สองข่าวใหญ่ที่มาแบบติดๆกันในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับวงการบันเทิง คงไม่แคล้วข่าวการเสียชีวิตของ Whitney Houston นักร้องหญิงระดับดิวาชื่อดังของวงการ ที่เรียกว่าเป็นการจากไปก่อนวัยอันควรก็ว่าได้ และที่ตามติดกันมาคือ ข่าวการประกาศรางวัล Grammy ของอเมริกา
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Whitney ถูกพบในสภาพเสียชีวิตในอ่างน้ำในโรงแรม เบเวอลีย์ฮิลตัน ที่เธอมาพักเพื่อเตรียมร่วมงานเลี้ยงก่อนงานแกรมมี่ แม้ทีมแพทย์จะพยายามกู้ชีพเธอเป็นเวลาถึง 30 นาที แต่ก็ไม่เป็นผลอะไร เธอถูกประกาศว่าเสียชีวิตอย่างเป็นทางการในที่เกิดเหตุ การตรวจสอบสภาพศพ ไม่พบร่องรอยการใช้ยาเสพติด คาดว่าเธอหมดสติก่อนที่จะลื่นล้มในห้องอาบน้ำ ปิดชีวิตนักร้องเสียงดีในวัย 48 ปี
นักร้องผู้จากไปก่อนวัยอันควร เธอคือนักร้องที่สร้างชื่อจากเสียงร้องระดับเมซโซ โซปราโนที่ทรงพลังของเธอ และมีผลงานที่โด่งดังทั้งในด้านการแสดงควบคู่ไปกับงานเพลง นั่นคือ The Bodyguard ที่เธอทั้งร้องทั้งแสดงเอง กลายเป็นผลงานระดับเพชรบนยอดมงกุฎในชีวิตศิลปินของเธอ จากชีวิตที่ดิ้นรน เป็นนักร้องประกอบให้กับศิลปินคนอื่น จนไปเข้าสายตาค่ายเพลง ด้วยเสียงที่ได้เป็นดังพรสวรรค์ที่บอกว่าเธอเกิดมาเพื่อร้องเพลง แม้ตอนเปิดตัวจะไม่แรง แต่เธอก็สามารถรุ่งเรืองสู่ความสำเร็จได้อย่างงดงามในยุค ’80 จนกระทั่งได้เป็นตัวแทนในการร้องเพลงธีมโอลิมปิคปี 1998 ที่กรุงโซล และอย่างที่กล่าวไว้คือ งานเพลงและการแสดงภาพยนต์เรื่อง The Bodyguard ที่ดังถล่มทลาย
แต่ในขณะเดียวกัน ชีวิตของเธอก็เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องอื้อฉาว ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานกับ Bobby Brown ศิลปินที่ถูกมองว่าตกยุคและคิดจะหากินจากความสำเร็จของเธอ การขัดแย้งกันอย่างเปิดเผยระหว่างเธอกับมารายห์ แครีย์ แล้วดันกลับมาร่วมงานกันในเพลงประกอบภาพยนต์ The Prince of Egypt และการใช้ยาเสพติดอย่างไม่ยั้งจนทำให้ผลงานช่วงหลังของเธอไม่ได้รับคำชม ก่อนจะมาจบชีวิตอย่างไม่คาดฝัน
สำหรับผมแล้ว แม้จะไม่ใช่แฟนเพลงของเธอ แต่ในช่วงที่เริ่มฟังเพลงสากลใหม่ๆ เพลง I Will Always Love You เพลงประกอบภาพยนต์เรื่อง The Bodyguard ก็คือเพลงที่โด่งดังเอามากๆในตอนนั้น เพราะมันครองอันดับหนึ่งของบิลบอร์ดชาร์ตในอเมริกา และด้วยความไพเราะของมัน ทำให้ความดังส่งมาถึงเมืองไทย แม้จะไม่ได้ดูตัวภาพยนต์ แต่ก็ไม่พลาดที่จะซื้ออัลบั้มเพลงประกอบเก็บไว้ครับ เพราะว่าตอนนั้น ในแผงเทปที่จังหวัดขอนแก่น อัลบั้มดังกล่าวเรียงเป็นพรืดเต็มแผง แทบไม่แบ่งที่ให้กับอัลบั้มอื่นเลย ใครก็อยากฟังกัน เพราะมันคืองานเพลงที่เรียกได้ว่าไร้ที่ติจริงๆ เป็นงานเพลงที่โชว์พลังเสียงของเธอได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งการไล่อารมณ์เพลงและภาคดนตรี จนเหมือนมาสเตอร์พีซของวงการเพลงอีกชิ้นหนึ่งก็ว่าได้
