หลังปีใหม่ไม่นาน ผมก็ต้องขอออกนอกเรื่องเลย แต่ก็ไม่ถือว่านอกมาก เพราะว่าเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวพันกันกับวงการเพลงเหมือนกัน นั่นก็คือเรื่อง SOPA หรือ Stop Online Piracy Act หรือ ร่างรัฐบัญญัติหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธ์ออนไลน์
ทำไมผมต้องเขียนเรื่องนี้ ทั้งๆที่ไม่ใช่แนวถนัด ก็เป็นเพราะว่า จากนี้ไป โลกของการใช้งานอินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนถ้าหากร่างนี้ผ่านการเห็นชอบโดยสภาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งร่างดังกล่าวถูกเสนอโดยส.ส. ลามาร์ สมิธ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งอำนาจของมันคือ
“ร่างรัฐบัญญัติดังกล่าวจักให้อำนาจกระทรวงยุติธรรม (Department of Justice) และผู้ถือลิขสิทธิ์ ร้องขอให้ศาลสั่งปราบปรามบรรดาเว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหาว่าจัดให้มีหรือส่งเสริมการละเมิดลิขสิทธิ์, สั่งห้ามบรรดาเครือข่ายโฆษณาออนไลน์หรือเครือข่ายช่วยรับชำระหนี้ออนไลน์ เป็นต้นว่า เพย์แพล (PayPal) คบค้าหากินกับเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์, สั่งห้ามโปรแกรมค้นหา (search engine) เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์เหล่านั้น และสั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้สะกัดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์เช่นว่า ร่างรัฐบัญญัตินี้ยังกำหนดให้การเข้าถึงโดยมิได้รับอนุญาตซึ่งข้อมูลละเมิด ลิขสิทธิ์เป็นความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ ทั้งยังให้ถือว่า การใด ๆ ที่บรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตกระทำไปเพื่อต่อต้านเว็บไซต์ละเมิด ลิขสิทธิ์ ไม่เป็นความผิดและไม่อยู่ในความรับผิดทุกประการ แต่ให้ผู้ถือลิขสิทธิ์ที่เจตนาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่า เว็บไซต์ใดมีส่วนละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องรับผิดทางแพ่งต่อเว็บไซต์นั้น” ซึ่งสรุปง่ายๆคือ เว็บไหนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธ์ ก็สามารถถูกปิดได้โดยง่ายกว่าเดิมมาก และตัวร่างนี้เองเปิดกว้างให้ตีความให้เข้าข่ายการละเมิดได้ง่ายมาก
มาถึงตรงนี้ ถ้าเรามองว่า “ก็มันก็เป็นการกระทำผิดกฎหมายนี่นา” เท่านั้น มันก็ว่าอย่างนั้นได้ เพราะร่างนี้ออกมาเพื่อคุ้มครองวงการบันเทิงที่ประสบปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์มากมาย แต่จริงๆแล้ว มันไม่ใช่แค่เพียงวงการบันเทิงเท่านั้น มันมีความเสี่ยงสูงกว่านั้นมากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเตอร์เน็ตในยุคปัจจุบันที่มีรูปแบบเว็บ 2.0 หรือให้ผู้ใช้ได้ร่วมสร้างเนื้อหาขึ้นมา ดังนั้น ถ้ามองแบบสุดโต่งไปเลย คุณคุณอัพโหลดวิดีโอที่ละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้นไปบน YouTube เว็บ YouTube ก็มีโอกาสถูกปิดได้เลย
แน่นอนว่าการปกป้องผลประโยชน์ของวงการธุรกิจก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่การจะเหวี่ยงแหไปทั่วขนาดนั้นถือว่าเป็นความพยายามที่เกินเลยไปจริงๆ จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านไปทั่วทั้งวงการอินเตอร์เน็ต มีการโจมตีบริษัทต่างๆที่ให้การสนับสนุนร่างดังกล่าว เช่น GoDaddy ผู้ให้บริการจดโดเมนเจ้าใหญ่ของอเมริกาก็ถูกลูกค้าหลายรายบอยคอตไป จนต้องเปลี่ยนท่าทีไป
การต่อต้านของวงการอินเตอร์เน็ตยังไม่จบเท่านี้ กระแสแอนตี้ SOPA ลามไปทั่วอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นจอมืด 24 ชั่วโมงของ Wikipedia สารานุกรมออนไลน์ชื่อดัง (ที่เป็นเว็บ 2.0 เช่นกัน) แต่ยกเว้นเฉพาะเนื้อหาเกี่ยวกับ SOPA หรือกระทั่งยักษ์ใหญ่อย่าง Google ก็คัดสรรการค้นหาไปสู่เว็บไซต์นี่มีเนื้อหาแจกแจงข้อเสียของ SOPA อย่างชัดเจน จนทำให้ส.ส.ลามาร์ตัดสินใจถอดร่างดังกล่าวออกจากการพิจารณา เช่นเดียวกับร่าง PIPA ที่คล้ายคลึงกันโดยส.ว. แฮรี่ รี้ด ก็ถูกถอดออกไปเช่นกัน
ซึ่งมามองย้อนอีกที เข้าใจนะครับว่าอุตสาหกรรมบันเทิงอยากปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง แต่มามองอีกทีว่ารายได้ของอุตสาหกรรมบันเทิงมันมีแค่ไหนแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า “นี่มันได้รับผลกระทบจริงๆเหรอ” เพราะว่ามีแต่รวยขึ้นๆ และศิลปิน (หรือแค่นักร้อง) หลายคนก็ใช้เงินมากมายแบบไร้สาระ ไม่แปลกอะไรที่อเมริกันชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจะแอบหมั่นไส้หรอกครับ (รวมถึงคนในประเทศอื่นด้วย) จริงๆแล้ว ไอ้เรื่องที่บอกว่า มันจะส่งผลกระทบต่อวงการเพลง มันพูดมาตั้งแต่ยุคอัดเทปกันได้แล้วครับ ก็เห็นแต่ศิลปินรวยขึ้นๆ (อย่างที่เคยสัมภาษณ์วง The Charlatans) ในความเห็นผม การแชร์ไฟล์ มันไม่ได้ดีทั้งหมด แต่มันก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้นแน่ๆ เอาง่ายๆคือ หลายวงที่ผมได้รู้จักจากการแชร์ไฟล์ก่อนที่จะไปซื้อแผ่นจริงๆมาฟัง ถ้าคุณทำเพลงดีจริง คนยอมเสียเงินซื้อคุณอยู่แล้ว (อ้างอิง Serge จากวง Kasabian) ศิลปินบางคนถึงขนาดสนับสนุนให้โหลดเพลงตัวเองไปฟัง เพราะอยากให้คนได้ฟังเยอะที่สุด มันยังมีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ
ในระหว่างที่เหมือนสถานการณ์จะดีขึ้น ก็มีฟ้าผ่าเปรี้ยงใหญ่ลงมาใจกลางวงการอินเตอร์เน็ต เมื่อเจ้าของเว็บ MegaUpload เว็บฝากไฟล์ชื่อดังถูกจับและอายัดทรัพย์สินเนื่องจากการสนับนสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์ และเว็บก็ถูกปิดทันที แม้ร่าง SOPA จะไม่ผ่าน เล่นเอาหลายคนตั้งตัวไม่ทัน (รวมทั้งผมที่ฝากไฟล์ไว้ไม่น้อย) และทำให้ผู้ให้บริการฝากไฟล์ทั้งหลายเปลี่ยนนโยบาย เช่น FileSonic ก็ให้เฉพาะผู้อัพโหลดโหลดได้ หรือ Upload.ed ก็ปิดการเข้าถึงจากอเมริกา เว็บบัญชีไฟล์ทอเรนต์อย่าง BTjunkie ก็ตัดสินใจปิดตัวทันที เล่นเอาวงการอินเตอร์เน็ตสะเทือน แต่ก็ยังมีการต่อต้านคืนด้วยการโจมตีเว็บไซต์ทางการต่างๆโดยกลุ่ม Anonymous แฮคเกอร์ชื่อดังอีกด้วย
จากนี้ไป คงเป็นเกมเล่นไล่จับกันระหว่างอุตสาหกรรมบันเทิง รัฐบาล กับผู้ให้บริการและผู้ใช้ปลาซิวปลาสร้อยอย่างเรา แม้ฝ่ายผู้ให้บริการจะโดนของหนักไปจนฝ่อกันไปหลายราย แต่เมื่อตั้งตัวได้ ผมว่าพวกเขาก็ต้องกลับมาแน่นอนครับ แต่ถึงแม้จะไม่มี SOPA ในตอนนี้ แต่ ACTA หรือ Anti-Counterfeiting Trade Agreement หรือ ความตกลงป้องกันและปราบปรามการค้าสิ่งปลอม ก็เป็นเมฆทะมึนที่กำลังคืบเข้ามา เท่าที่ทราบรายละเอียดคร่าวๆ มันเป็นสิ่งอันตรายต่อสิทธิส่วนบุคคลในโลกอินเตอร์เน็ตเสียยิ่งกว่า SOPA ด้วยซ้ำครับ แล้วโลกอินเตอร์เน็ตที่เรารู้จักก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
อ้างอิง
1. ทำไมคนจึงต้องต่อต้าน SOPA, กฏหมายไทยเองก็ไม่ได้ดีไปกว่ากฏหมายฉบับนี้ โดยคุณ วสันต์ ลิ่วลมไพศาล และข่าวที่เกี่ยวข้องโดย www.blognone.com
2. http://en.wikipedia.org/wiki/SOPA (ส่วนภาษาไทย)
3. http://en.wikipedia.org/wiki/Anti-Counterfeiting_Trade_Agreement (ส่วนภาษาไทย)
4. ภาพจาก www.memebase.com
No comments:
Post a Comment