Monday, October 17, 2011

Jack’s Mannequin เปียโนร๊อคเนียนๆ

Technorati Tags: ,

ยุคนี้จะหาวงร๊อคที่เน้นเปียโนเป็นหลักนี่ยากเอามากๆนะครับ แม้บางวงจะเล่นเปียโนประกอบไปบ้างอย่างโคลด์เพลย์ แต่ถ้าจะเอาแบบเน้นเปียโนเป็นหลักไปเลยอย่าง Ben Fold Five นี่ ก็ไม่ค่อยมีง่ายๆ อีกวงหนึ่งที่เป็นทำเพลงป๊อปแบบแท้ๆได้ยอดเยี่ยมอย่าง Catch ก็หายไปเรียบร้อยแล้ว แต่วงหนึ่งที่ผสมเสียงเปียโนเข้ากับเพลงร๊อคได้อย่างลงตัวจนกลายเป็นจุดเด่นของวงคือ Jack’s Mannequin

jacks

Jack’s Mannequin เดิมที่เป็นโปรเจ็คต์ชั่วคราวของ Andrew McMahon (แอนดริว ร้องนำ เปียโน) นักร้องของSomething Corporate วงพังค์จากย่าน Orange County ซึ่งตัว Andrew ได้แต่งเพลงขึ้นมาในระหว่างที่พักทัวร์ แต่เขารู้สึกว่า มันไม่เหมาะที่จะเป็นเพลงของ Something Corporate และเมื่อแยกห่างจากเพื่อร่วมวงมากกว่าเดิมกว่าเดิม เขาก็เริ่มแต่งเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวมากขึ้น จนมันแยกห่างจากงานเพลงของวงหลัก เขาชอบมันมากถึงกับลงทุนจ่ายเงินค่าโปรดัคชั่นในการอัดเพลงเองเป็นเงินถึง 40,000 เหรียญ แต่ก็คุ้มค่าเพราะมันทำให้เขาได้สัญญากับค่ายเพลง Mavericks

เขาจึงตัดสินใจตั้งวงขึ้น โดยทีแรกจะตั้งชื่อว่า The Mannequins แต่เบิ่อเทรนด์วงที่ชื่อ The เลยเปลี่ยนเป็น Jack’s Mannequin ตามชื่อตัวละครในเพลงของเขาแทน และหลังจากเริ่มต้นเขียนเพลงได้ 2 ปี อัลบั้มแรกของ Jack’s Mannequin ก็ได้ออกวางขายในปี 2005 ในชื่อ Everything in Transit

Everything in Transit เป็นงานที่เปิดตัววงได้อย่างงดงาม แนวเพลงหลักของวงคือ ป๊อปร๊อคที่นำโดยเสียงเปียโนที่ไล่เรียงได้อย่างงดงามไปกับเพลงแต่ละเพลง บวกกับเสียงร้องที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Andrew ทำให้มันเป็นโดดเด่นกว่าเพลงตลาดๆโหลๆที่เราหาฟังได้ตามสถานบันเทิง ตัวอย่างที่ชัดคือ Dark Blue ซิงเกิ้ลที่สองที่เรียบเรียงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม นอกจากเสียงเปียโนแล้วยังได้เสียงเครื่องเป่ามาแซมเป็นลูกเล่นได้เต็มที่ ส่วนซิงเกิ้ลแรกอย่าง Mixed Tape ก็ออกจะเป็นร๊อคมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ลืมเซนส์ของเพลงป๊อปชั้นเยี่ยมครับ แต่ละเพลงในอัลบั้มได้ถูกเรียบเรียงออกมาอย่างดี และติดหูได้ง่ายๆ และนั่นก็เป็นกุญแจของความสำเร็จที่ส่งให้อัลบั้มนี้ขึ้นไปถึงอันดับ 37 บนชาร์ต น่าเสียดายที่เขาไม่มีโอกาสออกทัวร์สนับสนุนอัลบั้ม เพราะ Andrew เกิดป่วยเป็นลูคีเมีย และต้องรับการรักษาด่วน