แต่หลังจากนั้น คงเป็นเพราะว่างานก่อนหน้าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ผลงานที่ตามมาก็เลยเหมือนอยู่ในเงาของเพลงดังกล่าว บวกเข้ากับปัญหาการใช้ยาเสพติด ทำให้ข่าวที่เราได้ยินเสมอๆคือ เธอไม่สามารถทำงานเพลงได้ หรือเธอหมดสภาพแล้ว หนึ่งในความพยายามกลับมาคือ เพลงประกอบภาพยนต์การ์ตูนเรื่อง The Prince of Egypt ที่เธอถึงกับร้องดูเอ็ตกับศัตรูคู่แค้นของเธอ มารายห์ แครีย์ เล่นเอาแฟนเพลงถึงกับตะลึง และคอยลุ้นปฏิกริยาของทั้งสองคน ซึ่งแค่ดู MV ก็คงพอจะเห็นได้เหมือนกัน นอกจากนี้ ตั้งแต่เข้ายุค 2000 มา ดูเหมือนว่า ดิวา จะเป็นส่วนเกินของวงการเพลง เพราะแทบไม่มีเพลงที่โชว์พลังเสียงที่สามารถทำยอดขายได้ถล่มทลายเหมือนเคย ไม่เพียงแต่เธอ แต่รวมถึงนักร้องหญิงรายอื่นด้วย มารายห์ก็ต้องเปลี่ยนแนวไปเซ็กซี่ ซิลีน ดิออนก็รับงานร้องในคาสิโน กลายเป็นยุคซึมเซาของเหล่าดิวาจริงๆ
การไม่ประสบความสำเร็จในการกลับมาของเธอ ยิ่งทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และจมดิ่งเข้าไปในวังวนของยาเสพติด หลายคนโทษ Bobby Brown สามีของเธอ แต่เขาก็สวนกลับว่า เขาแค่พาเธอเล่นกัญชา แต่เธอกลับนำเอาโคเคนเข้ามาในชีวิต แต่แม้ทั้งคู่จะหย่าร้างกัน วิทนีย์ก็บอกว่ายังรักเขาอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีข่าวเรื่องความสัมพันธุ์แบบรักร่วมเพศของเธออีกด้วย ทั้งหลายประดังประดาเข้าสู่ชีวิตของเธอ จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตเธอ ขอไว้อาลัยให้กับเสียงที่โดดเด่นที่สุดอีกเสียงหนึ่งในวงการนี้
และด้วยการเสียชีวิตอย่างกระทันหันของเธอ ทำให้โปรแกรมรายการแกรมมี่อวอร์ดต้องเปลี่ยนแปลงกระทันหันเพื่อไว้อาลัยให้กับเธอ แต่สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องกล่าวถึงในงาน Grammy ครั้งนี้คือ การกวาดรางวัลทั้งหมด 6 สาขาที่เข้าชิงของแม่สาว Adele กลายเป็นดาวเด่นแห่งงานไปอย่างสมบูรณ์แบบ
โดยส่วนตัว ผมค่อนข้างเฉยๆกับงานแกรมมี่มาหลายปี เพราะร้สึกว่าเป็นงานที่น่าเบื่อ ให้รางวัลโดยดูจากยอดขายหรือเพลงฮิตซะมากกว่า แต่ในช่วงหลัง กลายเป็นว่า งาน MTV เสียต่างหากที่เป็นอย่างที่ว่า ในขณะที่งานแกรมมี่กลับกล้ามอบรางวัลให้กับศิลปินฝีมือดี แม้จะไม่ได้ทำยอดขายถล่มทลาย อย่างเช่นที่ The Arcade Fire ได้ในปีก่อน และปีนี้ก็เช่นกัน ที่ศิลปินฝีมือดีอย่าง Adele คว้ารางวัลเหนือเลดี้กาก้า หรือเคธี่ เพอรี่ไปได้อย่างงดงาม กวาดเอาทุกรางวัลที่เธอเข้าชิง แม้ว่าเคธี่ เพอรี่จะทำยอดขายซิงเกิ้ลได้อย่างสูง และที่ทำให้ผมดีใจเอามากๆคือ วงโปรดอย่าง Bon Iver ได้รางวัลศิลปินหน้าใหม่ (แม้จะไม่ได้ใหม่จริงๆ) เหนือ นิคกี้ มินาจ ที่โด่งดังกว่า เรียกได้ว่า รางวัลแกรมมี่กลับมาพิจารณาผลงานอย่างจริงจังมากกว่าแต่ก่อนจริงๆ แต่ที่ทำให้ผมงงที่สุด คงเป็นความ ignorant ของอเมริกันชนรุ่นใหม่ ที่กลายเป็นกระแสบนทวิตเตอร์ว่า ใครคือ พอล แมคคาธนีย์ ที่ได้รางวัล Person of the Year และ Best Historical อัลบั้ม เล่นเอาหมดคำพูดเลยทีเดียวครับ แต่เท่าที่ดูแล้ว งานแกรมมี่สามารถดึงความสนใจจากคนชอบฟังเพลงกลับมาได้ไม่มากก็น้อยครับ
No comments:
Post a Comment