หลังจากที่อ่านข่าวมาได้เดือนกว่าๆ อัลบั้มที่เป็นที่กล่าวขานในวงการเพลงตอนนี้ก็ได้มาถึงโต๊ะทำงานผมเสียที อาจจะช้ากว่าที่รู้สึกหน่อย แต่ไม่แปลกครับ เพราะมันมาในรูปแบบของแผ่นซีดีควบดีวีดี แต่ตอนที่เป็นข่าวนั่น มันออกขายแบบดิจิตอลก่อนแบบซีดีและแผ่นเสียงเสียอีก เลยทำให้กว่าเราจะได้ตัวจริงมาฟังก็รู้สึกว่านานเอาเรื่อง อัลบั้มที่ผมพูดถึงคือ Beyonce โดย Beyonce ครับ
ที่มันเป็นที่กล่าวขานเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพราะว่ามันคืองานใหม่ของศิลปินสาวที่ได้ชื่อว่าทำอะไรก็เป็นข่าวและเต็มไปด้วยความหรูเริ่ด Fabulous เสมอ เท่านั้น แต่มันออกมาได้อย่างช็อควงการมากๆ นอกจากมันจะถูกวางขายแบบไม่มีข่าวแพร่งพรายออกมาก่อนเลย ซึ่งเป็นเรื่องแทบไม่น่าเชื่อสำหรับศิลปินระดับดังคับโลก (ต่อให้คนไม่ฟังเพลงฝรั่งก็คงต้องเคยผ่านตาเธอจากโฆษณาต่างๆบ้างล่ะ) แต่มันมีจุดเด่นตรงที่มันเป็นอัลบั้มที่เธอเรียกว่า Visual Album ซึ่งแตกต่างไปจากอัลบั้มต่างๆที่เคยมีมา
ก่อนจะเข้าเรื่อง Visual Albums คงต้องย้อนไปดูก่อนว่า มีอะไรเข้าใกล้กับสิ่งนี้บ้างรึเปล่า ที่ผ่านมา ในวงการเพลง จะมี Concept Albums หรือการทำงานเพลงโดยกำหนดธีมไว้ และแต่งเพลงโดยยึดโยงกับธีมที่ตั้งไว้ ที่เคยเขียนถึงคงจะเป็น The Black Parade ของ My Chemical Romance ที่ทำเพลงโดยมีธีมเกี่ยวกับคนไข้ที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย หรือ American Idiot ของ Green Day ที่ต่อมาก็ถูกนำเป็นทำเป็นละครเวที ถ้าพูดถึงงานเก่าๆคงเป็น The Wall ของ Pink Floyd ที่มาพร้อมกับภาพยนตร์สุดหลอนที่เคียงคู่ไปกับอัลบั้มเป็นอย่างดี จะว่าเป็นการนำเสนองานเพลงผ่านภาพก็ว่าได้
พอมายุคที่ MV ไม่ใช่แค่ภาพการแสดงสดของศิลปินเท่านั้น แต่กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงทักษะในการทำภาพให้เข้ากับเพลง ก็เริ่มมีพัฒนาการทำ MV ที่ช่วยให้เราดูแล้วรู้สึกว่าตีความเพลงได้มากขึ้น หรือเด่นจนบางทีก็แทบจะแซงงานเพลงเลย (ส่วนตัวผม งานแรกๆที่ดูแล้วรู้สึกติดใจมากๆคือ Just ของ Radiohead) ทำให้แนวทางการนำภาพมาเสนอเพลงเริ่มโดดเด่นมากขึ้นกว่าเดิม
งานอัลบั้มที่วางคอนเซ็ปต์การทำเพลงและภาพยนตร์ประกอบที่โดดเด่นที่สุดในหลายปีที่ผ่านมา คงต้องยกให้ Interstellar 5555 และ Discovery ของ Daft Punk โดยตัวแรกเป็นภาพยนตร์ และตัวหลังคืออัลบั้ม ตอนที่ Daft Punk ปล่อย Discovery ออกมาในปี 2001 นั้น นอกจากความพ๊อพติดหูของงานเพลง สิ่งที่ทำให้เราทึ่งคือ MV ที่เป็นอนิเมชั่นฝีมือของ Matsumoto Leiji เจ้าของผลงานดังอย่าง กัปตันฮาร์ล็อค รถด่วนอวกาศ 999 และ เรือรบอวกาศ ยามาโต้ (เด็กรุ่นผมค่อยรู้จัก แต่ตอนนี้ก็มีขายอีกแล้วนะ) ซึ่งดูแล้วงามมากๆ แต่ที่ทำให้เราทึ่งคือ พอซิงเกิ้ลต่อมา นอกจากจะเรียงลำดับเพลงตามในอัลบั้มแล้ว อนิเมชั่นที่เป็น MV ยังต่อเนื่องจากเดิมอีก เล่นเอาเราลุ้นตามต่อ จนพวกเขาออกซิงเกิ้ลมาครบ 4 เพลง ก็เล่นเอาเราสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับเหล่านักดนตรีอวกาศของพวกเรา หลังจากรอได้ 2 ปี Interstellar 5555 ก็เปิดตัวให้เราได้ชมเนื้อเรื่องทั้งหมด