การออกผลงานเดี่ยว และการรักษาตัว ทำให้ Something Corporate ต้องแยกวงไปโดยอัตโนมัติ และหลังจากนั้น เขาก็หันมาทุ่มเทให้กับงานเดี่ยวของเขาอย่างเต็มที่ และรวมไปถึงการทำงานการกุศลเพื่อมูลนิธลูคีเมียอีกด้วย ในที่สุด งานชุดที่สองของเขาในชื่อ The Glass Passenger ก็ได้ออกวางขายในปี 2008 และมันก็เป็นการกลับมาที่เต็มไปด้วยประสบการณ์มากกว่าเดิม

2763511634_1236654cd3_b

เมื่อเที่ยบกับ Everything in Transit แล้ว ตัวงานชุดที่สองจะมีกลิ่นของความเป็นร๊อคมากกว่าเดิม แม้ซิงเกิ้ลอย่าง Swim จะเป็นเพลงป๊อปที่เรียบเรียงอย่างบรรจง แต่กับอีกซิงเกิ้ลอย่าง The Resolution ก็เป็นเพลงที่เร็วขึ้นกว่าเดิม และติดหูชวนให้เราร้องตามไปโดยเร็วเลย Crashing ก็เป็นเพลงเร็วที่เรียบเรียงเสียงเปียโนได้อย่างโดยเด่นเสียจริงๆ อีกเพลงที่หนักแน่นกว่าเก่าคือ Suicide Blonde แต่สำหรับตัวผมแล้ว เพลงที่ผมคิดว่าเยี่ยมที่สุดในอัลบั้มนี้คือ American Love ที่เรียบเรียงออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบตั้งแต่ริฟฟ์ต้นเพลงที่เหมือนกับเพลงร๊อคจากยุค ’90 ก่อนที่จะเสริมด้วยเสียงเปียโนกับเสียงร้องแบบไร้เทียมทาน สำหรับเพลงนี้ พูดได้คำเดียวคือ ไร้ที่ติ

และหลังจากซุ่มไปเก็บตัวเขียนเพลง ในปีนี้ เขาก็กลับมากับอัลบั้มชุดที่ 3 ที่ใช้ชื่อ People & Things ซึ่งเปิดตัวมาด้วยเพลงที่แสดงฝีมือการเรียบเรียงของเขาที่พัฒนาขึ้นไปอย่างมากกับซิงเกิ้ลแรก My Racing Thoughts ที่เป็นเพลงเปียโนร๊อคที่จังหวะเร็ว แต่กลับประคองความงดงามของเพลงได้อย่างยอดเยี่ยม และเสียงร้องที่โดดเด่นของเขาก็มาช่วยเสริมให้มันโดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก จนกลายเป็นซิงเกิ้ลที่ยอดเยี่ยมไร้ที่ติดจริงๆ ตัวอัลบั้มก็เล่นกับความสัมพันธ์ของผู้คน แสดงให้เห็นถึงการเติบโตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งของเขา ไม่ว่าจะเป็นเพลง Release Me ที่เขาร้องเหมือนกลั่นออกมาจากหัวใจ ส่วน People, Running ก็พูดถึงควาสัมพันธ์ของผู้คนรอบตัวได้อย่างน่าสนเอามากๆครับ ส่วน Restless Dream เพลงบัลลาดช้าๆที่เนื้อเพลงแต่งให้กับผู้หญิงที่เขาเจอแต่ไม่รู้จักออกมาได้อย่างหวานซึ้งจริงๆ เมื่อฟังอัลบั้มนี้จบแล้ว ทำให้เราได้แต่คิดว่า เขาเติบโต สั่งสมประสบการณ์ และนำมาใส่ในผลงานเพลงของเขาได้อย่างยอดเยี่ยม

Jack’s Mannequin อาจจะไม่ถูกใจขาร๊อคแบบหนักๆ แต่ถ้าคุณชอบการเรียบเรียงเพลงที่แสนจะบรรจง และหลงไหลในเสียงเปียโน เขาคือคนที่คุณควรฟังเป็นอย่างยิ่ง

No comments: