ตราแผ่นเสียง 4AD คือ ตราแผ่นเสียงที่ทำให้ผมต้องทึ่งตลอดมา ด้วยความที่พวกเขาเลือกออกผลงานเพลงที่เปี่ยมคุณภาพอยู่เสมอ จนกลายเป็นเหมือนเครื่องรับประกันคุณภาพมาตลอดเกือบ 20 ปีที่ผมรู้จักตราแผ่นเสียงนี้ และวงที่จะแนะนำในวันนี้ ก็เป็นอีกวงหนึ่งที่เป็นผลผลิตจากตราแผ่นเสียงสุดเท่แห่งนี้ พวกเขาคือ The Big Pink
The Big Pink ถือกำเนิดจากการร่วมงานกันของสองนักดนตรีหนุ่มจากลอนดอน คือ Robbie Furze (ร็อบบี้ ร้องนำ กีตาร์) อดีตมือกีตาร์ของ Panic DHH และ Alec Empire อดีตวง Atari Teenage Riot ส่วน Mike Cordell (ไมค์ โปรแกรมมิ่ง คีย์บอร์ด) ลูกชายของโปรดิวเซอร์อย่าง Denny Cordell เขาเป็นเจ้าของค่ายเพลง Merok Records ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกวิชาวงอย่าง Klaxons และ Crystal Castles และถนนสายดนตรีของทั้งสองคนก็ได้มาบรรจบกัน ในปี 2007 และตั้งชื่อวงว่า The Big Pink ซึ่งนำมาจากชื่ออัลบั้มของวง The Band
พวกเขาเริ่มทำเพลงด้วยกันและทดลองกับเสียงสารพัด และได้เพื่อนักดนตรีมาร่วมงานด้วย จนสามารถออกซิงเกิ้ลแรกที่ชื่อว่า Too Young To Love ผ่านตราแผ่นเสียง House Anxiety ในปีถัดมาแบบจำนวนจำกัดแค่ 500 แผ่นเท่านั้น แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะไปกระตุ้นความสนใจของบรรดาสื่อและค่ายเพลง เพราะความเท่ของมัน Too Young To Love เป็นเพลงที่เรียกได้ว่า โครมครามเอามากๆ นอกจากเสียงกีตาร์แบบนอยส์ที่อบอวลคละคุ้งไปทั่วทั้งเพลงจนทำให้เรานึกถึง My Bloody Valentine แล้ว จังหวะของเพลงยังเป็นเหมือนกับการย่อยสลายดนตรีอินดัสเทรียลมาก กลายเป็นงานเพลงที่โครมครามแต่กลับมีบรรยากาศหลอนอยู่ในที และจากความโดดเด่นนี้ ทำให้พวกเขาถูก 4AD ดึงเข้าไปร่วมงานทันที และต่อจากนั้นก็เป็นรางวัล Philip Hall Radar Award ปี 2009 ซึ่งทางนิตยสาร NME จะมอบให้กับวงหน้าใหม่ที่น่าสนใจที่สุดในแต่ละปี
พวกเขาออกซิงเกิ้ลแรกกับตราแผ่นเสียง 4AD คือ Velvet งานเพฃงร๊อคบนจังหวะอีเล็กโทรนิกส์ที่ฟังได้เรื่อยๆสบาย ก่อนที่จะถล่มด้วยเสียงกีตาร์หนักๆแบบที่พวกเขาถนัดอีกครั้ง คงไม่แปลกอะไรที่จะบอกว่าพวกเขาคงได้รับอิทธิพลจาก My Bloody Valentine และ Spacemen 3 ไม่มากก็น้อย หลังจากนั้น พวกเขาก็ออกซิงเกิ้ลต่อมาชื่อ Stop The World ซึ่งได้พ่อมดแห่งวงการอินดี้ Paul Epworth มาโปรดิวซ์ให้ และเขาก็นำเอาจังหวะเท่ๆฟังติดหู กับความดิบกร้านแบบของเขามาเพิ่มให้กับวง บวกเข้ากับความเร้าใจ จนกลายเป็นเพลงที่ติดหูและชวนกระโดดตามเอามากๆ น่าเสียดายที่พวกเขาไม่ได้รวมเพลงในเข้าไปในอัลบั้มเต็มของพวกเขา
อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะโน๊ตไว้ตรงนี้หน่อยคือ นอกจากงานเพลงที่แสนเท่แล้ว การเลือกภาพปกซิงเกิ้ลของพวกเขายังน่าสนใจมาก เพราะเป็นภาพอีโรติคย้อนยุคขาวดำที่ดูแล้วได้แต่บอกว่า สวยจริงๆ ทำให้นึกไปถึงปกของงานเพลงของ The Smiths หรือ Gene ที่ทำออกมาในแนวเดียวกัน
ก่อนที่จะออกอัลบั้มเต็มสัปดาห์หนึ่ง พวกเขาก็ออกซิงเกิ้ลถัดมาชื่อ Dominos ซึ่งเป็นเพลงที่ทำให้พวกเขาดังยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะความเท่แบบสุดๆของจังหวะที่ย่ำวนไปวนมาคล้ายกับเพลงฮิปฮอป บวกเขากับท่อนฮุคที่ติดหูชวนให้ร้องตามเหลือเดิน และมันก็กลายเป็นเพลงส่งให้พวกเขาดังยิ่งขึ้นไปอีก และจากนั้นพวกเขาก็ออกอัลบั้มเต็มชุดแรกที่ชื่อ The Brief History of Love ในช่วงปลายปี 2009
พวกเขาพูดถึงอัลบั้มนี้ได้อย่างน่าสนใจว่ามันคืออัลบั้มที่เกี่ยวกับความรักตามที่ตั้งชื่อไว้ แต่จะมาจากหลายมุมมองไม่ว่าจะเป็นความงดงาม ความเลวร้าย ความน่าเบื่อของความรัก พวกเขาจับเอาซิงเกิ้ลทั้งหมด มาใส่ไว้ในอัลบั้ม ยกเว้นเพียง Stop the World นอกจากความเจ๋งของทั้งสามเพลงที่เป็นซิงเกิ้ลแล้ว เพลงอื่นในอัลบั้มก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น Love in Vain ที่ซาวด์ออกมาได้อย่างหงอยเหงาสุดๆ At War With The Sun ก็เป็นอีกเพลงที่ฟังได้สบายๆเหมาะกับการฟังไปพลางซิ่งมอไซค์ไปพลางจริงๆ ขณะที่ Tonight ก็เป็นเพลงออกจะป๊อปมากๆแต่ก็ฟังได้เพลินติดหูดี จนถูกตัดออกมาเป็นซิงเกิ้ลอีกเพลง
ด้วยความยอดเยี่ยมของผลงานชิ้นแรก ทำให้ The Big Pink ได้รับคำชมเป็นอย่างมากในวงการเพลงอินดี้ แม้มันจะไม่ได้ทำยอดขายถล่มทลายอะไรมากนัก แต่มันก็กลายเป็นงานเพลงที่ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์เป็นอย่างมาก
และหายไปไม่นาน พวกเขาก็กลับมาอีกครั้ง โดยเริ่มต้นด้วยการออกซิงเกิ้ล Stay Gold ซึ่งยังคงแนวทางทำเพลงแบบของพวกเขาไว้อยู่ ซึ่งก็เป็นเพลงที่อบอวลด้วยเสียซินธ์ และพ่วงมาพร้อมกับท่อนคอรัสที่ชวนให้คนฟังตะโกนตามได้แบบไม่ยากนัก ก่อนที่จะออกอัลบั้มเต็ม Future This ในต้นปีนี้ โดยมีซิงเกิ้ล Hit the Ground (Superman) เป็นเพลงนำร่อง
พวกเขากล่าวไว้ว่า อัลบั้มนี้ พวกเขาได้อิทธิพลจากเพลงฮิพฮอพมาด้วย ซึ่งก็คงเห็นได้ชัดจากเพลง Hit the Ground นี่ล่ะครับ เพราะว่าจังหวะช่วงต้นเพลงเล่นเอานึกถึงเพลง Empire State of Mine ของ Jay-Z เลยทีเดียว แต่ตัวเพลงๆนี้มันช่างชวนเสพติดแบบไม่หยุดหย่อนเสียจริง ทั้งจังหวะย้ำๆ ท่อนฮุคที่ติดหูชวนร้องตามจนรู้สึกว่าต่อให้มันยาวกว่านี้อีกสี่เท่าก็คงไม่เบื่อมันง่ายๆ สมแล้วที่พวกเขาดึง Paul Epworth มาร่วมงานแบบเต็มๆในอัลบั้มนี้ เพราะมันคืออัลบั้มที่ช่างน่าหลงไหล และติดหูเป็นอย่างยิ่ง หลายเพลงเต็มไปด้วยพลังเสียจริง อย่างเช่น Lose Your Mind ที่เต็มไปด้วยเสียงซิน์เหมือนเพลงที่เราเคยได้ยินตอนต้นยุค 90 (นึกถึง Jesus Jones) ก่อนที่จะเหวี่ยงกลับมาเป็นเพลงร็อคหนักๆสลับไปมา Jump Music คือการtribute ให้กับเพลงป๊อปยุค 80 ส่วน Future This ก็ล่องลอยดีครับ เช่นเดียวกับ The Palace ที่ล่องลอยและงดงามด้วยเสียงซินธ์จริงๆ ส่วน Give It Up ก็ยังมีส่วนผสมจากเพลงฮิพฮอพอยู่ไม่น้อย แต่ก็เรีบเรียงออกมาได้รื่นหูดี อีกเพลงที่แนะนำคือ 1313 ที่พวกเขาโปรดิวซ์กันเอง
ถ้าจะให้สรุปอัลบั้มนี้ คงเป็นคำว่า ซินธ์ กีตาร์แตกพร่า และจังหวะโครมคราม กลายเป็นลายเซ็นที่ชัดเจนของพวกเขาไปเสียแล้ว สมกับเป็นศิลปินจาก 4AD เพราะคงแนวทางที่ชัดเจนของตัวเองได้เป็นอย่างดีเสียจริง ใครชอบแนวนี้ก็คงตามฟังกันได้อย่างเพลิดเพลินเลยทีเดียว
No comments:
Post a Comment