กลายเป็นว่า จริงๆแล้ว ในขณะที่เริ่มทำเพลง Daft Punk ก็ได้ติดต่อ Matsumoto Leiji ฮีโร่สมัยเด็กของพวกเขาให้เข้ามาร่วมทำงานด้วยกัน กลายเป็นคอนเซ็ปต์การทำเพลงไปพร้อมๆกับตัวหนังประกอบ กลายเป็นเรื่องเป็นราว ที่เมื่อดูตัวภาพยนตร์แล้ว จะทำให้ตีความอัลบั้มได้มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า Interstellar 5555 ไม่มีบทพูดอะไร แต่เล่าเรื่องผ่านเพลงจากอัลบั้ม Discovery แบบเรียงลำดับตรงกันเป๊ะๆ เรียกได้ว่าเป็นงานเพลงที่สร้างขึ้นมาเพื่อชมด้วยสายตาไปพร้อมๆกันจริงๆ
กลับมาที่ Beyonce ของ Beyonce (งงมั้ย) งานชิ้นที่ 5 ของเธอ ซึ่งตามที่บอกไปแล้วว่า ออกมาได้อย่างเซอไพรซ์ชาวประชามาก เพราะศิลปินระดับโคตรแม่เหล็กอย่างเธอสามารถเก็บความลับมาได้เป็นปี แถมโผล่มาทีก็ ตู้ม เอาไปเลย อัลบั้มใหม่เต็มๆ ไม่ใช่ซิงเกิ้ล แถมที่สำคัญมันเป็นอัลบั้มที่เธอเรียกอย่างเต็มปากว่า Visual Album
ซึ่งในความหมายของเธอ Visual Album คืออัลบั้มที่ต้องใช้ตาชมไปด้วยกับการฟัง ดังนั้น มันจึงมาในรูปแบบ ซีดี สำหรับฟังเฉยๆ กับ ดีวีดี ที่ทั้งฟังและชมในแบบที่มันควรจะเป็นที่สุด เพื่อที่ผู้เสพจะได้ประสบการตรงแบบที่ศิลปินต้องการให้สัมผัส โดยที่แต่ละเพลงก็มี MV ของมันเอง ไม่ได้เกี่ยวกันเป็นเนื้อหาแบบ Interstellar 5555
อีกจุดหนึ่งที่ต่างไปจากการทำงานเพลงทั่วไปคือ บางเพลง Beyonce ก็ออกแบบคอนเซ็ปต์ของ MV ก่อน แล้วค่อยทำเพลงให้เข้ากับ MV เป็นการทำงานแบบที่สวนทางกับขั้นตอนการทำเพลงทั่วไปมากๆ นอกจากนี้ แต่ละเพลงก็มีอาร์ตเวิร์คในบุคเล็ตแนบเป็นของตัวเองอีกด้วย จึงไม่แปลกอะไรที่ Beyonce จะเรียกมันว่า Visual Album ซึ่งมาคิดอีกทีก็น่าจะเหมาะสมดี กับศิลปินที่มีพลังดึงดูดทางเพศสูงมากอย่างเธอ ที่จะใช้ภาพมาเน้นขายงานเพลงแบบเต็มที่แบบนี้ จัดว่าเป็นก้าวหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ
หลังจากที่ Beyonce ถูกวางขาย มันก็ทะยานขึ้นอันดับ 1 ของชาร์ตอัลบั้มทันที การันตีความสำเร็จของเธออีกครั้ง แน่นอนว่าแม้มันจะดูเป็นไอเดียที่ไม่มีอะไรมาก แต่การทำมันออกมาอย่างเต็มที่และมีศิลปะ ก็ทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่สามารถดันวงการเพลงไปข้างหน้าได้อีกระดับหนึ่ง เป็นไปได้ว่าต่อไปอาจจะมีศิลปินเลือกทำงานเพลงแบบนี้แทนที่จะสนใจแค่ทำเพลง เพราะศิลปินคนนั้นมองว่าดนตรีคือ Performance Art มากกว่าการจัดเรียงเสียงอย่างเดียว ส่วนใครที่ยังไม่หนำใจ ก็อาจจะไปสอยดีวีดีชุด Life is but a Dream ของเธอมาดูต่ออีกก็ได้ครับ
No comments:
Post a Comment