจัดการเซ็นสัญญากับพวกเขาเพื่อเป็นศิลปินในค่ายทันที แม้ว่าปกติแล้วค่ายนี้จะโด่งดังจากการเป็นตราแผ่นเสียงเพลงเต้นรำที่พวกเขาบุกเบิกมานานกับศิลปินอย่าง Aphex Twins หรือ Sabres of Paradise
ในปี 2005 พวกเขาก็ได้ออกผลงานอัลบั้มเต็มชุดแรก A Certain Trigger ที่ได้พ่อมดวงการอินดี้อย่าง Paul Epworth มาโปรดิวซ์ให้ ซึ่งมันก็กลายเป็นงานที่ประสบความสำเร็จ สมกับที่ได้ชายที่มีสัมผัสทองคำมาโปรดิวซ์ให้ ซิงเกิ้ลก่อนหน้านี้ทั้งหมดถูกรวบรวมอยู่ในอัลบั้มชุดนี้ ซึ่พวกมันก็ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับตัวอัลบั้มเป็นอย่างดี ตั้งแต่ Grafitti ที่โดดเด่นด้วยเสียงกีตาร์ที่แตกพร่าไปตลอดทั้งเพลง ส่วน Going Missing ก็เป็นเพลงที่ฟังสบายกว่า ขณะที่ The Coast Is Always Changing ส่งกลิ่นของโพสต์พังค์รุ่นเก๋าอย่างชัดเจนด้วยจังหวะที่กระชั้นกับเสียงกีตาร์ที่ตอดมาเป็นจังหวะ ส่วนเพลงที่ผมคิดว่าเจ๋งที่สุดคืออีกหนึ่งซิงเกิ้ล Apply Some Pressure ที่จัดมาเต็มทั้งกลองทั้งกีตาร์อย่างเมามัน บวกเข้ากับท่อนคอรัสที่ทุกคนช่วยกันแหกปาก จนกระทั่งฟังทุกวันนี้ก็ยังมันอยู่เลย และด้วยการโปรดิวซ์ของ Paul Epworth ทำให้ทั้งอัลบั้มมีเสียงในแบบของเขาซึ่งดิบสดจนมันกลายเป็นงานที่โดดเด่นและทำยอดขายได้ดีในอังกฤษและรวมไปถึงประเทศอื่นจนสร้างชื่อให้กับวงจากแดนอีสานนิวคาสเซิลวงนี้เป็นอย่างดี
นอกจากตัวเพลงที่โดดเด่นแล้ว สิ่งที่ทำให้พวกเขาได้รับคำชมเป็นอย่างมากคือการแสดงสดที่เต็มไปด้วยพลัง โดยเฉพาะแกนนำของวงอย่าง Paul ที่ทั้งโดดทั้งเต้น แถมบ้างทีก็มีลูกเล่นเอาหนังสือมากางอ่านไปร้องเพลงไปกลางเวทีอีกด้วย
หลังจากงานชุดแรกและไปร่วมทำงานเพลงการกุศล ให้กับมูลนะ Warchild พวกเขาก็เริ่มเข้าห้องอัดทำงานเพลงชุดที่2 ซึ่งออกจำหน่ายในปี 2007 ซึ่งมีชื่อว่า Our Earthly Pleasures โดยพวกเขาได้ร่วมงานกับโปรดิวเซอร์คนใหม่คือ Gil Norton ที่เคยร่วมงานกับ James และ Pixies มาก่อน และงานชุดนี้ก็กลายเป็นงานที่คลีนกว่างานชุดที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด สองเพลงเปิดอัลบั้มอย่าง Girls Who Play Guitars และ Our Velocity ก็มาในแนวถนัดของพวกเขาโดยเฉพาะเพลงแรกที่เบสลื่นไหลตัดกับเสียงริฟฟ์กีตาร์ที่ดุดัน ส่วนเพลงที่สองซึ่งเป็นซิงเกิ้ลแรกก็ยังเร่งเร้าในแบบของพวกเขาและยังได้เสียงซินธ์มาช่วยให้มันโดเด่นเข้าไปอีก แต่น่าเสียดายที่การโปรดิวซ์ทำให้เพลงที่เหลือออกจะขาดเสน่ห์แบบของพวกเขาไปเพราะมันสะอาดเกินไป และเพลงก็ยังไม่ลงตัวเหมือนเคย (ลองฟังจาก The Unshockable ที่ออกมาอย่างสับสนก็ได้)
เมื่อพลาดจากงานชุดเก่า อั้ลบั้มที่สามในปี 2009 ชื่อ Quicken The Heart พวกเขาก็ดึงเอา Nick Launay โปรดิวเซอร์แนวโพสต์พังค์ชื่อดังที่หลังๆมีผลงานกับ Yeah Yeah Yeahs มาร่วมงาน ทำให้งานชุดนี้กลับไปสู่เสียงที่ดิบกร้านแบบที่พวกเขาถนัด เพียงแต่มันยังขาดลูกทีเด็ดที่ให้ติดหูแบบงานชุดแรกอยู่ แต่โดรยรวมแล้วก็เป็นอัลบั้มที่ดีเอามากๆ หลายเพลงเด่นๆอย่าง Roller Disco Dreams ที่ร๊อคอย่างเมามัน Questing, Not Coasting ที่มากับท่อนเบสที่ลื่นไหล ขณะที่อีกซิงเกิ้ลอย่าง Kids Are Sick Again ก็ทำเพลงออกมาได้อลังการขึ้นแต่ก็ไม่ลืมความดิบในแบบที่พวกเขาถนัด แม้จะขาดไม้เด็ดไป แต่ก็เป็นงานที่ฟังได้เพลินไม่เบาครับ
หายไปสองปีกว่า ปีนี้พวกเขาก็กลับมากับงานใหม่ ชื่อ The National Health โดยกลับไปร่วมงานกลับ Gil Norton อีกครั้ง ซึ่งกับงานครั้งนี้พวกเขาเลือกที่จะถอยห่างจากความเป็นโพสต์พังค์ในยุคแรกของพวกเขา มาเข้าสู่ The Smiths มากขึ้น และเพิ่มความโดดเด่นของเสียงซินธ์ แม้จะเปิดอัลบั้มด้วยเพลงสั้นคลอเปียโน แต่พอ The National Health ดังขึ้น ความมันก็เริ่มต้นทันที ทั้งจังหวะที่รวดเร็วและเสียงคีย์บอร์ดที่โดดเด่นขึ้นมาอย่างชัดเจน ขณะที่ Write This Down ก็โดดเด่นและทำให้เรานึกถึง Pulp ขึ้นมาเลยทีเดียว ส่วน This Is What Becomes Of The Broken Hearted ก็เป็นเพลงร๊อคคลอเปียโนที่เหมาะกับการเล่นในสเตเดี้ยมมากๆ และยังมีเพลงนุ่มๆอย่าง Unfamiliar Places แต่ถ้าอยากได้บรรยากาศเก่าๆบ้าง ต้องไปฟัง Until The Earth Would Open และ Wave of Fear
The National Health คือการกลับมาอย่างงดงามของ Maxïmo Park ที่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมหลงรักพวกเขาเมื่อตอนเปิดตัว และทำให้วงจากแดนอีสานของอังกฤษวงนี้ยังมีที่ยืนอย่างสง่างามในวงการเพลงอังกฤษได้
No comments:
Post a Comment